ธัญปวีณ์ อัศฎางค์วีรกุล
ลุยธุรกิจบาลานซ์ไบค์ ด้วยใจ
เป็นมากกว่าสินค้า..ช่วยบาลานซ์ชีวิต
เป็นเรื่องที่สังคมไทยกำลังสังเคราะห์ ถอดบทเรียนถึงรากของปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศสยามเมืองพุทธ! รวมถึงพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือเร่งปราบปรามอาวุธปืนและยาเสพติด
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง และน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ “ครอบครัว”
“เฉลียงไอเดีย” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณนั้ม-ธัญปวีณ์ อัศฎางค์วีรกุล ซีอีโอ ครูซี่ ไทยแลนด์ ผู้นำเข้าและทำตลาดแบรนด์ Cruzee จักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็กในประเทศไทย ทำให้ได้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับคำว่า “ครอบครัว”
คุณนั้มเล่าที่มาของการทำธุรกิจจักรยานขาไถ หรือ Balance Bike (บาลานซ์ ไบค์) ว่ามาจากสัญชาตญาณแม่ พอรู้ตัวว่าท้อง ก็ลาออกจากงาน มาโฟกัสการเลี้ยงลูก ในช่วงนั้นโซเชียลยังไม่ได้กลายเป็นวิถีปกติเหมือนปัจจุบัน เฟซบุ๊ก ยูทูบ ยังไม่เป็นที่รู้จักของสังคมไทย แต่เป็นยุคดอทคอม “พันทิป” คือช่องทางฮอตฮิต จึงเข้าไปในห้องแม่และเด็ก เพื่อเข้าไปหาความรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเด็ก ได้เห็นบรรยากาศการ F สินค้ามือสองเกี่ยวกับเด็กอย่างสนุกสนาน จนไปเจอจักรยานไม้ 2 ล้อ แบบไม่มีตัวปั่น ก็เกิดความสนใจ แต่เนื่องจากลูกยังเล็กมากเกินกว่าจะเล่นได้ จากที่ศึกษาข้อมูลทำให้รู้ว่า เด็กต้องมีอายุขั้นต่ำ 1 ขวบครึ่ง ถึงจะเล่นได้
“มาถึงตอนนี้ ลูกคนเล็กมีอายุ 9 ขวบ ขณะที่ธุรกิจนี้ทำมาประมาณ 10 ปี เรียกว่าธุรกิจโตมากับลูก เพราะเริ่มทำธุรกิจบาลานซ์ไบค์ ในวันที่ลูกคนโต อายุขวบครึ่ง แต่ยอมรับว่ายังทำตลาดยากอยู่ เพราะในสังคมไทยยังไม่ค่อยรู้จักสินค้าชนิดนี้อย่างกว้างขวาง มีเพียงฐานลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ส่วนมากจะเป็นกลุ่มพ่อแม่หัวสมัยใหม่ ล้ำๆ หน่อยที่สนใจ เพราะมีความเข้าใจ รู้ว่า “จักรยานขาไถ” ดีต่อลูกอย่างไร การทำการตลาดออนไลน์ทางเดียว จึงไม่พอ ต้องทำการตลาดออฟไลน์ ให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าจริง จับต้องได้ และให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าด้วย รวมถึงได้ทำกิจกรรม ซึ่งเป็นจังหวะที่ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯพอดี”
การจัดกิจกรรมกลายมาเป็นสิ่งประจำที่ขาดไม่ได้ ต้องจัดการแข่งขันจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็กเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งคุณนั้มบอกว่าน่าจะเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่จัดขึ้น จากเดิมจัดแข่งขันตามสวนสาธารณะ ตามห้างสรรพสินค้า ก็เกิดแนวคิดอยากทำสนามแข่งมาตรฐานของเด็กเล็กในที่โล่ง จึงได้เนรมิตพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในบริเวณโรงงานของคุณพ่อ เป็นสนามแข่งของเด็กๆ ออกแบบโดยมืออาชีพ คืออาจารย์แดง (อดีต BMX ทีมชาติไทย) ซึ่งไอเดียนี้มาจาก Inspiration จากต่างประเทศ เห็นจากยูทูบมีการรวมกลุ่มของเด็กได้เล่นจักรยาน ซึ่งขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีสนามแข่งจักรยานของเด็กเล็ก
จนปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเสริมจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cruzee
แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง สาววิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่ลูกสอง ได้ทำงานในสายที่เรียนมาราว 2 ปี ก่อนจะโดนคุณพ่อเรียกตัวให้มาทำงานกับทางบ้าน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นครอบครัว “วิศวะ” ไล่เรียงตั้งแต่คุณพ่อ จบสาขาวิศวกรรมเคมี มาจากประเทศจีน น้องสาวและน้องชาย ล้วนจบสาขาวิศวกรรม ยกเว้นน้องสาวอีกคนที่จบคณะอักษรศาสตร์ แต่หลังจากคุณนั้มแต่งงานมีครอบครัวและท้องลูกคนแรก จึงตัดสินใจเลือกเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเต็มตัว กระทั่งเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงตัดสินใจลงมือทำ
“ยอมรับว่าช่วงแรกของการจับธุรกิจ ยังเป็นอารมณ์คล้ายๆ งานอดิเรก บวกกับข้อจำกัดทางความรู้ที่ไม่ได้จบมาด้านการตลาด การทำธุรกิจจึงเป็น Common Sense ใช้ความรู้สึกตัวเองเป็นหลัก ผนวกกับเลี้ยงลูกเอง 100% จึงให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกเป็นอันดับแรก ถามว่าพอใจกับการทำแบรนด์มา 9-10 ปีหรือไม่ ตอบได้เลยยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้”
หลังตกผลึก เรียนรู้บทเรียนต่างๆ และตัดสินใจยึดเป็นอาชีพจริงจัง จึงได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการตลาด เพิ่มมืออาชีพมาเป็นทีมงาน เพราะการทำงานแบบ Family Business ที่ทำเองทุกสิ่งอย่าง คุณนั้มบอกว่าคือจุดอ่อน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ธุรกิจไม่โต หรือโตช้า อย่างการลงทุนทำสนามจากเดิมทำเอง สุดท้ายก็ต้องรื้อทำใหม่เพราะไม่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้เรียนรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างการเลือกใช้มืออาชีพ จะดีกว่า
“พอเริ่มทำธุรกิจนี้ ในฐานะแม่ รู้สึกว่าไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่ได้เรียนรู้ แต่พ่อแม่ได้เรียนรู้ด้วย ได้เข้าใจลูกของตัวเอง รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีสเต็ปในการเรียนรู้ ปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ได้เร็วช้าไม่เหมือนกัน ซึ่งบางครั้งจะเจอความคาดหวังของพ่อแม่บางคนต่อลูกที่ไม่ถูกต้อง กลายเป็นกดดันเด็ก ก็ต้อง Educate พ่อแม่ ดังนั้น การจัดกิจกรรมแข่งขัน เหมือนเป็นการสร้างสังคมให้พ่อ-แม่-ลูก ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
Mission Impossible จึงเกิดขึ้น โดยคุณนั้มตั้งใจว่าภารกิจนี้ต้องทำให้สำเร็จ วางเป้าหมายของการทำกิจกรรมคือการสร้างครอบครัวแสนสุข ระหว่างพ่อ-แม่ และลูก โดยพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พุ่งเป้าไปที่พ่อแม่โดยตรง เพื่อให้เป้าหมายของการจัดกิจกรรมสัมฤทธิผล คือ สร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ใช้เวลากับครอบครัว ได้สัมผัสความรักของพ่อแม่ จากเสียงเชียร์ให้กำลังใจ ไม่ว่าจะได้แชมป์หรือไม่ “อยากสื่อสารให้ถึงใจพ่อแม่ ได้รู้ว่าไม่ว่าเด็กจะแพ้หรือชนะในเกม มันคือ Win ทั้งหมด เพราะไม่ว่าจะแพ้หรือพลาด มันมีการเรียนรู้อยู่ในนั้น สิ่งที่ต้องจัดการสำคัญที่สุดคืออารมณ์ของพ่อแม่ ไม่ใช่เด็ก เพราะทุกอารมณ์ทุกการตอบสนองที่พ่อแม่ส่งกลับไปที่ลูก ล้วนมีผลต่อจิตใจ จิตใต้สำนึก และการเติบโตของเด็ก Mindset ของเด็กเมื่อโตขึ้น”
บทสรุปของคุณนั้ม ก่อนจบการสนทนา ได้ย้ำว่า การแพ้หรือชนะในเกม เป็นแค่เรื่อง “Just and Event” แค่เหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป การชนะหรือแพ้ไม่ได้ติดตัวไปชั่วชีวิต การกระทำของพ่อแม่ต่างหากที่มีผลต่อลูกอาจจะติดอยู่ที่ใจไปชั่วชีวิต การที่พ่อแม่มีความคาดหวังต่อลูก เป็นเรื่องไม่ผิด แต่ต้องบาลานซ์ให้ได้กับความคาดหวัง เป็นการบาลานซ์ชีวิต บาลานซ์ความคิด บาลานซ์มายด์เซต เหมือนกับบาลานซ์ ไบค์ ที่ต้องทรงตัวให้ได้ ถ้าบาลานซ์ไม่ได้ ชีวิตก็จะเป๋
เกษมณี นันทรัตนพงศ์