สมรสเท่าเทียม ถูกกล่าวถึงบ่อยและถี่ในช่วงนี้…เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่กลุ่ม LGBTQ ต่อสู้มานาน เพื่อขอสิทธิ สวัสดิการ ความเท่าเทียมทางกฎหมายในการสมรสของคนหลากหลายทางเพศ เฉกเช่นผู้หญิงและผู้ชาย โดยให้ถือซะว่า ต่างเป็นบุคคลเหมือนกัน
ครูธัญ -ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และผลักดันเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุดผ่านวาระหนึ่งไปแล้ว
และนี่คือเรื่องราวชีวิตและมุมคิดของธัญ ครูออกแบบท่าเต้น ที่หันมาทำงานการเมือง นอกจากผลักดันเรื่อง สมรสเท่าเทียม เขายังผลักดันประเด็นอื่นๆ ให้กลุ่ม LGBTQ
- ถ้าตอนนี้ไม่ได้เป็นส.ส.ในสภาฯ ครูธัญจะทำอะไรอยู่
ทำเรื่องออกแบบท่าเต้นให้ศิลปิน เมื่อก่อนก็มีบริษัทของตัวเอง ตอนนี้ไม่มี ทำแต่งานการเมือง เป็นวิทยากรบรรยาย และการเสวนาต่างๆ ประเด็นเกี่ยวกับเพศ
- เริ่มสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ตอนเป็นนักเต้นรุ่นๆ สงสัยว่า สิ่งที่พี่สาวเห็นในช่วงพฤษภาทมิฬ กับสิ่งที่ออกข่าว ทำไมไม่ตรงกัน มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการยิงกัน และมีวิดีโอขายที่คลองถม เราก็เกิดคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้เห็นอะไรชัดเจนขึ้นว่า ประเทศเรามีปัญหา
แล้วเราอยู่ในวงการออกแบบท่าเต้น ทำงานบริษัท ก็เห็นโครงสร้างบางอย่างที่ทำให้คนตัวเล็กๆ ไม่สามารถเติบโต เห็นหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรม ปี 2557 เราก็เปิดตัวเลยว่า ฉันคือประชาธิปไตย ทำรายการเล็กๆ ในเพจ ขับเคลื่อนเชิงความคิด อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราถนัด
- พอมาทำงานการเมือง ต้องหาความรู้เรื่องใดมากขึ้น
แนวคิดสตรีนิยม แฟมินิสต์ การวิพากษ์โครงสร้างสังคมที่มันกดทับประเด็นเพศต่างๆ เราไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะ แต่ก็อ่านบ้าง และได้ไปเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล และมีโอกาสเรียนด้านสตรีศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ พวกเขามองเรื่องความมั่นคง การสะสมอาวุธ มองว่าใครมีสายสัมพันธ์กับใคร ยานอวกาศ มองตึกที่สร้างสูงที่สุด มองเทคโนโลยีทุกอย่างที่อลังการ แต่ไม่ได้มองเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ความเป็นธรรมที่มนุษย์ด้วยกันควรได้รับ
เราก็ตั้งคำถามว่า จะหาอาวุธไปแค่ไหน แล้วเรื่องค่านมเด็ก ค่าสนับสนุนเด็กน้อย เป็นเรื่องที่ธัญพยายามทำโดยใช้พื้นที่ในสภา และพยายามเรียกร้องเรื่องสิทธิ สวัสดิการเรื่องเพศและความมั่นคงของมนุษย์
- ตอนเป็นเด็ก คุณเคยสงสัยว่าทำไมไปเล่นบ้านเพื่อนที่เหมือนตัวเราไม่ได้
เราเป็นกะเทย กรี๊ดกร๊าดสนุกสนานในโรงเรียนได้ แต่เวลาจะไปเล่นบ้านเพื่อน ก็จะถูกเพื่อนปฎิเสธ เพราะเขากลัวพ่อแม่รู้ว่าเขาเป็นตุ๊ด เพราะเราออกสาว ตอนเด็กก็เป็นเรื่องขำๆ แต่พอโตรู้สึกเศร้าที่เด็กคนหนึ่งต้องปฎิเสธความเป็นตัวตนในสถานที่หนึ่ง และเป็นตัวตนอีกแบบในอีกสถานที่
ถ้าพวกเขาจะชวนเพื่อนผู้ชายไปเที่ยวบ้าน ก็ต้องทำตัวแมนๆ หลายคนคุ้นชินกับปัญหาแบบนี้ เรื่องแบบนี้ขยายไปสู่บริษัทหรือองค์กร คนส่วนใหญ่ปิดกั้นเรื่องเพศ มองว่า LGBTQ เป็นคนที่ผิดธรรมชาติ
- ครอบครัวยอมรับครูธัญที่เป็นแบบนี้ไหม
แม่ไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย แต่เชื่อว่าแม่รู้ว่า ธัญเป็นอะไร จำได้ว่าไปเรียนเต้นตั้งแต่อายุ 13 และแอบไปเรียนบัลเลต์ แม่มารู้ตอนที่เราเต้นบนเวที และเวลาอยู่บ้านก็จะชอบเล่นเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ แม่ไม่ได้พูดหรือบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ธัญรู้สึกว่าที่บ้านเราให้การยอมรับ แต่เวลาอยู่ข้างนอกเป็นอะไรที่คนไม่ยอมรับ
(ภาพจากเฟซบุ๊ค Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์)
- พอเริ่มทำงานสร้างสรรค์ในแวดวงบันเทิง ก็ใช้ชีวิตได้กลมกลืนกว่าสายงานอื่น?
ใช่คะ เพราะมี LGBTQ เยอะ ตอนที่เป็นนักออกแบบท่าเต้น กลุ่มงานหลากหลายทางเพศ ไม่อาจมีตัวตนที่บ้านได้ เราก็จัดงานแฟนซี เพื่อให้ทุกคนได้มีตัวตน เป็นทั้ง Pride แฟนซี บันเทิง งานเสร็จเราก็บริจาคเงินเพื่อเด็ก เวลารวมตัวกันจะมีพลัง เพราะเราต่างรู้ดีว่า เราไม่ได้มีตัวตนในสังคมมากนัก
- เคยถูกเลือกปฎิบัติบ่อยไหม
ถามว่า เราถูกเลือกปฎิบัติไหม ก็แน่นอน ธัญเองก็ไม่ใช่คนหน้าตาน่ารักเหมือนตุ๊กตา ก็ต้องยอมรับว่า ตอนที่เราเข้าสังคม เขาอาจไม่ยอมรับเรา ดูเราแปลกๆ ดูเราแล้วไม่ต้องตาต้องใจ และงานที่เราทำก็ถูกจัดระดับความสัมพันธ์ไว้หลังๆ อย่างลูกค้าจะซื้องาน ส่วนใหญ่จะดูว่าครูคนนี้หน้าตาเป็นยังไง ก็มีผลต่อการใช้ชีวิตเรื่อยมาก
อย่างการสอบบัลเล่ต์ รูปร่างหน้าตาเราไม่ใช่ผู้ชายที่ดูแข็งแรง ไม่ว่าจะกระโดดได้ดีแค่ไหน ก็สู้ผู้ชายรูปร่างดีๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะยกขาได้สูงขนาดไหน ก็ไม่อาจเทียบเท่าผู้ชายที่ยกขาได้ประมาณหนึ่งแต่รูปร่างดี ก็จะมีมาตรฐานอย่างหนึ่งที่สังคมไม่ยอมรับตัวตนแบบเรา เราต้องทำมากขึ้น เพื่อไปถึงตรงนั้น
มีทุกมิติที่ไม่เคยได้รับการยอมรับ ในวันนี้เป็นนักการเมือง ช่วงแรกๆ ที่เป็นตัวเองมากไป ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เราจำเป็นต้องแลกอะไรบางอย่าง เพื่อทำให้คนเห็นว่า เราไม่ใช่กะเทยที่มาเดินหมุนตัว แต่เรามีสาระสำคัญที่กะเทยคนหนึ่งอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ
- การใช้ชีวิตในปัจจุบันดีขึ้นกว่าเดิมไหม?
ธัญไม่รู้ว่าดีกว่าเดิมหรือเปล่า แต่ธัญใช้ทุกวันอย่างมีค่า เพราะเรารู้ว่า เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ ในฐานะที่เรามาจากประชาชน ยกตัวอย่างเรื่องการโหวตร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นเรื่องที่คนทำงานเป็นส.ส.จะทำให้ประชาชนได้
- พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการ ที่คนใช้ชีวิตคู่ควรได้รับเหมือนกัน ?
การแก้กฎหมายเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ สวัสดิภาพและศักดิ์ศรี การสร้างครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย รัฐต้องให้ประชาชนทุกเพศวิถี ทุกเพศสภาพ
- นอกจากการผลักดันสมรสเท่าเทียม อยากผลักดันเรื่องอื่นๆ อีกไหม
ในเรื่องSex worker(พนักงานบริการทางเพศ) เรื่องนี้ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว และต้องผลักดันสู่สภาฯ เป็นเรื่องใหม่ของประชาชน รู้ว่าจะมีแรงต้าน และกฎหมายรับรองเพศของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้รัฐเก็บข้อมูลทางประชากรศาสตร์ นำมาพัฒนานโยบาย รู้จำนวนคนจะได้ออกแบบ ลดความเหลื่อมล้ำ
ตอนนี้ Sex worker เรื่องการค้าประเวณี ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย คนเหล่านั้นยังถูกขูดรีดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกเอาเปรียบจากสถานประกอบการ
Sex worker ในวันนี้ ธัญได้ยินเรื่องเลวร้ายมากมาย ยกตัวอย่างกรณีถูกให้ขึ้นรถบรรทุกไป แล้วให้ใช้ปากกับทุกคน (ขอโทษที่พูดคำนี้) จากนั้นทิ้งเขาไว้กลางทาง แม้จะโดนทำร้ายร่างกาย กระทำรุนแรง เขาก็ไม่กล้าแจ้งความ
เรื่องนี้เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยไม่แก้ปัญหาซะที เป็นอีกประเด็นที่เราต้องเปิดใจรับฟัง ทุกประเทศที่มีเรื่องการค้าประเวณี ควรทำให้ถูกกฎหมายและควบคุมได้ แต่ก็ต้องป้องกันไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าสู่อาชีพนี้
- การขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย ?
ถ้าเรื่องนี้ทำให้ถูกกฎหมาย พวกเขาก็จะได้สิทธิประกันสังคมเหมือนแรงงานทั่วไป มีสิทธิใช้อำนาจศาลในการเรียกร้องค่าเสียหายหากลูกค้าไม่จ่ายเงิน เพราะตอนนี้ถ้าจะให้ไปฟ้องศาลแพ่ง ใช้เงินค่าจ้างทนายสามหมื่น เพื่อทวงเงินสามพัน มันไม่ได้
- กฎหมายรับรองเพศก็เป็นอีกเรื่องที่พยายามผลักดัน ?
เวลาคนข้ามเพศไปต่างประเทศจะถูกค้นตัว เป็นไปอย่างไม่สุภาพ ถ้าใช้คำนำหน้านามว่า มิสเตอร์ แต่เพศสภาพเป็นหญิง ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็ค้นตัวจนแทบจะแก้ผ้าว่า เธอมีอวัยวะเพศหญิงจริงๆ ไหม ถ้ารัฐยอมให้มีกฎหมายรับรองเพศ ทุกอย่างก็จะโอเค แต่รัฐก็จะมีข้ออ้างเรื่องความมั่นคง เป็นผู้ก่อการร้ายที่ปลอมตัวมาหรือเปล่า
- ทุกวันนี้ครูธัญมีความสุขกับเรื่องอะไร
สุขเล็กๆ ในชีวิตก็คือ การได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ตามใจตัวเองบ้าง แค่ขับรถไปกินส้มตำปลาร้าบางแสน ชลบุรี หรือออกไปกินก๋วยเตี๋ยวเรืออนุสาวรีย์ เป็นความสุขที่หาได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปต่างประเทศ
เราเป็นคนอินโทรเวิร์ต (Introvert) เวลาเจอคนเราจะใช้พลังเต็มที่ แต่เวลาอยู่กับตัวเองก็เหมือนชาร์ตพลัง
- ใครเป็นแบบอย่างที่ทำให้ครูธัญอยากมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมบ้าง
หลายๆ ประสบการณ์ แต่ถามว่าเรามีต้นแบบไหม เชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเราสามารถที่จะออกแบบเส้นทางเดินในชีวิตของตัวเองได้
- ปัจจุบันในสังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นไหม
ก่อนหน้านี้ในสภาฯก็ไม่เคยมีส.ส.หลากหลายทางเพศแบบนี้ อาจมี แต่ไม่เปิดเผย ถ้าจะบอกว่า คนยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ก็เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข คงเคยได้ยินคำว่า เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี คนก็เลยตัดสินกันที่ความดี
จริงๆ เราทุกคนเป็นคนดี ไม่มีใครรุกขึ้นมาฆ่าใคร แต่เขาไม่รู้ว่า ความหลากหลายแตกต่างจากคนอื่นเป็นยังไง เราทุกคนมีเห็นอกเห็นใจ แต่บางครั้งสังคมทำให้เราลืมธรรมชาติที่เรามีให้กัน ธัญอยากเน้นเรื่องมนุษยธรรม
…………..
ภาพจากเฟซบุ๊ค : ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์