Site icon บางแสน

“ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” พุ่งแสนล้าน เทรนด์ป้องสุขภาพปลุก Wellness โตทั่วโลก

163047073943

สาธารณสุข

14 เม.ย. 2565 เวลา 6:45 น.1.1k

ไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) คาดปี 76 สัดส่วนประชากรสูงวัย 28% ของประชากรทั้งหมด ดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง “ผู้สูงวัย” คึกคัก โตระดับ “แสนล้านบาท” เฉพาะ “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 1.5 เท่าทุกปี ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19

ปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28% ของประชากรทั้งหมด หรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ระดับสุดยอด ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนคนเท่านั้นในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือ 1.5 จากเดิมที่อยู่ที่ 2.0 ทำให้ที่ผ่านมาพบว่า ตลาดรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทย มีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่เฉพาะ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ มีมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 1.5 เท่าในทุกปี ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19

แม้ปี 2564 ที่มี วิกฤติโควิด และทำให้ตลาดชะลอลงไปบ้าง แต่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังพบว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ การเพิ่มทุนยังคงเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ขณะเดียวกัน ยังพบว่าเทรนด์การป้องกันสุขภาพก่อนป่วย ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรม Wellness มีการเติบโตทั่วโลก ในปี 2568 Global Wellness Institute (GWI) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 230 ล้านล้านบาท

นพ.ฆนัท ครุฑกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุและกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มของ ผู้สูงอายุ มากขึ้น การดูแลผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่คนทั่วไปในระดับชนชั้นกลางขึ้นไปจำเป็นต้องหาคนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้น สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งรูปแบบการดำเนินการปัจจุบันดีกว่าในสมัยก่อนอย่างชัดเจน

“เมื่อก่อน จะเห็นภาพสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุมีเรื่องของการทำร้ายผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน มีหน่วยงานของรัฐอย่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้น สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้ แต่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จำเป็นต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด”

ภาพรวมธุรกิจสูงอายุทะลุแสนล้าน

ทั้งนี้ ก่อนโควิด-19 ธุรกิจดังกล่าว มีแนวโน้มโตขึ้นอย่างชัดเจน และหลังโควิด ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเช่นกัน แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป เพราะผู้สูงอายุ จะกังวลในกรณีที่ต้องอยู่รวมกัน อาจมีติดโควิด-19 และกระจายไป ดังนั้นทางศูนย์ฯจึงได้มีการปรับตัว อาจมีห้องแยก ห้องเดี่ยว หรือการดูแลเฉพาะมากขึ้น ปัจจุบัน พบว่า บางบ้านที่มีลูกหลานติดโควิด-19 อาจย้ายผู้สูงอายุมาอยู่ที่ศูนย์ชั่วคราว ในการป้องกัน ดังนั้น แนวโน้มธุรกิจจะเติบโต โดยค่าใช้จ่ายแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปอยู่ที่ประมาณ 15,000 ไปจนถึงราว 50,000 บาท

ขณะที่ ภาพรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหมด มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณการณ์ว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะ “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 1.5 เท่าทุกปี คาดว่ามีมูลค่าตลาดราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งรับดูแลนอกสถานที่ ภาคเอกชน ธุรกิจจัดส่งดูแลตามบ้าน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ ผู้ลงทะเบียนสมาชิกของสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ มีอยู่ที่ราว 150- 200 แห่ง

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมจะมีผู้ประกอบการอยู่ที่ราว 2,000-3,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งที่จดทะเบียนและอาจจะอยู่ระหว่างการจดทะเบียน ยังไม่รวมที่ไม่ได้เปิดเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเปิดเพื่อดูแลญาติของตัวเอง

ยกระดับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 3 (3) ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกราย ต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ ส่วนผู้ดำเนินการต้องผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และมีใบอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ผู้ให้บริการ หรือพนักงานทุกรายที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรม จบจากหลักสูตรที่กรม สบส. รับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการก่อนปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคม 2564

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การกำหนดให้กิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิง เป็นกิจการที่ต้องได้รับการดูแลมาตรฐานภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพฯ จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการมีคุณภาพมาตรฐาน และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง และมีศักดิ์ศรี เป็นการขับเคลื่อนระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้เป็นที่ยอมรับ และมีศักยภาพ สามารถแข่งขันในระดับอาเซียนและระดับโลกได้

ด้าน นพ.ฆนัท มองว่า การออกกฎกระทรวงดังกล่าว ทำให้มีการควบคุมมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า ยกระดับส่วนหนึ่งเพราะต้องมีการตรวจสอบ ติดตาม รวมถึงสถานประกอบการที่เปิดมานานแล้ว ต้องปรับตัวเช่นกัน ทั้งนี้ ช่วงโควิด-19 ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้งมาตรการควบคุม การงดเยี่ยม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่าย ทั้งน้ำยาฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม ที่สำคัญ คือ ตรวจหาเชื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งพนักงานและผู้สูงอายุ

ขณะที่บางแห่งไม่รับเคสใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่ปลอดภัย เรียกว่า เป็นบับเบิลแอนด์ซีล การไปพบแพทย์ต้องเป็นเคสที่จำเป็นจริงๆ และหากเป็นเคสที่นัดติดตามอาการ ต้องเปลี่ยนรูปแบบให้ทางญาติรับข้อมูลส่งให้แพทย์เพราะแต่ละศูนย์ จะบันทึกการติดตามอาการของแต่ละเคสอยู่แล้ว แม้จะชะลอตัวไปบ้างในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แต่ความต้องการยังคงมีอยู่ ปัจจัยหลัก คือ คนในครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ จากความเชี่ยวชาญการดูแลไม่เท่ากับบุคลากรในศูนย์ จึงจำเป็นต้องมาฝากให้ศูนย์ดูแล

“อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 มองว่า ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เพียงแต่ว่ารูปแบบคงต้องปรับเปลี่ยน เช่น มาตรการต่างๆ การรับเคส ดูแลเคส ต้องพิถีถิถันเพิ่ม และหากนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ได้ ในการดูแลในอนาคตจะช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพบแพทย์ รักษาทางไกลเทเลเมดิซีน จะช่วยให้ New Normal ทำได้เป็นอย่างดี” นพ.ฆนัท กล่าว

อุตสาหกรรม Wellness เติบโต

ขณะเดียวกัน เมื่อประเทศไทยมีผู้สูงอายุมีมากขึ้น วัยเปลี่ยน อายุเพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่างกายย่อมต้องเกิดขึ้น การดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนทุกประเทศทั่วโลกต่างค้นหาวิธีการดูแล ป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรค

“Wellness Industry” หรือ อุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการให้บริการ คือบริการที่ดูแลสุขภาพจากภายในและภายนอก Global Wellness Institute (GWI) รายงานว่าปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 230 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ปี 2563 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก (global wellness economy) ยังมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 145 ล้านล้านบาท (ปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์) แบ่งเป็นมูลค่าจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14 ล้านล้านบาท ธุรกิจสปา 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้น GWI ยังคาดการณ์ด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2563-2568 ธุรกิจสปาจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่อัตรา 17.2% ส่วนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเติบโตเฉลี่ยที่อัตรา 20.9%

Wellness ดันธุรกิจเกี่ยวเนื่องโต 

นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม W9 Wellness Center เผยว่า อุตสาหกรรม Wellness มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น เพราะ Wellness เป็นการดูแลสุขภาพของคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันสำหรับผู้ที่ไม่ป่วย หรือมีความผิดปกติเล็กน้อย

โดย Wellness ครอบคลุมเศรษฐกิจต่างๆ อีกหลายภาคส่วน เช่น การท่องเที่ยวสุขภาพ เวชศาสตร์ป้องกัน โภชนาการเพื่อสุขภาพ สปา การชะลอวัย การออกกำลังกายและจิตใจ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการ และการลดน้ำหนัก การดูแลส่วนบุคคล ความงาม การชะลอวัย รวมทั้งการแพทย์แผนดั้งเดิมและการแพทย์ทางเลือก และอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

จุดอ่อนในการดูแลสุขภาพของคนไทย คือ การตรวจสุขภาพ คนไทยตรวจสุขภาพประจำปีกันน้อยมาก ถ้าไม่มีโรค หรือสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หลายคนไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี ดังนั้น หากจะให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นควรจะมีการส่งเสริมให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และควรจะผลักดันให้ดูแลสุขภาพ wellness ซึ่งมีหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเริ่มได้ด้วยตนเอง

“ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจสุขภาพ เพราะจะเป็นข้อมูลเชิงลึกของแต่ละบุคคล ที่นำมาใช้ในการดูแล ป้องกันโรคต่างๆ ได้ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือนให้แก่ทุกคนว่าต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตนเอง ทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และลดใช้เทคโนโลยีที่อาจสะดวกสบาย แต่เสียสุขภาพ และต้องดูที่สมดุลของร่างกายของตนเอง”

“โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อจะได้รู้ว่าร่างกายมีความเสื่อมมากน้อยขนาดไหน มีโรคอะไรบ้างที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือรักษาหาย เพราะการรักษาโรคที่ดีไม่ใช่เพียงกินยาแต่ต้องปรับวิถีชีวิต เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นพ.พิจักษณ์ กล่าว

Exit mobile version