น้ำทะเลที่บางแสน จ.ชลบุรี กลายเป็นสีเขียว เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ในช่วงฤดูฝนที่เรียกว่า “แพลงก์ตอนบลูม” หรือ “ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ” เมื่อมีลมมรสุมก็จะพัดเอาแพลงก์ตอนขึ้นมาจากใต้น้ำ ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและเน่าเสีย สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้จะหายไปเองโดยธรรมชาติไม่เกิน 7 วัน ปีนี้เกิดในช่วงวันหยุดต่อเนื่องวันแม่แห่งชาติ
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กThon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับปรากฎการณ์ทะเลเป็นสีเขียว โดยมีเนื้อหารายละเอียดดังนี้ … ทะเลชายฝั่งบางแสน ศรีราชา เกิดแพลงก์ตอนบลูมต่อเนื่อง จึงอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ทราบอีกครั้ง
“น้ำเขียวปี๋เกิดจากแพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนมากผิดปรกติ แพลงก์ตอนที่พบในตอนนี้ไม่มีพิษ ยังกินอาหารทะเลได้ตามปรกติ แต่น้ำเขียวไม่น่าเล่นน้ำ/ท่องเที่ยว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง” ดร.ธรณ์ ระบุ
ภาพ กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร / Thai News Pix