“ดร.ธรณ์” เปิดภาพสำรวจหาคราบน้ำมัน ทะเลศรีราชา พบน้ำทะเลสีเขียวจากแพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาล วิบากกรรมทะเลไทย ที่ความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นจริง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เรื่อง ทะเลมัทฉะ วิบากกรรมน้ำเขียวแห่ง EEC โดยระบุว่า

ทะเลไทย

EEC คือพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก บริเวณที่ประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปมหาศาล เพื่อกิจการสู่อนาคต

EEC แม้มีพื้นที่หลายจังหวัด แต่ศูนย์กลางมี 2 แห่งคือชายฝั่งบางแสน/ศรีราชา/พัทยา และมาบตาพุด ระยอง

ทั้ง 2 แห่งแตกต่างกันในด้านภูมิศาสตร์ ชายฝั่งชลบุรีอยู่ในอ่าวไทยตอนใน ระยองอยู่ชายฝั่งภาคตะวันออก

อ่าวไทยตอนในหรืออ่าวตัว ตามที่เรียกกัน เป็นอ่าวเกือบปิด สามด้านติดแผ่นดิน มีทางออกเพียงทิศใต้ที่เชื่อมกับทะเลนอก

แผ่นดินที่รายล้อมมีแม่น้ำ 4 สายหลักของไทย บางปะกง-เจ้าพระยา-ท่าจีน-แม่กลอง เรียงลำดับจากตะวันออกสู่ตะวันตก

น้ำต่าง ๆ จากชุมชนและพื้นที่เกษตรไหลลงสู่อ่าวแห่งนี้

ศรีราชา/แหลมฉบังยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางทะเล มีอุตสาหกรรมมากมาย บางแสน/พัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับเมกะ ผู้คนมาเยือนมหาศาล

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

น้ำจากเมืองและแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ไหลลงทะเล

ทะเลที่ปิดล้อมด้วยแผ่นดิน 3 ด้าน อ่าวเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่รวมกันแค่ 7,500+ ตร.กม.

เล็กมาก เมื่อเทียบกับทะเลไทย 320,000+ ตร.กม. แต่เม็ดเงินที่เกิดจากเศรษฐกิจสีน้ำเงินในอ่าวนี้ อาจเกินครึ่งของทะเลไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังเป็นเขตที่มีผู้คนอยู่อาศัยมากที่สุด ทุกอย่างปะปนกัน เมือง/อุตสาหกรรม/โลจิสติกส์/ท่องเที่ยว

แต่อย่าลืมคนที่เคยอยู่มาก่อน ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เจ้าของแพ/กระชังมากมายริมชายฝั่ง

แพน้อย ๆ ที่เป็นแหล่งหารายได้เลี้ยงครอบครัว อยู่ห่างจากเรือหลายหมื่นตันที่วิ่งผ่านไปมาเพียงนิดเดียว

เมื่อทะเล EEC มีทุกอย่างสุมรวมกัน กอปรกับเทรนด์โลกเน้นความเขียว จึงไม่น่าแปลกที่คำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปรากฏอยู่ในแทบทุกแห่งทุกโครงการในพื้นที่

ทว่า…ผลลัพท์เป็นอย่างไร ?

ผลลัพธ์เป็นตามภาพที่เพื่อนธรณ์เห็น เป็นภาพที่ทีมคณะประมงเพิ่งถ่ายเมื่อวาน ระหว่างเราสำรวจหาคราบน้ำมันที่หลุดรั่วลงมาในทะเล

สีเขียวปี๋ดุจชาจากญี่ปุ่น ดูแล้วสวยดี แต่ในนั้นคือแพลงก์ตอนพืชนับล้านล้านล้าน ที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพราะเหตุต่าง ๆ ที่ผมเล่าไปแล้วข้างต้น

เราดูแลทะเลได้ดีพอหรือยัง ? ช่างมันเถอะตัวเลขในห้องประชุมหรือแคมเปญต่าง ๆ  เพราะผู้ตอบที่แท้จริงคือทะเล

ทะเลตอบมาด้วยน้ำสีเขียวปี๋ สมดุลที่เปลี่ยนไป ความยั่งยืนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง

ข้อมูลจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. ทำร่วมกับสถานีวิจัยคณะประมง ศรีราชา บ่งบอกว่าน้ำเหล่านี้มีความตายแอบซ่อนอยู่

แพลงก์ตอนชนิดนี้ไม่เป็นพิษ ไม่สะสมในสัตว์น้ำ ทุกคนยังกินอาหารทะเลต่อไปได้ หากว่ามีเหลือให้กิน

เพราะไม่มีพิษแต่มีความตาย เนื่องจากปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว

การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังจากสถานีเก็บน้ำประจำจุดต่างๆ ในทะเลศรีราชา บ่งบอกว่าน้ำแบ่งเป็นชั้น

ชั้นน้ำล่าง ๆ มีออกซิเจนต่ำมาก (ต่ำกว่า 2 mg/l) ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

หากดูในภาพกราฟฟิก จะเป็นแถบสีน้ำเงิน

ที่สำคัญคือ การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นผลงานของนิสิตภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง

น้อง ๆ ที่เป็นห่วงทะเล อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อยากรู้ว่าเธอช่วยอะไรได้บ้าง ?

ช่วยทำให้ ความยั่งยืน ที่ผู้ใหญ่พูดถึงบ่อยๆ จัดงานกันถี่ ๆ เป็นความจริงสักนิด

ด้วยภาพที่ผมเห็นมาเมื่อวาน ด้วยงานของน้องที่ส่งมาให้ผมดู ผมจึงเขียนเรื่องนี้

เขียนเพื่อแจ้งให้เพื่อนธรณ์ทราบว่า ความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นจริง

เขียนเพื่อบอกว่า แต่เรายังมีหวัง เพราะเด็ก ๆ ของเรายังสู้

สมดุลที่พังทลาย อาจหวนคืนมาทีละนิดละน้อย หากผู้ใหญ่หันไปมองงานของเด็ก ๆ บ้าง
รับฟังงานของเด็ก ๆ เพื่อให้รู้ว่า บางทีถ้อยคำที่พูดกันว่ายั่งยืน ๆ มันเป็นเพียงวิปครีมที่ปิดบังหน้ามัทฉะแห่งความตาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

  • คราบน้ำมัน ปะทะ แพลงก์ตอนบลูม ‘ดร.ธรณ์’ เตือนเพราะใส่ใจทะเลไม่พอ
  • ‘ดร.ธรณ์’ ชี้น้ำมันรั่วทะเลศรีราชา ล้อมคอกไม่สำเร็จ คาดพัดถึงฝั่งเย็นนี้
  • ‘ดร.ธรณ์’ รวบ 7 ประเด็นใหญ่ในทะเลไทย เสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา