ย้ายตัวทักษิณจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ กลางดึก พร้อมเทียบตำนาน “นักโทษวีไอพี” กับ “อากง”

getty

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

กรมราชทัณฑ์ ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจกลางดึกที่ผ่านมา เมื่อเวลา 00.20 น. ภายหลังมีอาการแน่นหน้าอก

เอกสารข่าวจากกรมราชทัณฑ์ที่ส่งให้สื่อมวลชนเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. วันนี้ (23 ส.ค.) เปิดเผยคำชี้แจงจาก นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค. พัศดีเวรได้รายงานว่านายทักษิณ ซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรค มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ

นายสิทธิ กล่าวต่อไปว่า พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือโรคหัวใจ

เอกสารข่าวระบุว่า เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที

นายสิทธิ ระบุว่า หลังจากนั้น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้รับตัวไว้เพื่อทำการบำบัดรักษาเมื่อเวลา 00.20 น ของวันที่ 23 ส.ค. 2566 โดยเรือนจำได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุม ตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์

Skip เรื่องแนะนำ and continue reading

เรื่องแนะนำ

End of เรื่องแนะนำ

การส่งตัวนายทักษิณออกมารักษายังโรงพยาบาลตำรวจ หากนับการเข้าสู่เรือนจำในช่วงเที่ยงของวันที่ 22 ส.ค. หมายความว่า นายทักษิณถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมง ก่อนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

วานนี้ (22 ส.ค.) กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงการรับตัวนายทักษิณเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า นายทักษิณถูกแยกคุมขังแต่เพียงผู้เดียวในแดน 7 ซึ่งเป็นแดนพยาบาลของเรือนจำ ภายหลังจากทำประวัติและตรวจร่างกาย

กรมราชทัณฑ์ชี้ แจงว่า การแยกคุมขังเป็นไปการดำเนินกันกับผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้สูงอายุมีอายุเกิน 60 ปี จากการตรวจสุขภาพประกอบกับหลักฐานทางการแพทย์ พบว่านายทักษิณมีโรคที่ต้องเฝ้าะระวัง 4 โรค ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะพังผืดในปอดจากการเคยป่วยปอดอักเสบ ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ

วานนี้ (22 ส.ค.) ระหว่างการแถลงข่าวการรับตัวนายทักษิณ เข้าเรือนจำ นพ. วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้อธิบายถึงกระบวนการส่งตัวผู้ต้องขังมารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และการส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ จะมีทีมแพทย์ของโรงพยาบาลแม่ข่าย ร่วมกับพยาบาลประเมินเป็นกรณี ๆ ไป

นพ.วัฒน์ชัย กล่าวต่อไปว่า การส่งต่อจำเป็นต้องมีแนวทางและข้อบ่งชี้ในการส่ง คือ หากสามารถกำกับดูแลภายในสถานพยาบาลเรือนจำได้ก็จะดูแล ทั้งนี้ ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่ามีความเสี่ยงระดับไหน

“ถ้าเสี่ยงมากเราจำเป็นต้องส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงในจุดนั้น เพราะผู้ต้องขังทุกคนก็มีครอบครัว และมีคนที่รัก เราจะต้องปิดความเสี่ยงในส่วนนั้นไปด้วย”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพว่า การส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลข้างนอกเรือนจำ เป็นเรื่องของแพทย์ที่เป็นผู้วินิจฉัย โดยนายทักษิณนำเอกสารทางการแพทย์จำนวนมากมาจากสิงคโปร์ ซึ่งแพทย์ผู้วินิจฉัยมีทั้งแพทย์ต้นทางกับแพทย์ปลายทาง

ดังนั้น การส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลด้านนอกไม่ต้องพิจารณาไปถึงระดับกระทรวง เป็นดุลพินิจของแพทย์

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,

อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ส่งมารักษาตัว เมื่อเวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค. 2566

ย้อนดู “นักโทษวีไอพี” ในการเมืองไทย

หากย้อนดูการต้องโทษของบุคคลในแวดวงการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นหลายคน พบว่าการย้ายออกจากเรือนจำเพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และการพักโทษเคยเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณี

“กำนันเป๊าะ” เจ้าพ่อเมืองชล

“กำนันเป๊าะ” หรือสมชาย คุณปลื้ม อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี หรือ “เจ้าพ่อเมืองชล” และบิดาของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน ก็เคยประสบชะตากรรมต้องโทษจากการถูกศาลพิพากษาจำคุก 25 ปี ในคดีจ้างวานฆ่านายประยูร สิทธิโชติ ในปี 2547 และถูกศาลตัดสินจำคุกอีกคดีเป็นเวลา 5 ปี 4 เดือนในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินสาธารณะ ต.เขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี ในปี 2548

กำนันเป๊าะ ถือเป็นตำนาน “นักโทษวีไอพี” ที่เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไปแล้ว ได้ย้ายการควบคุมตัวมาเรือนจำในภูมิลำเนา จ.ชลบุรี ก่อนได้รับอนุญาตออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชลบุรี

กำนันเป๊าะ ถูกจับกุมในเดือน ม.ค. ปี 2556 หลังจากหลบหนีคดีนาน 7 ปี เมื่อนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต้นเดือน ก.พ. ปีเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ได้อนุมัติให้มีการย้ายตัวกำนันเป๊าะ จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้ไปควบคุมตัวที่เรือนจำกลางชลบุรี ตามที่นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้เป็นลูกชายร้องขอ

แต่หลังจากควบคุมตัวถึงเรือนจำชลบุรี กำนันเป๊าะได้ถูกย้ายตัวไปที่โรงพยาบาลชลบุรีทันทีหลังจากไปถึง ผู้บัญชาการเรือนจำกลางชลบุรี ในเวลานั้น กล่าวยอมรับว่า นายสมชายถูกนำตัวไปโรงพยาบาลชลบุรีจริง ภายหลังเดินทางมาถึงเรือนจำเพียงแค่ 10 นาที เนื่องจากมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดกะทันหัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากอยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรีเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน ทางราชทัณฑ์ได้สั่งย้ายตัวกำนันเป๊าะกลับมาควบคุมตัวที่ทัณฑสถาน รพ.กลางราชทัณฑ์ ภายหลังมีกระแสข่าวว่าไม่มีการจำคุกจริง จากกรณีการจัดงานเลี้ยงวันเกิดที่มีเหล่านักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ เข้าร่วมอวยพร

ต่อมาในต้นปี 2560 ราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้ส่งตัวกำนันเป๊าะ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะมีอาการป่วยหลายโรค เช่น เบาหวาน และโรคถุงลมโป่งพอง หลังจากนั้นในช่วงปลายปีเดียวกัน กำนันเป๊าะ ซึ่งมีอายุ 80 ปี ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์พิเศษของราชทัณฑ์จากการป่วยมะเร็งระยะ 4 และอายุเกิน 70 ปี โดยกรมราชทัณฑ์ได้ส่งหนังสือปล่อยตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ

หลังจากได้รับการพักโทษ 2 ปี วันที่ 17 มิ.ย. 2562 กำนันเป๊าะ เสียชีวิตลงในวัย 82 ปี ด้วยโรคมะเร็งมานาน ปิดตำนานนักการเมืองท้องถิ่นผู้ทรงอิทธิพลแห่งภาคตะวันออก

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

สมชาย คุณปลื้ม ผู้ที่ครั้งหนึ่งสื่อต่างชาติเคยเรียกว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่ “มีชื่อเสียง” มากที่สุดในประเทศไทย

3 อดีตผู้บริหารกรุงไทย คดีปล่อยกู้กฤษดามหานคร สมัยรัฐบาลทักษิณ

อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 3 คน ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกรายละ 18 ปี ในคดีปล่อยกู้ให้กับบริษัทกฤษดามหานคร ที่มีสถานะเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารรวมกว่า 10,000 ล้านบาท สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นอีกกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ

คดีนี้นายทักษิณ ตกเป็นจำเลยที่ 1 แต่ในวันที่ศาลพิพากษานายทักษิณอยู่ระหว่างหลบหนีคดี

อดีตผู้บริหารทั้ง 3 คน ได้แก่ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา อดีตกรรมการธนาคารกรุงไทย ถูกจำคุกเมื่อปี 2558 แต่ต่อมาในเดือน ม.ค. ปี 2562 ทั้งหมดได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์

ทั้ง 3 คน เข้าเกณฑ์รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3, เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และมีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งครบกำหนดวันพักโทษ รวมจำคุก 3 ปี 4 เดือน 15 วัน

ในการพักโทษครั้งนั้น รายงานข่าวระบุว่า ทั้ง 3 คนมีอาการป่วย โดย “ร.ท.สุชายมีอาการป่วยหนัก นายวิโรจน์มีปัญหาสุขภาพตาเกือบมองไม่เห็น ส่วนนายมัชฌิมาก็ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา”

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับการพักโทษในช่วงต้นปี ต่อมาในเดือน มิ.ย. ปีเดียวกัน ร.ท.สุชาย ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ

ความแตกต่างกับกรณี “อากง” ผู้ต้องหา ม.112

8 พ.ค. 2555 อำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการส่งข้อความสั้น หรือ sms ไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น จำนวน 4 ข้อความ ศาลอาญาพิพากษาคดีนี้เมื่อเดือน พ.ย. 2554 ตัดสินให้นายอำพลมีความผิดจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกข้อมูลคดีไว้ว่า อำพล อายุ 61 ปี ในวันที่ถูกจับ เคยประกอบอาชีพขับรถส่งของ ก่อนถูกจับไม่ได้ประกอบอาชีพเนื่องจากอายุมากและพูดไม่ถนัดหลังการผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีอำพลอาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง จ. สมุทรปราการ ดำรงชีพด้วยเงินที่ได้รับจากลูก ๆ เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นครั้งคราว เขาถูกจับเมื่อ 3 ส.ค. 2553 ถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 63 วัน เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

การเสียชีวิตของนายอำพล เป็นช่วงที่ทนายความอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี ข้อมูลจากทนายความชี้ว่า นายอำพลเคยยื่นคำร้องขอประกันตัวหลายครั้ง ทุกครั้งอ้างเหตุแห่งความเจ็บป่วย แต่ถูกศาลชั้นต้นยกคำร้อง 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้อง 1 ครั้ง ท้ายที่สุดในเดือน เม.ย. 2555 นายอำพลตัดสินใจจบคดีด้วยการถอนอุทธรณ์ และรอขอพระราชทานอภัยโทษ

ผลการชันสูตรนายอำพล ระบุว่าเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายลุกลาม และเป็นการเสียชีวิตขณะอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่

การเสียชีวิตของนายอำพล ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรชี้ประเด็นว่า อำพลเสียชีวิตในเรือนจำในสภาพอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ตลอดจนไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว