บางแสนแพลงก์ตอนบลูมหน้าร้อน ดร.ธรณ์จับตาสัญญาณเตือนทะเลผิดปกติ เอลนีโญบวกโลกร้อน อาจเป็นตัวเร่งปัจจัยต่างๆ แพลงก์ตอนที่บลูม คือ Noctiluca เป็นแพลงก์ตอนกลุ่มหลักที่ทำให้เกิดน้ำเขียว ไม่มีพิษ ยังเล่นน้ำ-และกินอาหารทะเลได้
บางแสนน้ำทะเลเป็นสีเขียว วันนี้ (25 ก.พ.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ระบุถึงแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเขียวแถวบางแสน ปกติจะเกิดช่วงหน้าฝน แต่ในยุคโลกร้อนทะเลเดือด อะไรก็เกิดขึ้นได้ สัญญาณเตือนทะเลผิดปกติ สถานีโทรมาตรของ สสน. คณะประมงศรีราชา และสัญาณเตือนจากสถานีโทรมาตรของ ม.บูรพา ที่บางแสน จากนั้นน้ำบางแสนก็เริ่มเขียว อันเป็นปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม
ทั้งนี้ รายงานจากสถานีโทรมาตร ระบุว่า ตรวจพบความเข้มข้นคลอโรฟิลล์เอ เพิ่มขึ้น 3 เท่าของค่าปกติในช่วงคืนวันที่ 23 ก.พ.67 และเช้าวันที่ 24 ก.พ.67 พบน้ำทะเลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว บริเวณสะพานราชนาวี (ถนนคนเดินบางแสน) ตรวจสอบเบื้องต้นพบแพลงก์ตอนบลูมเป็นหย่อมๆ พบความหนาแน่นของเซลล์ Noctiluca scintilans เฉลี่ย 6,143 เซลล์ต่อลิตร ค่าความเค็มน้ำทะเล 32 ppt คุณภาพน้ำทะเลคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถลงเล่นน้ำและกินอาหารทะเลในบริเวณดังกล่าวได้ตามปกติ
ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า แพลงก์ตอนที่บลูม คือ Noctiluca อันเป็นแพลงก์ตอนกลุ่มหลักที่ทำให้เกิดน้ำเขียว ไม่มีพิษ เรายังกินสัตว์น้ำได้ ยังเล่นน้ำได้แต่น้ำคงขุ่นและมีกลิ่น ข้อมูลจากสถานีอัตโนมัติ 2 แห่งของไทย ช่วยคอมเฟิร์มว่าระบบนี้มีประโยชน์ แต่ถ้าถามว่าทำไมยังเตือนล่วงหน้าไม่ได้นาน คำตอบคือทั้งทะเลไทยมีอยู่ 2 สถานี นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า หากเรามีสถานีมากกว่านี้ เราจะแปรผลข้อมูลได้เร็ว และแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ซึ่งจำเป็นมากต่อการรับมือโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชน ไม่ใช่รอให้น้ำเขียวก่อนแล้วค่อยไปเก็บน้ำวัดคุณภาพ และอยากให้ภาคนโยบาย การให้งบประมาณของเราจริงจังในเรื่องนี้มากขึ้น
ดร.ธรณ์ ตอบคำถามว่า ทำไมน้ำเขียว คำตอบคือแดดแรง แม้ธาตุอาหารที่มาจากน้ำตามแม่น้ำลำคลองอาจมีน้อยเนื่องจากเป็นหน้าแล้ง แต่ปัจจุบันที่สะสมตามพื้นท้องทะเลก็มีเยอะแล้ว โดยเฉพาะในเขตน้ำตื้น ยังรวมถึงน้ำทิ้งจากกิจกรรมชายฝั่งนอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลยังสูงกว่าปกติ
“ผมลองเทียบน้ำทะเลแถวชลบุรีที่ความลึก 3-5 เมตร ปีที่แล้ว (2566) เฉลี่ยไม่เกิน 29 องศา แต่ปี 67 นี้ เพิ่งกดดูจากสถานีศรีราชา อยู่ที่ 30.1 องศา อุณหภูมิที่ต่างกัน 1 องศา เกิดจากเอลนีโญบวกโลกร้อน อาจเป็นตัวเร่งปัจจัยต่างๆ ของแพลงก์ตอนบลูม เรายังต้องทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์น้ำเขียวในหน้าแล้งอีกเยอะ เพราะอดีตแทบไม่เคยเกิด แต่เมื่อทะเลเริ่มเดือด อะไรก็เกิดได้ จึงเน้นย้ำความสำคัญของการหาข้อมูล งานวิจัย และการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ใหม่ อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยเพื่อสร้างสถานีโทรมาตรในการรับมือมิใช่เพียงเกิดแล้วเรียกประชุม ข้อมูลเท่าเดิม คนหน้าเดิมๆ ประชุมไปแค่ไหน ก็ไม่มีทางรู้อะไรใหม่ๆ หวังว่าเมืองไทยจะมีสถานีโทรมาตรไว้ตรวจวัด รับมือกับน้ำเขียวให้มากกว่าที่มีอยู่ 2 แห่งในปัจจุบัน ในระหว่างที่ทะเลและมหาสมุทรโลกกำลังร้อนจัดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน” ดร.ธรณ์ ระบุทิ้งท้าย