นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบ “เปราะสกล” “สาวน้อยเมืองสกล” หรือชื่อพื้นเมืองว่า “ว่านไก่กุ๊ก” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่ของโลก และเป็นพืชที่หายากมากที่สุดของประเทศไทย
การค้นพบ “พืชวงศ์ขิง” ชนิดใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่องของนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับทีมสำหรับการค้นพบ”เปราะสกล” หรือเรียกอีกอย่างว่า “สาวน้อยเมืองสกล” การค้นพบในครั้งนี้ ภายใต้การนำของรองศาตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และ นายธวัชพงศ์ บุญมา จากหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช นักวิจัยทั้ง 3 คนเป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิง และพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications)
“เปราะสกล” สาวน้อยเมืองสกล หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia sakonensis Saensouk, sp. Nov. ชื่อพื้นเมือง “เปราะสกล หรือ ว่านไก่กุ๊ก” ซึ่งการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์นั้น จะตั้งตามชื่อจังหวัดของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติในอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สำหรับลักษณะพิเศษของเปราะสกล Kaempferia sakonensis Saensouk, P. Saensouk & Boonma ยังเป็นสกุลย่อย Kaempferia เนื่องจากมีการผลิตช่อดอกที่ปลายกิ่ง ในการผลิตก้านปลอมตั้งตรง และดอกสีม่วง ทำให้มีลักษณะคล้ายกับเปราะราศี (Kaempferia larsenii Sirirugsa) แต่แตกต่างจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของต้น และใบ
อย่างไรก็ตาม ดอกของสายพันธุ์ใหม่นี้ก็คล้ายคลึงกับ Kaempferia albomaculata Jenjitt. & K.Larsen (nom. nud.) แต่แตกต่างกัน และแยกออกจากกันได้ง่ายเนื่องจาก K. albomaculata มีใบแบนราบกับพื้น ในขณะที่ K. sakonensis มีใบ และลำต้นเทียมตั้งตรง
“เปราะสกล” หรือ สาวน้อยเมืองสกล จะชอบขึ้นในพื้นที่เปิด ที่มีลักษณะดินเป็นดินทราย อากาศร้อนชื้น ฝนตกปานกลาง ช่วงเวลาออกดอกติดผลนั้น เปราะสกลจะมีการออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ดอกบานเต็มที่ในตอนเช้าตรู่ และอยู่ได้เพียงวันเดียว โดยการแทงหน่อจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน และการพักตัวจะเริ่มขึ้นในเดือนต้นพฤศจิกายน
ปัจจุบันพืชชนิดนี้พบเฉพาะในอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอนาคตอาจพบการกระจายในพื้นที่อื่นใกล้เคียงได้ แต่การสำรวจครั้งนี้ ยังไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นผู้วิจัยจึงเสนอให้จัดอันดับพืชชนิดนี้ตามเกณฑ์ของ IUCN (IUCN, 2022) ว่าเป็น Data Deficient (DD) และคาดว่าจะพบการกระจายพันธุ์ของพืชชนิดนี้ มากขึ้นในพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเปลี่ยนสถานะการอนุรักษ์ใหม่ให้เหมาะสมต่อไป การอนุรักษ์พืชชนิดนี้ต่อไป
ด้านประโยชน์ของเปราะสกล เป็นไม้ประดับมงคล ใบอ่อนสามารถใช้เป็นอาหาร เป็นผักสดรับประทานกับน้ำพริก นอกจากนี้ใบอ่อนยังนำมาเป็นส่วนผสมลงไปในแกงอ่อมต่าง ๆ เช่น อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมปลา อ่อมไก่ เพื่อดับกลิ่นคาว และเพิ่มความหอมการพัฒนาต่อยอดเปราะสกล หรือสาวน้อยแห่งเมืองสกล เนื่องจากเป็นพืชชนิดนี้เป็นพืชที่มีต้นขนาดเล็กใกล้ผิวดิน ใบแดงเขียว ดอกม่วง สวยงามมากและมีความโดดเด่นมาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ รักษา สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคทางด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การศึกษาหาปริมาณสารสำคัญทางธรรมชาติ ด้านเคมีเภสัชในการผลิตพืชสมุนไพร การปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้า รวมทั้งด้านอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยกำลังดำเนินการขยายพันธุ์จากเหง้า และขยายพันธุ์โดยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพืชหายากชนิดนี้จะไม่สูญพันธุ์และได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครอง อย่างยั่งยืน รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ถ่ายทอดลงสู่ชุมชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป เพื่อทำการอนุรักษ์สายพันธุ์ต่างๆ ในระยะยาวต่อไป
ที่มาข้อมูลและภาพ : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech
🌎 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends