ธัญปวีณ์ อัศฎางค์วีรกุล
ลุยธุรกิจบาลานซ์ไบค์ ด้วยใจ
เป็นมากกว่าสินค้า..ช่วยบาลานซ์ชีวิต
ในสังคมโลกปัจจุบันรวมถึงสังคมไทย บิดเบี้ยวขึ้นทุกวัน ด้วยสิ่งเร้าด้านมืดที่นับวันมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ประเทศที่เคยได้รับการยกย่องเป็น “สยามเมืองยิ้ม” เกิดโศกนาฏกรรม สะเทือนขวัญ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น กรณี “จ่าคลั่ง ที่โคราช” หรือกรณีล่าสุด “อดีตตำรวจคลั่ง ที่หนองบัวลำภู”
เป็นเรื่องที่สังคมไทยกำลังสังเคราะห์ ถอดบทเรียนถึงรากของปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศสยามเมืองพุทธ! รวมถึงพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือเร่งปราบปรามอาวุธปืนและยาเสพติด
แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง และน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ “ครอบครัว”
“เฉลียงไอเดีย” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณนั้ม-ธัญปวีณ์ อัศฎางค์วีรกุล ซีอีโอ ครูซี่ ไทยแลนด์ ผู้นำเข้าและทำตลาดแบรนด์ Cruzee จักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็กในประเทศไทย ทำให้ได้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับคำว่า “ครอบครัว”
คุณนั้มเล่าที่มาของการทำธุรกิจจักรยานขาไถ หรือ Balance Bike (บาลานซ์ ไบค์) ว่ามาจากสัญชาตญาณแม่ พอรู้ตัวว่าท้อง ก็ลาออกจากงาน มาโฟกัสการเลี้ยงลูก ในช่วงนั้นโซเชียลยังไม่ได้กลายเป็นวิถีปกติเหมือนปัจจุบัน เฟซบุ๊ก ยูทูบ ยังไม่เป็นที่รู้จักของสังคมไทย แต่เป็นยุคดอทคอม “พันทิป” คือช่องทางฮอตฮิต จึงเข้าไปในห้องแม่และเด็ก เพื่อเข้าไปหาความรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเด็ก ได้เห็นบรรยากาศการ F สินค้ามือสองเกี่ยวกับเด็กอย่างสนุกสนาน จนไปเจอจักรยานไม้ 2 ล้อ แบบไม่มีตัวปั่น ก็เกิดความสนใจ แต่เนื่องจากลูกยังเล็กมากเกินกว่าจะเล่นได้ จากที่ศึกษาข้อมูลทำให้รู้ว่า เด็กต้องมีอายุขั้นต่ำ 1 ขวบครึ่ง ถึงจะเล่นได้
ระหว่างรอให้ลูกโต ปลอดภัยพอที่จะเล่นจักรยานเด็กได้ โลกของโซเชียลในไทยก็หมุนไปอย่างรวดเร็ว จากยุคดอทคอม เข้าสู่สังคมโซเชียลอย่าง “เฟซบุ๊ก” เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็วในสังคมไทย คุณนั้มก็ตามไปส่องความเคลื่อนไหวของสังคมเฟซบุ๊ก ติดตามเพื่อนๆ ที่โพสต์การเลี้ยงลูก เริ่มเห็นการขายของในเฟซบุ๊ก เลยเกิดไอเดียอยากขายของบนเฟซบุ๊ก บวกกับความสนใจส่วนตัวเรื่อง จักรยานทรงตัวสำหรับเด็ก หรือ Balance Bike อยู่แล้ว และเป็นจังหวะที่มีผู้ผลิตบาลานซ์ไบค์ประกาศรับตัวแทนจำหน่าย จึงได้ติดต่อดีลทำธุรกิจกัน ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจคือขายผ่านออนไลน์ทางเดียว เนื่องจากต้องย้ายถิ่นฐานตามสามีซึ่งไปทำงานที่ภูเก็ต
“มาถึงตอนนี้ ลูกคนเล็กมีอายุ 9 ขวบ ขณะที่ธุรกิจนี้ทำมาประมาณ 10 ปี เรียกว่าธุรกิจโตมากับลูก เพราะเริ่มทำธุรกิจบาลานซ์ไบค์ ในวันที่ลูกคนโต อายุขวบครึ่ง แต่ยอมรับว่ายังทำตลาดยากอยู่ เพราะในสังคมไทยยังไม่ค่อยรู้จักสินค้าชนิดนี้อย่างกว้างขวาง มีเพียงฐานลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ส่วนมากจะเป็นกลุ่มพ่อแม่หัวสมัยใหม่ ล้ำๆ หน่อยที่สนใจ เพราะมีความเข้าใจ รู้ว่า “จักรยานขาไถ” ดีต่อลูกอย่างไร การทำการตลาดออนไลน์ทางเดียว จึงไม่พอ ต้องทำการตลาดออฟไลน์ ให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าจริง จับต้องได้ และให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าด้วย รวมถึงได้ทำกิจกรรม ซึ่งเป็นจังหวะที่ย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯพอดี”
การจัดกิจกรรมกลายมาเป็นสิ่งประจำที่ขาดไม่ได้ ต้องจัดการแข่งขันจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็กเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งคุณนั้มบอกว่าน่าจะเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่จัดขึ้น จากเดิมจัดแข่งขันตามสวนสาธารณะ ตามห้างสรรพสินค้า ก็เกิดแนวคิดอยากทำสนามแข่งมาตรฐานของเด็กเล็กในที่โล่ง จึงได้เนรมิตพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในบริเวณโรงงานของคุณพ่อ เป็นสนามแข่งของเด็กๆ ออกแบบโดยมืออาชีพ คืออาจารย์แดง (อดีต BMX ทีมชาติไทย) ซึ่งไอเดียนี้มาจาก Inspiration จากต่างประเทศ เห็นจากยูทูบมีการรวมกลุ่มของเด็กได้เล่นจักรยาน ซึ่งขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีสนามแข่งจักรยานของเด็กเล็ก
จนปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเสริมจากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Cruzee
แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง สาววิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณแม่ลูกสอง ได้ทำงานในสายที่เรียนมาราว 2 ปี ก่อนจะโดนคุณพ่อเรียกตัวให้มาทำงานกับทางบ้าน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นครอบครัว “วิศวะ” ไล่เรียงตั้งแต่คุณพ่อ จบสาขาวิศวกรรมเคมี มาจากประเทศจีน น้องสาวและน้องชาย ล้วนจบสาขาวิศวกรรม ยกเว้นน้องสาวอีกคนที่จบคณะอักษรศาสตร์ แต่หลังจากคุณนั้มแต่งงานมีครอบครัวและท้องลูกคนแรก จึงตัดสินใจเลือกเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเต็มตัว กระทั่งเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงตัดสินใจลงมือทำ
“ยอมรับว่าช่วงแรกของการจับธุรกิจ ยังเป็นอารมณ์คล้ายๆ งานอดิเรก บวกกับข้อจำกัดทางความรู้ที่ไม่ได้จบมาด้านการตลาด การทำธุรกิจจึงเป็น Common Sense ใช้ความรู้สึกตัวเองเป็นหลัก ผนวกกับเลี้ยงลูกเอง 100% จึงให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกเป็นอันดับแรก ถามว่าพอใจกับการทำแบรนด์มา 9-10 ปีหรือไม่ ตอบได้เลยยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้”
หลังตกผลึก เรียนรู้บทเรียนต่างๆ และตัดสินใจยึดเป็นอาชีพจริงจัง จึงได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการตลาด เพิ่มมืออาชีพมาเป็นทีมงาน เพราะการทำงานแบบ Family Business ที่ทำเองทุกสิ่งอย่าง คุณนั้มบอกว่าคือจุดอ่อน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้ธุรกิจไม่โต หรือโตช้า อย่างการลงทุนทำสนามจากเดิมทำเอง สุดท้ายก็ต้องรื้อทำใหม่เพราะไม่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้เรียนรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างการเลือกใช้มืออาชีพ จะดีกว่า
