Site icon บางแสน

ถอดหลักคิดนักสิ่งแวดล้อม ‘ดร.สมนึก จงมีวศิน’ ผอ.ฝ่ายวิจัย EEC Watch

ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch

ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch
ประสบการณ์การทำงานทั้งในและต่างประเทศ การทำหน้าที่ตรวจสอบอันตรายในโรงงานทั้งบนบกและ ณ แท่นขุดเจาะกลางทะเล หล่อหลอมให้เขาได้พานพบสถานการณ์ ที่เมื่อเวลาผันผ่านได้ช่วยให้เกิดความแหลมคมในการประเมินความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ภาวะที่ผู้ใกล้ชิดต้องเสียชีวิตและป่วยไข้จากสารเคมี หรือแร่ใยหิน เป็นอีกชนวนเหตุที่ผลักดันให้เขาและเพื่อนก่อร่างสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันตรวจสอบโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และอีกสารพัดนโยบายรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม 

ไม่เพียงทักษะด้านวิศวกรเท่านั้น เขายังนำองค์ความรู้ด้านการเงิน มาให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ว่าค่าเยียวยาเท่าใด คือจุดที่เรียกว่าเป็นธรรมพอที่รัฐจะต้องชดใช้ให้กับความสูญเสียของผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยมีวิถีชีวิตอันยั่งยืน


Research Director ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch : กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือบทบาทหลักในปัจจุบันของเขา ที่ภาคประชาสังคมและผู้สนใจในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ย่อมรู้จักดี หรือในนามนักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก

แต่เขายังมีบทบาทที่มากกว่านั้น ซึ่งสะท้อนได้อย่างดีว่าองค์ความรู้ที่เขามีได้รับการยอมรับมากเพียงใด 

อาทิ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว และ นครนายก), พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน

คณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, มกราคม พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ใน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กันยายน พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

คณะกรรมการและที่ปรึกษาสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี, มีนาคม พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคประชาสังคม, โครงการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ระยะที่ 2) พ.ศ.2565 – 2569, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร, ธันวาคม พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาคณะทำงานพิจารณาข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือแหลมฉบัง, สำนักงานจังหวัดชลบุรี, พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง, สำนักงานจังหวัดชลบุรี, พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับชุมชน ของโครงการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ (ส่วนขยายครั้งที่ 5), Clean Fuel Project อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี, พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน เทศบาลตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี, 
พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (6 ภูมิภาค), พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง, พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ดร. สมนึก จงมีวศิน’ ด้วยบทสนทนาที่สะท้อนผ่านแว่นของนักสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch ที่เปี่ยมข้อมูลอันน่าสนใจ ทั้งตั้งคำถามต่อโครงการต่างๆ ที่อาจเอื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่และทุนต่างชาติ ขณะที่คนในพื้นที่กลับต้องจ่ายราคาแพงด้วยความเสี่ยงของวิถีชีวิตที่ไม่อาจหวนคืนสู่ความยั่งยืนได้อีก

ทั้งหลายทั้งปวง บอกเล่าผ่านถ้อยความนับจากนี้


จุดเริ่มต้น ‘นักสิ่งแวดล้อม’

เริ่มบทสนทนา ด้วยการถามไถ่ ขอให้เล่าถึงความเป็นมา ว่าอะไรทำให้คุณสนใจมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
ดร. สมนึก ตอบว่าเนื่องมาจากที่ตนเรียนจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมการผลิต) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปีการศึกษา พ.ศ.2535

“ผมจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เมื่อจบมาผมก็ทำงานในโรงงาน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในช่วงสองปีแรกที่ผมทำงาน ก็มีเพื่อนฝูงที่เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ และด้วยตัวผมเองนั้น ก็เรียน จบ ปวช. ทางด้านช่างกลโรงงาน แล้วผมมีโอกาสที่สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ แต่เพื่อนบางคนก็ไปเรียนต่อ ปวส. แล้วก็ไปจบปริญญาตรี 
ดังนั้น ผมจึงมีเพื่อนที่เป็นวิศวกรค่อนข้างเยอะ ทั้งที่มาจากสายช่างด้วย และสายวิศวกรโดยตรงด้วย ก็ค่อนข้างเยอะ 
แล้วมีเพื่อนอยู่สองคนที่เรียน ปวช. มาด้วยกัน เขาก็ไปทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งที่จ.สระบุรี เกี่ยวกับเรื่องของการใช้ใยหินมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า แล้วเพื่อนสองคนนี้ทำได้เพียงสองปีก็ป่วยหนัก แล้วก็มีหนึ่งคนเสียชีวิต

“ตอนนั้น เรายังไม่รู้ว่าใยหินมีอันตรายมาก ช่วงนั้น ก็ประมาณปี พ.ศ. 2536-2537 อีกคนก็รักษาจนอาการดีขึ้น แล้วก็ยังมีเพื่อนที่ไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ก็เป็นมะเร็งอยู่ 2-3 คน แต่ส่วนใหญ่ก็จะทำงานในโรงงานที่มีสารอันตรายต่างๆ

“สิ่งเหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนมองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นสำคัญมาก ถ้าเราเรียกง่ายๆคือ มันเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากภัยไข้เจ็บ แต่มันเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน พวกเราก็จะคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คำว่าสิ่งแวดล้อม จึงติดตัวผมมาตั้งแต่ตอนนั้น” ดร.สมนึกระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

หลังจากนั้นมา ก็ทำงานด้านวิศวกรรมตรวจสอบ โดยตรวจสอบตั้งแต่สิ่งที่เป็นขนาดเล็ก ไปถึงขนาดใหญ่ ต่อมาก็มีโอกาสตรวจสอบโรงงาน ทั้งโรงงานที่อยู่บนบก ไปจนถึงตรวจสอบแท่นขุดเจาะน้ำมันว่ามีโครงสร้างแข็งแรงไหม
เป็นการทำงานทั่วโลก สั่งสมประสบการณ์ โดยส่วนใหญ่ก็ตรวจสอบว่าต้องซ่อมบำรุงเมื่อไหร่ มีอะไรเสียหายบ้าง จะต้องเปลี่ยนไหม ซ่อมบำรุงธรรมดา หรือซ่อมบำรุงใหญ่ และไม่ใช่แค่ในโรงงาน แต่ยังมองไปถึงชุมชนรอบๆ โรงงานด้วย 

รวมถึงการเปลี่ยนระบบอุปกรณ์ใหม่ทั้งโรงงาน ก็ได้ไปช่วยเรื่องนี้ ในหลายๆ ที่ และทำงานร่วมกับชุมชน นั่นเป็นที่มาของการทำงานด้านวิศวกรรม แล้วก็ผูกโยงกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

อีกทั้ง ดร.สมนึก จบการศึกษาและบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Finance), International M.B.A. Program คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปีการศึกษา 2541
และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Architectural Heritage Management and Tourism), International Ph.D. Program, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ปีการศึกษา 2553

โดยเรียนสถาปัตย์ด้านการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว จึงมองว่า ในชุมชน นอกจากมีโบราณสถานแล้ว ก็ยังมีบ้านพื้นถิ่น ชุมชนเก่าๆ หลายๆ แห่ง ทำให้มีการสร้างองค์ความรู้เรื่องของ ‘4 รู้’


สร้างความตระหนักให้ชุมชน ด้วย ‘หลัก 4 รู้’

ดร.สมนึก กล่าวว่า “หลัก ‘4 รู้’ ผมไม่ได้คิดขึ้นเองหรอกนะครับ เป็นตำราฝรั่ง ผมก็พัฒนาให้เป็นตำราไทย ให้ชุมชน มีเรื่องของ 4 รู้
“รู้ที่หนึ่ง คือ รู้จักตนเอง หมายถึงการรู้จักอัตลักษณ์ของชุมชน
รู้ที่สอง คือ รู้ว่าชุมชนมีมรดกอะไรบ้างทางธรรมชาติ และมีมรดกอะไรบ้างทางวัฒนธรรม เช่น ชุมชนประมง มรดกทางธรรมชาติของเขาก็คือท้องทะเล กุ้งหอยปูปลาต่างๆ มรดกทางวัฒนธรรม ก็คือ มีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ เช่น บ้านพื้นถิ่นต่างๆ อุปกรณ์ในการทำประมงเก่าๆ ที่ไม่ใช่แบบเรืออวนรุนอวนลากซึ่งเป็นประมงทำลายล้าง แต่เราให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้าน ประมงพื้นถิ่น รวมไปถึง วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของเขาด้วย
รู้ที่สามคือ รู้จักปัญหา หมายถึง รู้ในสิ่งที่มากระทบกับสองรู้ ที่กล่าวไปข้างต้น
รู้ตัวที่สี่ คือ รู้อนาคต รู้วิธีแก้ไขปัญหา

“ผมพยายามทำให้ชาวบ้านเข้าใจอย่างง่ายๆ ทำให้เขามีการอนุรักษ์ และการพัฒนา ซึ่งในเวลาต่อมาเรารู้จักกันในคำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’

แล้วด้วยความที่ผมเคยเรียน MBA ด้านการเงิน ซึ่งช่วยผมได้มากเลย เนื่องจากผมจะช่วยพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ช่วยคำนวณว่า เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอดได้ และมีกำไร เช่น บางคน เขาไปจับปลาเยอะ ยอดขายได้เยอะก็จริง แต่เมื่อคุณจับปลาเยอะ Supply เยอะ มีปลาเยอะ แต่ยิ่งมีเยอะมากเท่าไหร่ แล้วคนซื้อน้อยลง ราคามันก็ตก ทำไมเราไม่เปลี่ยนเป็นการจับปลาที่ไม่ต้องมีจำนวนเยอะมาก แต่จับให้หลากหลาย แตกต่างกัน ผู้ซื้อก็มาซื้อในราคาที่สูง Demand กับ Supply มัน Balance กัน 

“รวมทั้งสอนการทำบัญชีครัวเรือนต่างๆ ผมก็เข้าไปให้ความรู้ครับ แล้วต่อมาก็มีการคิดค่าเยียวยาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น สามารถคิดคำนวณได้ ผมก็นำเอาความรู้ทางด้านการเงินมาคิดว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ค่าเสียหายทางสุขภาพว่าคิดออกมาเป็นจำนวนเงินได้อย่างไร
ซึ่งภายหลังมีคำเรียกกันว่า ‘ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ’ ซึ่งไม่ใช่แค่เชื้อโรคอย่างเดียว แต่รวมถึงสารเคมีต่างๆ จากโรงงานที่ถือว่าเป็นเชื้อโรคอย่างหนึ่งด้วย เป็นเชื้อโรคที่มาสู่ชุมชน
ผมก็สั่งสมประสบการณ์ทำงานเหล่านี้มาหลายสิบปี ปัจจุบันนี้ ผมก็อายุ 51 ปีพูดง่ายๆ เป็นวิศวกรมา 30 ปี แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องต่างๆ เหล่านี้เรื่อยมา” ดร.สมนึกระบุ
หลักคิด 5 ร่วม สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

ดร.สมนึกกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากหลัก ‘4 รู้’ แล้ว ยังมีหลักคิดเรื่อง ‘5 ร่วม’ ที่น่าสนใจยิ่ง
5 ร่วม ประกอบด้วย 1.ร่วมกันริเริ่ม คือตัวแทนของแต่ละฝ่ายระหว่างชาวบ้านและโรงงาน มาริเริ่มพูดคุยกัน การพูดคุยกันอย่างสันติวิธีย่อมมีทางออก แต่ต้องมีพื้นที่กลางในการพูดคุย
2.ร่วมกันรับรู้ คือรับรู้ปัญหาและรับรู้ความรู้สึกของกันและกัน เช่น โรงงานอาจมีความจำเป็นที่ไม่สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ เพราะไม่มีเงิน ขณะที่ชาวบ้านก็บอกว่า โรงงานต้องเปลี่ยน หากไม่เปลี่ยนจะอันตรายกับสุขภาพ อย่างน้อยคือต้องรับรู้ปัญหาซึ่งกันและกัน
3.ร่วมกันเปิดใจ ว่าเป็นเพราะอะไร แล้วจะมีเงินเมื่อไหร่ ชาวบ้านจะทนได้ไหม มีวิธีป้องกันแบบชั่วคราวหรือไม่
4.ร่วมกันสร้างสรรค์ คือ คิดวิธีว่าในระยะฉุกเฉินทำอย่างไร ระยะสั้น ระยะยาว ทำอะไร เรื่องบางเรื่องเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีทางลงตัวได้ แต่ถ้าเรานำเอาปัญหาความขัดแย้งนั้นเป็นศูนย์กลาง แล้วทุกคนหันมามองความขัดแย้งที่อยู่ตรงกลาง เราก็จะเป็นพวกเดียวกัน ไม่แบ่งข้าง แล้วความขัดแย้งก็จะมีทางออก
5.ร่วมกันเปลี่ยนแปลง

ดร.สมนึกกล่าวว่า หลัก ‘5 ร่วม’ นี้ มาจากที่เคยอ่านตำราของ Adam Kahane (อดัม คาเฮน) แล้วได้มีโอกาสเจอกับคุณอดัม คาเฮน

“เขาก็เป็นคล้ายๆ กับผมครับ คือเป็นวิศกร ที่ทำงานเกี่ยวกับการมองภาพอนาคต เขามีเทคนิคที่จะทำเรื่องพวกนี้ คือการมองภาพอนาคตเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ผมก็มีโอกาสได้ทานข้าว ได้พูดคุยกับเขา แล้วก็ได้หลัก 5 ร่วมนี้ขึ้นมา อย่างค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ได้นำเอาไปใช้ในหลายๆ ที่เรื่อยมาครับ” ดร.สมนึกระบุพร้อมยกตัวอย่างการใช้หลัก 5 ร่วม อาทิ เมื่อต้องไปเจรจากับโรงงานว่าอย่าขยายเพิ่มเลย หรือโรงงานนี้เปลี่ยนอุปกรณ์ได้ไหม ส่วนโรงงานนี้ต้องปิดนะ เพราะอันตรายมาก ซึ่งตามหลักการแล้ว อุบัติเหตุ อุบัติภัย ล้วนสามารถป้องกันได้ แต่โรงงานต่างๆ หลายแห่งเหล่านี้ ไม่ว่าบนบกหรือกลางทะเล เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมัน แท่นขุดเจาะก๊าซ เขาก็ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ดร.สมนึกจึงชวนเขามาเรียนรู้เรื่อง 5 ร่วม
หรือในกรณีโรงงานแห่งหนึ่ง อยู่ติดกับชุมชน สร้างปัญหามามากมาย เราจะแก้ไขปัญหาร่วมกันยังไง จากที่เป็นศัตรูกันมานาน

“แม้แต่ตัวอย่างที่บ้านผมเอง ซึ่งมีท่าเรือแหลมฉบัง ทางโครงการก็ทะเลาะกับชาวบ้านตั้งแต่เวนคืนในปี พ.ศ.2521 กระทั่งสร้างเสร็จเฟส 1 กว่าจะได้ค่าเยียวยาก็ 9 ปี เวนคืนสองพันกว่าไร่ คนเดือดร้อนเยอะ เมื่อมีการเวนคืน แล้วสร้างท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ดินก็ขึ้นราคาหมด แล้วชาวบ้านกว่าจะได้ค่าเวนคืนก็ 9 ปี ไม่สามารถไปซื้อที่ได้ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยก็ขึ้น สุดท้าย ก็มีประมาณ 200 ครอบครัว ต้องไปอาศัยอยู่ที่ป่าช้าของวัดที่บางละมุง นี่ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่าง ผมก็เข้าไปให้ความรู้ว่าต้องช่วยเหลือกันยังไง” ดร.สมนึกระบุ


กำเนิด EEC Watch

ไม่เพียงหลักคิดที่น่าสนใจดังที่กล่าวมา นักวิชาการผู้นี้ยังบอกเล่าถึงการทำงาน ในบทบาทผู้ร่วมก่อตั้ง EEC Watch (กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ) อย่างน่าสนใจว่า

“ประวัติยาวมากเลยครับ สมัยก่อน เราทำเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ซึ่งเครือข่ายเพื่อนตะวันออกเกิดขึ้นจากการที่มีปัญหาใน Eastern Seaboard มีโรงงานเยอะ มีเรื่องน้ำเสีย ขยะอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็มารวมตัวกัน ตอนนั้น ส่วนใหญ่ เราจะไป ‘ไฝว้’ ( หัวเราะ ) ไปประท้วง ไปยื่นหนังสือ ไปยกป้าย แล้วก็มีบางที บางคน ซึ่งสุดท้ายก็ถูกซื้อตัวไปอยู่กับโรงงานบ้าง บางคนก็ท้อถอย ไม่อยากจะสู้แล้วบ้าง 

“กระทั่งมาถึงปี พ.ศ.2555 ซึ่งมันเกิดความเดือดร้อนกันหมดเลย พูดง่ายๆ ว่าสมัยก่อน เดือดร้อนเฉพาะชลบุรี ระยอง ต่อมาโรงงานกระจายตัวไปทั่วตะวันออก ทั้งสระแก้ว ก็เดือดร้อน จันทบุรีก็เดือดร้อน ทั้งยังมีปัญหาการแย่งชิงน้ำกัน มีอุตสาหกรรมขยะไปตั้งอยู่สระแก้วและปราจีนบุรี
ส่วนที่ฉะเชิงเทรา จากเมื่อก่อนเป็นพื้นที่เกษตร จู่ๆ ก็กลายเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานคร และกลายเป็นที่ทิ้งกากขยะอุตสาหกรรมบ้าง โดยเป็นการลักลอบทิ้ง

“รวมถึงมีการถมทะเล มีการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 ซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้างนะครับ ก็มีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผมก็ชวนชุมชนลุกขึ้นสู้โดยใช้หลักวิชาการที่เอาไปพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนตะวันออก แล้วคุยกันจนตกผลึกทำวาระเปลี่ยนตะวันออก คือ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ แล้วจะเอาอย่างไร ต้องตอบให้ชัดเจน แล้วเราเริ่มมีการจับมือกัน คือถ้ามีกลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่เราคุยด้วยได้ เราก็คุย บนหลักการ 5 ร่วม ก็พยายามที่จะคุยกัน

“มีภาคประชาสังคมไหนที่จะมาช่วยเราได้บ้าง เราก็ชวนเขามา เช่น มี คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. เราก็รวมพลังกลุ่มเหล่านี้เข้ามา และ NGO (Non-Governmental Organizationsองค์กรพัฒนาเอกชน ) กลุ่มต่างๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EnLAW ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องมลพิษ ต่างๆ รวมถึง Greenpeace ที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมสากล ก็เข้ามาร่วมกัน แต่เราไม่ได้ร่วมกันแบบเป็นองค์กรเดียวกัน แต่เรารวมกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ ที่ทำงานร่วมกัน

“ต่อมา ในปี พ.ศ.2560 ก็มีเรื่องของ EEC (The Eastern Economic Corridor) ขึ้นมา เป็นคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ) ก่อนจะเกิด EEC Watch เราก็ต้องยอมรับว่าในปี พ.ศ. 2557 เกิดรัฐประหารใช่ไหมครับ ซึ่งก่อนจะมีรัฐประหาร คือรัฐบาลประชาธิปไตย คือรัฐบาลปู ( ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ) ก็จะมีโครงการพัฒนาต่างๆ แต่ก็พอจะต่อสู้ได้ในเชิงกฎหมายพลเรือน

“ทว่า เมื่อเป็น คสช. ทุกอย่างเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่เราเรียกกันว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 แล้วมีมาตรา 44 ที่เราเรียกว่า ‘ม. 44 พ่อทุก’ถาบัน’ ( หัวเราะ ) ที่สามารถจะประกาศอะไรก็ได้ หลายอย่างจึงกลายเป็นทั้งเร่งรัด ยกเว้น หย่อนยาน ช่วงนั้นที่โดนกันเยอะก็เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัดของประเทศไทย
ช่วงนั้น ผมก็ทำงานร่วมกับพี่กุ้ง ( หมายเหตุ : ‘พรพนา ก๊วยเจริญ’ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ) เมื่อมีความเดือดร้อน ใน จังหวัดตาก จังหวัดเชียงราย หรือจังหวัดที่เขาต้องการเอาที่ดินของผู้คนไป ซึ่งผู้คนก็ต่อสู้ โดยในการต่อสู้ต้องใช้องค์ความรู้ เราก็เข้าไปให้ความรู้ โดยพี่กุ้ง ( หมายเหตุ : ‘พรพนา ก๊วยเจริญ’ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ) กับทีมงานก็ลงพื้นที่ไปด้วย หรือ พี่แย้ ( หมายเหตุ : ‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือ CPCR ( The Center for Protection and Revival of Local Community Rights ) ก็มาช่วย เรียกว่าเครือข่ายเรากว้างขวางมากขึ้น หรือหากทางใต้มีปัญหา ก็มาดูงานทางภาคตะวันออก แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน” ดร.สมนึกระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

เมื่อมีคำสั่ง คสช 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC Watch และเครือข่ายก็เชิญ สำนักงาน EEC ที่ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับคำสั่ง คสช. ที่ 2/2560 โดย EEC Watch และเครือข่ายเชิญตัวแทน สำนักงาน EEC เข้ามาพูดคุย ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในช่วงแรกตกลงตอนแรกว่า จะมีการวางแผน มีการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ ซึ่งทางภาคประชาชนพยายามผลักดันกฎหมายเรื่องนี้มานาน ตั้งแต่ก่อนจะมี คสช. เนื่องจากในประเทศที่พัฒนาแล้วเขามี
เป็นข้อมูลพื้นฐาน เช่น หากโครงการใดมาลงในพื้นที่ แล้วขัดกับข้อมูลพื้นฐาน ขัดกับความปลอดภัยต่อทั้งต่อตัวชุมชนเองและกิจการที่จะมาตั้งในพื้นที่ด้วย ต้องมีกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่ต้องมารับปัญหาในอนาคต ทว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เกิด จากนั้น จึงมีการก่อตั้ง EEC Watch ขึ้นมา

“เมื่อกฎหมายดังกล่าวไม่เกิด เราก็กลับมาคิดกันเลยว่า เราต้องมี EEC Watch จากเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ที่ดูแล 8 จังหวัดภาคตะวันออก คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี แล้วก็นครนายกด้วยครับ
ซึ่งเราก็ไม่ได้ ‘Watch’ เฉพาะในพื้นที่ EEC อย่างเดียว เพราะปรากฏว่าเมื่อดูเรื่องน้ำ ก็มีการไปนำน้ำจากจันทบุรีมา หรือเรื่องขยะและกากอุตสาหกรรม ก็จะมีการกำหนดให้ปราจีนบุรีและสระแก้ว เป็นที่จัดการกากอุตสาหกรรม เราจึงต้อง ‘Watch’ ทั้งหมดเหล่านี้” 
ดร.สมนึกระบุ


จับตา สารพัดเมกะโปรเจ็กต์

ดร.สมนึกกล่าวว่า “เราเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ จาก 5 เมกะโปรเจ็กต์ ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิด EEC Watch ขึ้นมา การต่อสู้ค่อนข้างลำบากเพราะยังไม่มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว รัฐบาล คสช. ก็กลายเป็นรัฐบาลพลเรือน แม้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เราก็มีฝ่ายค้านใช่ไหมครับ
เราก็คุยกับทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพราะเราไม่ได้มองว่า ใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู แต่เราใช้คำว่าพันธมิตร มารวมตัวกันหลวมๆ ช่วยกันทำงาน

“เราก็ชวนให้ตั้งกรรมาธิการ มาเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ใน EEC แต่ก็ไม่สามารถที่จะโหวตผ่านได้ พูดง่ายๆ ผลประโยชน์ EEC นั้นใหญ่มาก คือเบื้องหลัง EEC ถ้าพูดตรงๆ นะครับ มันเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ที่มาจากประเทศจีน One Belt One Road แล้วต่อมาเขาก็มองว่าคำนี้ของเมืองจีน มันค่อนข้างจะครองโลก เขาก็เปลี่ยนมาเป็น เส้นทางสายไหม แห่งศตวรรษที่ 21 (New Silk Road Economic Belt) มีการเดินเรื่องรถไฟจากจีนไปทั่วโลก ทำเรื่องถนน เชื่อมจากจีนไปทั่วโลก เรือก็เชื่อมจากจีนไปทั่วโลก มีท่าเรือต่างๆ ของประเทศไทย ก็เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการทำ Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR) แล้ว EEC ก็เกิดขึ้นมา ในปี ค.ศ. 2017 พลเอก ประยุทธ์ ก็ไปงาน BRI ของประเทศจีนด้วย และไปเซ็น MOU กับเขา เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ของประเทศจีนไปโดยปริยาย” ดร.สมนึกระบุ
และอธิบายว่าเมื่อเป็นเรื่องที่ไปผูกกับเมกะโปรเจ็กต์ก็เนื่องมาจากจีนต้องการแบบนี้ ซึ่งก็มีเรื่องของรถไฟความเร็วสูงในเฟสแรก

โดยรถไฟความเร็วสูงจะผ่าน EEC หรือวิ่งจากดอนเมืองมาสุวรรณภูมิ แล้วไปจบที่อู่ตะเภา แล้วสุดท้ายบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของไทย และบริษัทอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งใหญ่ของจีน ก็ประมูลโปรเจ็กต์นี้ได้ เขาก็ต้องสร้างรถไฟความเร็วสูง EEC Watch ตรวจสอบพบว่ารถไฟนี้จะผ่านที่ของประชาชนยังไง

ปรากฏว่า เมื่อครั้งที่ไทยเคยสร้าง Airport Rail Link วิ่งจากลาดกระบัง เข้าไปที่พญาไท โดยสมัยก่อนมีการเวนคืนที่ตรงกลางไป ส่วนพื้นที่ข้างๆ เขาไม่มีการเวนคืน แต่ปรากฏว่าเมื่อเป็นรถไฟความเร็วสูง มีการเอาพื้นที่ไปหมดเลย ที่ข้างๆ ก็เวนคืนด้วย ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ เบื้องหลังหรือไม่นั้น ดร.สมนึกระบุว่าขอทิ้งเป็นคำถามไว้ ซึ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงโปรเจ็กต์ที่หนึ่ง
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต…ในนามแห่งการพัฒนา

ดร.สมนึกกล่าวว่า โปรเจ็กต์ที่สองก็คือการถมทะเล ใน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ซึ่งต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยต้องศึกษาร่วมกัน โดยเจ้าของโครงการคือท่าเรือแหลมฉบัง และภาคประชาชนก็ตั้งกรรมการร่วมกัน สุดท้าย จึงมีการก็เสนอแบบของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ว่า ถ้าทำตามแบบของภาคประชาชนนั้น ภาคประชาชนจะไม่เอาค่าเวนคืนเลย ซึ่งไปถึงขั้นตกลงกัน และเป็นไปด้วยดี
แต่แล้ว EEC ก็เกิดขึ้นมา และมีแบบเฉพาะเป็นแบบภาครัฐ 

สุดท้าย ภาครัฐจึงบอกว่ายอมจ่ายค่าเยียวยา แต่ต้องสร้างตามแบบภาครัฐ ภาคประชาชนจึงมาตกผลึกกันว่า หากจะจ่ายค่าเยียวยาก็ต้องมีการคำนวณค่าเยียวยาอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าเรือประมง แผงหอย หรืออาชีพต่อเนื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการประมง ต้องได้รับค่าเยียวยาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากถมทะเลไป 4 ปี แล้วจบโปรเจ็กต์ ภาคประชาชนจะคิดเป็น 6 ปี

“เขาบอกว่า 6 ปี เขาไม่มีเงินจ่าย เราบอกว่า เราให้ผ่อนได้ ผ่อนครั้งละปี เป็นเวลา 6 ปี หลังจากนั้น เมื่อจบแล้ว ต้องช่วยเราส่งเสริมอาชีพ ต้องช่วยเราเพาะเลี้ยง ช่วยเราทำเรื่องตลาดปลาต่างๆ ซึ่งการท่าเรือก็รับไปหมด และเขามีค่าเยียวยาให้เราหกปี เป็นจำนวนเงิน 2,100 ล้านบาท

“ส่วนโปรเจ็กต์ที่สาม คือการถมทะเลมาบตาพุด โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยการดำเนินการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งไม่ได้มีงบประมาณสำหรับเป็นค่าเยียวยาแก่ประชาชน ดังนั้น ภาคประชาชนในแถบมาบตาพุด จึงไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงไม่มีการจ่ายค่าเยียวยา ซึ่งประชาชนก็ร้องเรียนดังที่เคยปรากฎเป็นข่าว

“ในภายหลัง ทั้งผมและ EEC Watch รวมถึงชาวบ้านที่แหลมฉบัง บางละมุง ที่รู้วิธีการคำนวณค่าเยียวยาก็ไปเป็นเทรนเนอร์ให้ชาวบ้านที่มาบตาพุด แล้วเมื่อต้น เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2565 ก็เกิดน้ำมันรั่วอีก ซึ่งเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เคยเกิดมาแล้วเมื่อ 9 ปีก่อน จากบริษัทน้ำมันของประเทศไทยบริษัทหนึ่ง เราก็เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งสุดท้ายต้องไปฟ้องศาล และค่าเยียวยาก็ได้มาน้อยนิด

“กรณีน้ำมันรั่ว เราก็สอนเขาทำงานคำนวณ ว่าน้ำมันรั่วจะคิดเงินยังไง หรือถมทะเลจะคิดเงินยังไง ต้องฟ้องศาลไหม เราก็พยายามจะไม่ให้เกิดกระบวนการฟ้อง อยากให้เขาคุยกับภาครัฐหรือเอกชนที่สร้างปัญหา” ดร.สมนึกระบุ และกล่าวว่ายังมีอีกหลายประเด็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ติดตามต่อเนื่อง อาทิ การสร้างท่าเรือพาณิชย์สัตหีบที่มีการไล่ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราชพัสดุ ใครไม่ยอมก็มีการบีบบังคับ


เมื่อ EEC Watch วิพากษ์ EEC

ดร.สมนึกกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีกรณีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Terminal 3) ที่ EEC Watch ตั้งคำถาม นอกจากนั้น ยังรวมถึงการติดตามผังเมือง ในพื้นที่ EEC โดยช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ.2019 ทั้ง EEC Watch และเครือข่ายภาคประชาชน หารือกันว่า อาจฟ้องศาลเพื่อหยุดผังเมืองนี้ให้ได้ เนื่องจาก ข้อมูลในผังเมืองนั้น ทำให้เห็นว่า 20 ปีข้างหน้า พื้นที่อุตสาหกรรมจะมีเพิ่มขึ้นประมาณ 66% ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นชุมชนปกติ หรือชุมชนดั้งเดิม แต่หมายถึงชุมชนที่เชิญชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน แล้วได้สิทธิต่างๆ นั้น สามารถมีสิทธิในการเช่าซื้อที่ดินหรือคอนโดมิเนียม รวมทั้งบ้านจัดสรร ต่างๆ ได้เป็นเวลายาวนาน

ในสัญญาแรกคือ 50 ปี ถ้าชาวต่างชาติต้องการต่อสัญญา ก็สามารถต่อได้อีก 49 ปี รวมระยะเวลาแล้ว ต่างชาติสามารถเช่าซื้อได้ทั้งหมด 99 ปี

ดังนั้น การประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการอยู่อาศัย มีการเพิ่มพื้นที่ไปอีก 33% ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมลดไปอย่างน้อย 15%

สาเหตุพื้นที่เกษตรกรรมลดน้อยลง เนื่องจาก เมื่อพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ในทะเลก็เป็นผังสีม่วง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมได้ กล่าวคือเมื่อถมทะเลเพิ่มไป คล้ายๆ สิงคโปร์ เพิ่มพื้นที่ไปเรื่อยๆ ก็ยังมีการถมทะเลที่มาบตาพุด ที่แหลมฉบัง รวมถึงโครงการอื่นๆ ในอนาคต อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งไปถึงสุวรรณภูมิ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ไปถึงกรุงเทพคือดอนเมือง นั่นย่อมหมายความว่า กรุงเทพฯ และสมุทรปราการก็เป็น EEC ทว่า เมื่อภาคประชาชนสอบถามไปยัง สำนักงาน EEC ก็บอกว่า เปล่า เพียงแต่ประกาศแนวรถไฟทั้งหมดเป็นเขต EEC ดังนั้นเขต EEC ที่อยู่ตามแนวรถไฟทั้งหมดในสมุทรปราการและในกรุงเทพฯ ก็เป็น EEC ไฮสปีดเทรนอีกด้วย

หรือกรณี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA ซึ่งเดิมเป็นที่ราชพัสดุ ก็กลายเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้

รวมทั้งกรณีพื้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา ( บางแสน ) ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 
ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics )

“เมื่อ EEC ไปอยู่ในมหาวิทยาลัย ถ้าลงทุนแล้วมันยังประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ประชาชนทั่วไปก็ดี แต่ถ้ายังประโยชน์แก่นักลงทุน ต่างชาติอย่างเดียว เราจะได้อะไรกลับมา ไม่นับว่า ต่างชาติสามารถที่จะนำแรงงานข้ามชาติเข้ามา คือ เขาจะจ้างแรงงานเพื่อนบ้านเรา เช่น กัมพูชา พม่า เข้ามาทำงาน โดยไม่ได้จ้างตรง ก็จ้าง Outsource ไปรับมา แล้วเขาก็ไม่ต้องจ่ายประกันสังคม ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเลย ซึ่งน่าสงสารแรงงานเหล่านี้มาก ถ้าเขาแคนเซิลโปรเจ็กต์ หรือโปรเจ็กต์เสร็จสิ้นแล้ว แรงงานเหล่านี้เขาจะไปไหน สิทธิแรงงานต่างๆ ของเขาจะเป็นอย่างไร นี่ก็เป็นประเด็นที่ EEC Watch ของเราเฝ้าดูอยู่และทำวิจัยเรื่องนี้เช่นกัน” 
ดร.สมนึกระบุ ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า

“คำว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ มันไม่ควรจะมีในประเทศไทย ให้เป็นแบบปกติก็พอแล้ว เพราะว่าในประเทศอื่นที่เขาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น พม่าช่วงก่อน รัฐประหาร หรือในลาว กัมพูชา สุดท้ายก็กลายเป็นมีคนจีนเข้ามาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเดิมทีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เกิดขึ้นมาจากเสิ่นเจิ้น ในประเทศจีน แล้วมันก็ไหลมาที่นี่ แต่ที่เกิดจริงๆ มันเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1970 กว่าๆ และเกิดที่สนามบินแห่งหนึ่งของไอร์แลนด์ คือ Shannon Airport ผมเองก็เคยทำงานที่ไอร์แลนด์ แต่ทำงานอยู่ที่อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งที่ไอร์แลนด์ทำก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเลิกไป 

“แต่ที่จีน เขาทำสำเร็จที่เสิ่นเจิ้น โดยเติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นคนเริ่ม แล้วก็คิดว่าจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เมื่อมาทำที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา และประเทศไทย มันไม่ได้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะกลุ่มจีน เขาก็มาเป็น Supply Chain ของเขา ก็คือมีแต่พวกเขา 

“เช่น หากเขาจะไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง เขาจะบอกเลยว่า นิคมของเขาต้องเป็นคนจีน 100% และต้องเป็น Supply Chain ของเขา ประเทศอื่นจะเข้ามาไม่ได้ บริษัทอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเขา เข้ามาไม่ได้ เขากลัว เดี๋ยวถูกดูดเทคโนโลยี ดูดความรู้ หรือในนิคมแห่งหนึ่งที่ระยอง ก็มีการกำหนดเลยว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่เป็นนิคมของจีน เรียกว่าเป็นโรงงานของจีนในนิคมนั้น ผมก็ตั้งคำถามว่า จะเกิดการ Transfer ยังไง มี Know-how ยังไง

“ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้ช่วยตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องประกาศอะไรพิเศษ ขอแบบปกติธรรมดาก็พอครับ”

เป็นคำตอกย้ำอย่างตรงไปตรงมาของผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch
ผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสั่งสมองค์ความรู้ในหลายบริบทที่เกี่ยวข้องมาอย่างยาวนาน

…………

Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : ดร. สมนึก จงมีวศิน

Exit mobile version