ไม่มีหนังสือ-ร้องไห้
ไม่มีเบียร์-ตาย ตาย ตาย
โฆษณางานหนังสือซึ่งเห็นแล้วแสนจะครื้นเครง ยามที่โรคระบาดระลอกใหม่ยังไม่สร่างก็คือ “โน บุ๊ค-ไอ คราย, โน เบียร์-ไอ ดาย” ชวนให้ทั้งคอหนังสือสายประจำกับคอหนังสือสายจร ครึ้มอกครึ้มใจ มือหนึ่งถือกระป๋องเบียร์ อีกมือถือหนังสือดื่มด่ำไปกับบรรยากาศที่หาได้ยากยามนี้ เป็นงานหนังสือที่สุดพิเศษจริงๆ
นั่นคือเทศกาลหนังสือ บุ๊ค แอนด์ เบียร์ ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ชั้นจี ตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์ (สถานีรถ เอ็มอาร์ที เพชรบุรี) ระหว่างเวลา 11.00-21.00 น. ของทุกวัน ให้บรรดานักอ่านได้เพลิดเพลินเจริญใจ
งานนี้สำนักพิมพ์มติชนพร้อมเพื่อนสำนักพิมพ์อีกกว่า 50 แห่ง พร้อมเปิดกระป๋องเบียร์รอรับ เพื่อนนักเขียนก็รอชนกระป๋องกับนักอ่านให้สำราญทั่วกัน
พร้อมหนังสือสะพรึบสะพรั่งนานาประเภท ไม่ว่าประวัติศาสตร์ สารคดี สังคม วิทยาศาสตร์ หนังสือแปล นิยายไทย นิยายวาย หนังสือเพื่อคนอกหัก หนังสือครอบครัว หนังสือเด็ก หนังสือพัฒนาตนเอง ฯลฯ ล้นแผงแน่นอน
แถมตามธรรมเนียม ยังมีการเสวนา สนทนา เนื้อหาสำคัญๆ น่ารู้จากหนังสือนานาประเภท ให้ฟังไป ดื่มไป คึกคักทั้งผู้คุยและผู้ฟังให้รื่นรมย์ทั่วกัน
งานนี้อาจมีเล่มหนึ่งที่สะดุดตาสะดุดใจอยู่หน่อยๆ ก็คือ ความเรียงว่าด้วยประชาธิปไตยติดอาวุธ ของอาจารย์ ปวริศร เลิศธรรมเทวี เพราะอาจสงสัยได้ว่า อะไร, ประชาธิปไตยติดอาวุธได้ด้วยหรือ ไหนว่าประชาธิปไตยต้องอหิงสา ต่องไม่ใช้ความรุนแรงไง ไม่ใช่-ไม่ใช่, ไม่น่าจะใช่ ลองไปอ่านดูดีกว่า
เป็นความเรียงที่ย้อนระบอบเส้นทางการปกครองของตะวันตก สู่ระบอบประชาธิปไตยไทย ที่ล้มเหลวล้มลุกคลุกคลาน (ส่วนมากคลาน) มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้คนไม่น้อยเกิดความไม่เชื่อมั่นหรือถูกทำให้ไม่เชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยไป จึงได้คำตอบมาว่า ประชาธิปไตยก็จำเป็นต้อง “ติดอาวุธ”
เป็นงานวิชาที่เสนอแนวความคิดดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการสร้างกลไกทางรัฐธรรมนูญ และกระบวนการทางกฎหมายเพื่อดำรงระบอบให้คงอยู่ และป้องกันมิให้ระบอบถูกทำลายลง โดยย้อนแนวคิดปรัชญาการเมืองจากตะวันตก ว่ามีลักษณะ ขอบเขต และการปรับใช้อย่างไร มีทั้งแนวคิดกรณีพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง กรณีประชาธิปไตยที่ใช้อาวุธในการป้องกันประเทศ เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวของต่างประเทศ ก่อนเปรียบเทียบกับไทยว่า 90 ปีที่ผ่านมานั้น ไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญและกลไกทางกฎหมายเสมอมา แต่ปล่อยให้กองทัพกุมอำนาจผ่านการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าไปอย่างไร คนไทยต้องตระหนักแล้ว
● หนังสือความคิดของคนไทยผู้รักอิสรภาพยิ่งยวดที่คนรุ่นหนึ่งรู้จัก แต่ลูกหลานสืบมายังไม่รู้จักบรรพบุรุษผู้ทรงคุณอีกนามอย่างหลากหลายพอ รวมงานเขียนคัดสรรของจำกัด พลางกูร วีรบุรุษเสรีไทยผู้ปฏิบัติภารกิจในการเจรจากับสัมพันธมิตรเพื่อปกป้องเอกราชของไทย ตัวอย่างที่ดีและจุดเริ่มต้นที่ดีที่เป็นจุดเริ่มต้นให้โลกเห็นว่าคนตัวเล็กๆ หนึ่งคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลก สามารถทำเพื่อชาติ เพื่อมนุษยธรรมได้ ซึ่งมนุษย์ทุกๆ คนก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
เป็นปรัชญาของสยามใหม่ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง ผู้เขียนเขียนถึงรากวัฒนธรรมไทย จีน อินเดีย พราหมณ์ พุทธวัฒนธรรม พราหมณ์วัฒนธรรม เขียนถึงพระพุทธเจ้าและพุทธปรัชญา เขียนถึงโสกระติสและพระเยซู และยังเขียนถึงขั้นแห่งอารยธรรมอีก 3 ตอนที่พลาดไม่ได้ ปิยศิลป์ บุลสถาพร แปลจากงานต้นฉบับภาษาอังกฤษ ให้อ่านกันชัดๆ
● เศรษฐศาสตร์กับการเมืองแยกกันไม่ออก ไม่เพราะเศรษฐศาสตร์หรือที่ทำให้การเมืองผันผวน และไม่เพราะการเมืองหรือ ที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ไม่เดินไปอย่างที่สมควรเดิน เราท่านทั้งหลายควรรู้ เศรษฐศาสตร์การเมืองเบื้องต้น ไว้บ้าง หนังสือน่าอ่านเล่มนี้เป็นเล่มสำคัญ เขียนโดย เออร์เนสท์ มันเดล แปลโดย กนกศักดิ์ แก้วเทพ เพื่อได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเนื้อหา
ผู้เขียนเป็นนักวิชาการมาร์กซิสต์ชาวเบลเยียมอันโด่งดังในศตวรรษที่ 20 มีผลงานมากมาย และผู้แปลก็ถ่ายทอดจากภาษาฝรั่งเศสต้นฉบับ เพื่อเข้าใจแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของมาร์กซ์อย่างกระจ่าง ไม่ว่าโดยปรัชญาที่อาจซับซ้อนในการที่แก้ไขปัญหาของชนชั้นแรงงาน แต่พูดถึงเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันที่เห็นภาพซึ่งสามารถเข้าใจได้ เพื่อเห็นการเกิดของระบบทุน กับการต่อสู้ทางการเมือง และการเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ใช้แรงงานทั้งปวง
อ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นการติดอาวุธ (สัปดาห์นี้ติดอาวุธเยอะหน่อย) ความคิดสำหรับการปฏิบัติการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงทางสังคมต่อไป
● นิตยสารรายเดือนที่ (ขอประทานโทษ หากจะพูดว่า) ไม่อ่านไม่น่าจะได้ อิอิ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม ว่าด้วย พระพุทธบาท สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาและการเมืองสมัยอยุธยา จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชปรารภเรื่องพระพุทธบาทสระบุรีว่า “ผู้ที่รู้แท้เขารู้พื้นเพพระบาท เพราะเรื่องต้นเกิดมาแต่เมื่อไหร่ พระบาทนั้นเป็นของคนทำฤาพระพุทธเจ้าทำ…” แต่ในสมัยอยุธยา พระบาทที่สระบุรีถูกสถาปนาให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเชื่อมั่นศรัทธาโดยไม่สงสัยว่า ทำไม?
หาคำตอบ ที่มาของความสำคัญ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระบาทสระบุรี การบูชารอยพระพุทธบาทสมัยอยุธยาสะท้อนนัยการเมืองอย่างไร เมื่อพระพุทธบาทถูกยกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักร ต้องอ่านเพื่อตอบความสงสัยใคร่รู้
ยังมีเรื่องที่น่ารู้อีกมาก เช่น เครื่องราชบรรณาการล้ำค่า จากกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงลังกา ตามรอยพระพุทธบาททองคำสมัยพระเจ้าบรมโกศถึงลังกา ย้อนอดีตสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับพระพุทธบาท กับบทสวดสรรเสริญลายลักษณ์พระพุทธบาท
อ่านและชมภาพเก่า กรุงสยามต้อนรับสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯเยือนปารีส ปี 2503 เมื่อสื่อมวลชนต่างชาติจารึกภาพและถวายพระสมัญญาพระพันปีหลวงว่า “พระราชินีผู้เลอโฉมที่สุดในปฐพี” อ่านแนวคิด “หญิงมาดใหม่” ในการปลดแอกสตรีช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ ค้นหาคำตอบในสังคมตะวันตกแล้วย้อนมองไทยสมัยใหม่ เมื่อสตรีในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากจารีตประเพณีอย่างน่าสนใจเช่นเดียวกัน
● นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวรายสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับว่าด้วย สมรภูมิไร่กล้วย เรื่องที่น่าสนใจก็คือประสบการณ์เกี่ยวกับผีในพระราชนิพนธ์ เรื่องผีสั้นๆ ในกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเข้มข้น เพื่อไทยประสานก้าวไกล ถล่มนโยบายกัญชาเสรี ปลดล็อกแต่ไร้การควบคุม อ่านประกาศแลนด์สไลด์ตะวันออก เผยชัดๆ ว่าทำไมต้องหนุนหาร 500 อ่านรุ่นน้องมองพยัคฆ์ 3 ป. ศึกการเมืองสะเทือนโผทหาร-ต้องจับตา
อ่านอาจารย์นิธิ สังข์ทองใจดำ ศัลยาเขียนธงทองลุยโจทย์หิน สางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว พิสูจน์ความแกร่งทีมชัชชาติ อ่านศิโรตม์เขียน ปลดแอกรัฐบาล กาแฟดำเข้มปี๋ เขียนฟินแลนด์เล็กพริกขี้หนูกับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รัสเซีย อ่านปราปต์เขียน ทางหลวงกับประชาธิปไตย คำ ผกาเขียน โควิดและภาวะใส่หน้ากากเข้าหากัน ฯลฯ
● อ่านหนังสือปลุกสมองทดลองความคิดพิชิตอวิชชา แห่งอิสรภาพของชีวิต เขียนโดย กฤษณมูรติ แปลและเรียบเรียงโดย โสรีช์ โพธิ์แก้ว วางแผงเดือนที่ผ่านมานี้เอง ถ้อยคำอันอ่อนโยนของผู้เขียนที่อาจซึมซาบหินแกร่งให้เสื่อมสลายไป ภาวะอิสรภาพจากอิฐหินดินทราย เหลือเพียงการดำรงอยู่ของปัญญา ความรัก และสันติสุข คือการภาวนาอันไร้ขอบเขตที่ยุติความเคลื่อนไหวทั้งหลาย นั่นคือความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง-สาธุ
● หนังสืออีกเล่ม ไม่ว่าจะเป็นทาสแมวหรือไม่ แต่อ่านแล้วได้ความคิดคนๆ แมวๆ ชัดเจน เหมียว เมี้ยว เหมียว วิถีแห่งเหมียว เขียนโดย จุนโกะ อิโต้ กับภาพโดย ชุนสุเกะ มินามิฮาบะ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและนักยุทธศาสตร์ กับช่างภาพ ที่มาทำความรู้จักกับแมวให้เห็นกัน แปลอบอุ่นโดย สกล โสภิตอาชาศักดิ์
เพราะแมวแม้จะถูกคนเลี้ยง แต่มีความเป็นส่วนตัว และมีอิสระยิ่ง เป็นยอดอัจฉริยะในการหาสถานที่แสนสุขสบายไว้เกียจคร้าน ซึ่งจะพบได้ในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าในซอกลับ หรือท่ามกลางแดดอุ่น นอนอยู่ริมหน้าต่างสว่างไสว
ผู้เขียนย่อยความคิดเหลาจื่อ ที่ว่าด้วยธรรมชาติ ความสงบ และชีวิต เปรียบกับวิถีแมวซึ่งไม่ทุกข์กับความเป็นไปของโลก อันเข้ากับได้กับภาพแมว 50 อิริยาบถฝีมือช่างภาพแนวหน้าที่ร่วมกันผลิตงานชิ้นนี้ ซึ่งตระเวนถ่ายภาพแมวตามเมืองต่างๆ จากฮอกไกโดอันเหน็บหนาวเหนือสุด จนถึงโอกินาวะทางใต้สุด
กลายเป็นหนังสืองดงาม อบอุ่นใจเล่มหนึ่งซึ่งไม่น่าพลาด (อีกแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นทาสแมวหรือไม่ดังกล่าว ยิ่งเป็นทาสแมวด้วยแล้ว หากพลาดไปก็ไม่ใช่ทาสจริง-ฮ่าฮ่า
ขอให้ปลอดโรค ปลอดภัย สุขใจกับแมวทุกตัวที่ผ่านมาในชีวิต เทอญ
บรรณาลักษณ์