น่าเป็นห่วงสุดขีด ทะเลศรีราชา/บางแสน ค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำตายเกลื่อน พร้อมเผยกำลังเจอปัญหาหนักแม้จะเป็นชั่วคราว
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า “ผมอ่านข้อมูลของทีมสำรวจคณะประมงโดย ดร.ธนัสพงษ์ Tanuspong Pokavanich ด้วยความตกใจ ทีมเพิ่งสำรวจทะเลแถวศรีราชา/บางแสนเมื่อวาน ค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำจนแทบไม่น่าเชื่อ
ปรกติค่าน่าจะอยู่ที่ 5-7 mg/L แต่ทุกสถานีที่เก็บมา (ดูตำแหน่งในแผนที่) ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 1 หมดเลย อีกทั้งยังเป็นค่าที่ต่ำตลอดทั้งมวลน้ำ ไม่ว่าจะใกล้ผิวน้ำจนถึงพื้น ออกซิเจนต่ำเตี้ยทั้งนั้น ตามเกณฑ์มาตรฐาน หากค่าออกซิเจน 0-2 mg/L จะไม่พอเพียงสำหรับสัตว์น้ำ ถ้าต่ำกว่า 0.5 mg/L จะเกิดการตายครั้งใหญ่
ค่าออกซิเจนที่คณะประมงสำรวจ หลายจุดต่ำกว่า 0.5 โดยเฉพาะสถานีใกล้ชายฝั่ง นั่นอาจเป็นคำตอบของปลา/สัตว์น้ำพื้นทะเลตายเป็นจำนวนมาก พบกุ้ง ปู และกั้งชนิดต่างๆ รวมถึงไส้เดือนทะเลที่ฝังตัวในพื้นก็ยังตาย หากเป็นไปตามข้อมูลนี้ หมายถึงสถานการณ์แถวนั้นน่าเป็นห่วงสุดขีด
เมื่อดูค่าคลอโรฟิลล์ จะเห็นว่าไม่สูงมาก อย่าเพิ่งดีใจ เพราะอาจหมายถึงแพลงก์ตอนบลูมถึงเฟซสุดท้าย แพลงก์ตอนพืชตายเกือบหมด ทำให้เกิดการย่อยสลาย ออกซิเจนจึงหมดไปอย่างรวดเร็ว ลองเช็กหอยในพื้นที่พบว่ามีบางส่วนตายแล้ว ผมขอให้ ดร.เม่น เช็กเครื่องวัดซ้ำ พบว่าไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ค่า DO ต่ำมากในพื้นที่กว้างจนน่าตกใจ จึงอยากเสนอว่า หน่วยงานวิจัยที่อยู่แถวนั้นลองตรวจสอบเผื่อจะได้คอมเฟิร์มอีกทาง นอกจากนี้ พี่น้องผู้เพาะเลี้ยงหอยชายฝั่ง ตลอดจนพี่ๆ ชาวประมงพื้นบ้าน ลองดูสัตว์น้ำในช่วงนี้ว่าเป็นอย่างไร ยังรวมถึงเพื่อนธรณ์ไปแถวหาดบางแสน/บางพระ/ศรีราชา ลองดูว่ายังมีสัตว์น้ำตายอยู่แถวนั้นบ้างไหม ผมยังประสานไปทางกรมควบคุมมลพิษ ขอให้ช่วยติดตาม
หากข้อมูลเหล่านี้มีการคอนเฟิร์มยืนยัน ผมคิดว่าเรากำลังเจอปัญหาหนักมาก แม้จะเป็นชั่วคราว แต่แบบนี้เรียกได้ว่า Dead Zone เพราะมันไม่ใช่แค่บางจุดบางความลึก แต่เป็นทั้งหมดผลกระทบคงมหาศาล”.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat