Site icon บางแสน

บางแสนน้ำทะเลเป็นสีเขียว เหตุจากแพลงก์ตอนเกิดผิดฤดู อ.ธรณ์ ชี้ โลกร้อนขึ้น

บางแสนน้ำทะเลเป็นสีเขียว เหตุจากแพลงก์ตอนเกิดผิดฤดู อ.ธรณ์ ชี้ โลกร้อนขึ้น

บางแสนน้ำทะเลเป็นสีเขียว เหตุจากแพลงก์ตอนเกิดผิดฤดู อ.ธรณ์ ชี้ โลกร้อนขึ้น

“บางแสนน้ำทะเลสีเขียว” อันตรายหรือไม่?

เล่นเอานักท่องเที่ยวไม่กล้าลงน้ำกันเลยทีเดียว เมื่อว่ายน้ำอยู่ดี ๆ ก็สังเกตว่า “ทะเลบางแสน” ทำไมเป็นสีเขียว

ก่อนอื่นเลยต้องบอกว่ายังสามารถลงเล่นน้ำได้เหมือนเดิม อาหารทะเลเลิศรสยังรับประทานได้ปกติ เพราะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้ว พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของคุณภาพน้ำทะเล

แพลงก์ตอนบลูม บางแสนน้ำทะเลเป็นสีเขียว Credit ภาพ ชอบจังบางแสน

“น้ำทะเลสีเขียว” เกิดจากอะไร?

สำหรับต้นตอ “น้ำทะเลสีชาเขียว” นั้น สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ระบุว่า สถานีโทรมาตรบางแสน ตรวจพบความเข้มขนคลอโรฟิลล์เอเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากค่าปกติ ในช่วงกลางดึกของวันที่ 23 ถึงช่วงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเริ่มมีคนสังเกตเห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณสะพานราชนาวี (ถนนคนเดินบางแสน)

ซึ่งเมื่อมีการลงไปตรวจสอบพบว่า มีแพลงก์ตอนพืชลอยบริเวณผิวน้ำเป็นหย่อม ๆ อีกทั้งยังพบความหนาแน่นเซลล์ Noctiluca scintillans เฉลี่ย 6,143 เซลล์ต่อลิตร ค่าความเค็มน้ำทะเล 32 ppt

ผู้เชี่ยวชาญชี้ แพลงก์ตอนบลูมผิดฤดู มีอะไรบ้างน่ากังวล?

หลังจากที่ภาพ “น้ำทะเลสีเขียว” แพร่สะพัดออกไปในโลกออนไลน์ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ อ.ธรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า

“ปรกติแพลงก์ตอนบลูมหรือ ‘น้ำเขียวแถวบางแสนจะเกิดช่วงหน้าฝน’ แต่ในยุคโลกร้อน ทะเลเดือด อะไรก็เกิดขึ้นได้”

“แพลงก์ตอนที่บลูมคือ Noctiluca อันเป็นแพลงก์ตอนกลุ่มหลักที่ทำให้เกิดน้ำเขียว ไม่มีพิษ เรายังกินสัตว์น้ำได้ ยังเล่นน้ำได้แต่น้ำคงขุ่นและมีกลิ่น”

สำหรับต้นตอสาเหตุน้ำทะเลสีเขียวนั้น อ.ธรณ์ ให้เหตุผลไว้ว่า

“แดดแรง แม้ธาตุอาหารที่มาจากน้ำตามแม่น้ำลำคลองอาจมีน้อยเนื่องจากเป็นหน้าแล้ง แต่ปัจจุบันที่สะสมตามพื้นท้องทะเลก็มีเยอะแล้ว โดยเฉพาะในเขตน้ำตื้น ยังรวมถึงน้ำทิ้งจากกิจกรรมชายฝั่ง”

“นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลยังสูงกว่าปรกติ ผมลองเทียบน้ำทะเลแถวชลบุรีที่ความลึก 3-5 เมตร ปีที่แล้ว (2566) เฉลี่ยไม่เกิน 29 องศา แต่ปีนี้เพิ่งกดดูจากสถานีศรีราชา อยู่ที่ 30.1องศา”

“อุณหภูมิที่ต่างกัน 1 องศา เกิดจากเอลนีโญบวกโลกร้อน อาจเป็นตัวเร่งปัจจัยต่างๆ ของแพลงก์ตอนบลูม

“เรายังต้องทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์น้ำเขียวในหน้าแล้งอีกเยอะ เพราะอดีตแทบไม่เคยเกิด แต่เมื่อทะเลเริ่มเดือด อะไรก็เกิดได้”

“จึงเน้นย้ำความสำคัญของการหาข้อมูล งานวิจัย และการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ใหม่ อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยเพื่อสร้างสถานีโทรมาตรในการรับมือ”

“แพลงก์ตอนบลูม” ชาเขียวพิฆาตชีวิต

ปกติแล้วแพลงก์ตอนบลูมจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งปกติมันจะหายไปเองในช่วง 2-3 วัน ในช่วงที่พวกมันพองตัวกระจายทั่วน้ำ มีหน้าที่ผลิตสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลด้วยการบดบังแสงอาทิตย์และลดปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำ

เท่านั้นไม่พอ แพลงก์ตอนบลูมยังกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทรายและสัตว์น้ำบริเวณนั้นเกือบทั้งสิ้น เนื่องจากกลายเป็นแหล่งน้ำไร้ออกซิเจน (Dead Zone)

ที่มา: Thon Thamrongnawasawat

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เอาอีกแล้ว! แพลงก์ตอนบลูม ทะเลชาเขียว คราวนี้โผล่ที่เกาะเสม็ด
  • วิกฤตแพลงก์ตอนบลูมไทย ไปไกลถึงสื่อต่างประเทศ ทำทะเลไทยตายต่อเนื่อง
  • โลกร้อน-มลพิษทะเล ทำแพลงก์ตอนบลูมบ่อยขึ้น อ.ธรณ์ห่วงทะเลไทยใกล้ไร้ชีวิต
Exit mobile version