ท่าเรือแหลมฉบังลงนามร่วมมือท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน ยกระดับท่าเรือพี่น้อง ส่งเสริมการค้า-การขนส่งทางน้ำ
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – ท่าเรือแหลมฉบังจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง (Sister Port) แบบ Online กับท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน ประเทศจีน หวังส่งเสริมและพัฒนาโอกาสทางการค้าและการขนส่งสินค้าทางน้ำร่วมกัน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (2 มี.ค.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนท่าเรือแหลมฉบัง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง (Sister Port) แบบ Online ระหว่าง ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องบางแสน โรงแรม Oakwood Hotel & Residence Sriracha จ.ชลบุรี เพื่อให้ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน และท่าเรือแหลมฉบัง สามารถส่งเสริมและพัฒนาโอกาสทางการค้าและการขนส่งร่วมกัน
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาโอกาสทางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสมัยใหม่ การขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกันในฐานะ Sister Port
โดยมี น.ส.ฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และรองนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยเหมิน นายพีระวัฒน์ อัศวปรานี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน รวมถึงนางจาง เซียวเซียว ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และนายนริศ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา ปลัดอาวุโสนายอำเภอศรีราชา ผู้บริหารท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
น.ส.ฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองท่าเรือจะได้เริ่มพัฒนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการขนส่ง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และร่วมกันพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางทะเลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และยังเป็นการรองรับปริมาณการค้าไทย-จีน รวมทั้งสานความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศไทยที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน
ขณะที่ นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เผยว่า ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน ถือเป็นท่าเรือชั้นนำที่มีขีดความสามารถสูง ไม่เพียงเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับในระดับสากล เนื่องจากมีการขนส่งสินค้าตามช่องทางสายไหมและมีสัมพันธ์อันดีกับท่าเรือต่างๆ มากกว่า 90 แห่งทั่วโลก
ดังนั้น เมื่อท่าเรือเมืองเซี่ยเหมิน และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ในอนาคตจะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าผ่านท่าได้ถึง 18 ล้านทีอียู ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมมือเป็นท่าเรือพี่น้อง จะสามารถร่วมกันพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางทะเลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์อันดีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศไทย และเพื่อพัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่องให้มีความก้าวหน้ายั่งยืน เช่นเดียวกับการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 ท่าเรือที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และการฝึกอบรมทางวิชาการต่างๆ เพื่อส้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินต่อไป
ด้าน เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวในนามผู้แทนผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้มุ่งที่จะเสริมสร้างความร่วมมือและยังเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถทั้งด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาโอกาสทางการค้า โลจิสติกส์ และธุรกิจ รวมทั้งการตลาดร่วมกัน