บางแสน ชลบุรี

ตะลึง “หาดบางแสน” ปลาน็อกตายเกลื่อน น้ำทะเลสีเขียว นทท.ไม่กล้าเล่นน้ำ (คลิป)

ตะลึง “หาดบางแสน” ปลาน็อกตายเกลื่อน น้ำทะเลสีเขียว นทท.ไม่กล้าเล่นน้ำ (คลิป)

“ชายหาดบางแสน” ปลาน็อกตายเกลื่อน น้ำทะเลเป็นสีเขียว ทำนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจาก ตจว.ไม่กล้าเล่นน้ำ ด้านนักวิจัยทางทะเลเผยสาเหตุเกิดจาก “แพลงก์ตอนบลูม” ทำน้ำทะเลขาดออกซิเจน เป็นสาเหตุทำให้ปลาตาย ยันไม่เกี่ยวข่าวน้ำมันรั่ว

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี มีปลาตายเกลื่อนชายหาดบางแสน จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบบริเวณชายหาดมีปลาหลากหลายชนิดถูกคลื่นซัดมาตายเกลื่อน นอกจากนี้ยังพบนักท่องเที่ยว 1 ราย กำลังเดินเก็บปลาอยู่บนชายหาด ทราบชื่อคือ นายภันทร เสลา อายุ 36 ปี เดินทางมาจาก จ.อุทัยธานี จากการพูดคุยสอบถามเจ้าตัว เล่าว่า เดินมาเที่ยวทะเลบางแสน แต่เห็นน้ำทะเลเป็นสีเขียว จึงไม่กล้าลงเล่น พอมาเห็นปลานอนตายเกลื่อนชายหาด จึงเก็บไปตากแดดทำปลาแห้ง เก็บไว้ทำอาหารให้แมวกิน เพราะคนคงไม่กล้ากิน จึงเอาไปให้แมวดีกว่า 

ขณะที่ ร.ต.โสภณ คล่องอาสา อายุ 64 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า สาเหตุปลาตายเกลื่อนครั้งนี้ เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและน้ำมีกลิ่นแรงมาก เมื่อก่อนนานๆ จะเกิดครั้ง แต่ครั้งนี้มีมรสุมพัดเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้น้ำจืดไหลลงทะเล ทำให้ปลาน็อกน้ำตาย ส่วนข่าวน้ำมันรั่วนั้น ตนยังไม่เห็นคราบน้ำมันไหลเข้ามาในบางแสนเลย คาดว่าน่าจะมีการควบคุมเอาไว้ได้แล้ว

ด้าน นายอศลย์ มีนาภา ตำแหน่งนักวิจัยระดับปฏิบัติการ ฝ่ายวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว สาเหตุเกิดมาจากแพลงก์ตอนบลูม คือ แพลงก์ตอนพืชชนิดหนึ่งที่ชื่อ “น็อกติลูกา” ซึ่งแพลงก์ตอนพืชเหมือนต้นไม้ทั่วไปที่กลางวันจะสังเคราะห์แสง กลางคืนจะใช้ออกซิเจนเหมือนกัน ขณะเดียวกันเมื่อใช้ออกซิเจนไปเรื่อยๆ แล้ว ทำให้ออกซิเจนในน้ำหมดลง ซึ่งเมื่อวานนี้ (6 ก.ย.) ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ค่าออกซิเจนในน้ำมีค่าอยู่ที่ศูนย์ จึงเป็นเหตุผลหลักแรกๆ ที่ทำให้ปลาตาย โดยปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมในครั้งนี้ ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกี่วัน ขึ้นอยู่กับอิทธิพลอื่นๆ เช่น กระแสลม กระแสน้ำ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

“สาเหตุหลักๆ ในตอนนี้ที่ชายหาดบางแสนมีปลาตาย เกิดจากแพลงก์ตอนบลูมเป็นระยะเวลานานเลยทำให้ปลาตาย ส่วนเรื่องคราบน้ำมันนั้น ยังไม่มีข่าวเข้ามาในพื้นที่บางแสนเลย” นายอศลย์ กล่าว.

เรื่องล่าสุด