ถามถึงการทำธุรกิจ ถึงจุดคุ้มทุนแล้วหรือไม่ คุณนั้มบอกว่า ทำธุรกิจช่วงต้นๆ แทบไม่มีกำไร เป็นการเริ่มทำธุรกิจด้วยใจ เพราะรักในสินค้า เป็นของเล่นเด็กที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นอุปกรณ์การออกกำลังกาย เป็นตัวช่วยพัฒนาร่างกายของเด็ก
“พอเริ่มทำธุรกิจนี้ ในฐานะแม่ รู้สึกว่าไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่ได้เรียนรู้ แต่พ่อแม่ได้เรียนรู้ด้วย ได้เข้าใจลูกของตัวเอง รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีสเต็ปในการเรียนรู้ ปรับตัวเข้าหาสิ่งใหม่ได้เร็วช้าไม่เหมือนกัน ซึ่งบางครั้งจะเจอความคาดหวังของพ่อแม่บางคนต่อลูกที่ไม่ถูกต้อง กลายเป็นกดดันเด็ก ก็ต้อง Educate พ่อแม่ ดังนั้น การจัดกิจกรรมแข่งขัน เหมือนเป็นการสร้างสังคมให้พ่อ-แม่-ลูก ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
มาจนถึงปัจจุบันราว 10 ปี คุณนั้มได้ข้อสรุปให้ตัวเองแล้วว่า เรื่องธุรกิจคือเรื่องรอง เพราะศูนย์กลางของธุรกิจนี้ คือ “เด็ก” คุณนั้มจึงโฟกัสธุรกิจไปที่เด็กๆ ได้จัดประชุมทีมเรื่องกิจกรรมจัดแข่งขัน จากเดิมต้องการให้เด็กๆ สนุกและใช้จักรยานได้ถูกต้องปลอดภัย กลายเป็นความคาดหวังของพ่อแม่ที่มาจากความรักในตัวลูก อยากให้ลูกเป็น The Best กลายเป็นมุมมองเรื่องการเอาชนะในการแข่งขัน กดดันในตัวลูก กลายเป็นปมปัญหา
Mission Impossible จึงเกิดขึ้น โดยคุณนั้มตั้งใจว่าภารกิจนี้ต้องทำให้สำเร็จ วางเป้าหมายของการทำกิจกรรมคือการสร้างครอบครัวแสนสุข ระหว่างพ่อ-แม่ และลูก โดยพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พุ่งเป้าไปที่พ่อแม่โดยตรง เพื่อให้เป้าหมายของการจัดกิจกรรมสัมฤทธิผล คือ สร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ใช้เวลากับครอบครัว ได้สัมผัสความรักของพ่อแม่ จากเสียงเชียร์ให้กำลังใจ ไม่ว่าจะได้แชมป์หรือไม่ “อยากสื่อสารให้ถึงใจพ่อแม่ ได้รู้ว่าไม่ว่าเด็กจะแพ้หรือชนะในเกม มันคือ Win ทั้งหมด เพราะไม่ว่าจะแพ้หรือพลาด มันมีการเรียนรู้อยู่ในนั้น สิ่งที่ต้องจัดการสำคัญที่สุดคืออารมณ์ของพ่อแม่ ไม่ใช่เด็ก เพราะทุกอารมณ์ทุกการตอบสนองที่พ่อแม่ส่งกลับไปที่ลูก ล้วนมีผลต่อจิตใจ จิตใต้สำนึก และการเติบโตของเด็ก Mindset ของเด็กเมื่อโตขึ้น”
บทสรุปของคุณนั้ม ก่อนจบการสนทนา ได้ย้ำว่า การแพ้หรือชนะในเกม เป็นแค่เรื่อง “Just and Event” แค่เหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป การชนะหรือแพ้ไม่ได้ติดตัวไปชั่วชีวิต การกระทำของพ่อแม่ต่างหากที่มีผลต่อลูกอาจจะติดอยู่ที่ใจไปชั่วชีวิต การที่พ่อแม่มีความคาดหวังต่อลูก เป็นเรื่องไม่ผิด แต่ต้องบาลานซ์ให้ได้กับความคาดหวัง เป็นการบาลานซ์ชีวิต บาลานซ์ความคิด บาลานซ์มายด์เซต เหมือนกับบาลานซ์ ไบค์ ที่ต้องทรงตัวให้ได้ ถ้าบาลานซ์ไม่ได้ ชีวิตก็จะเป๋
เกษมณี นันทรัตนพงศ์