ดร.ธรณ์ เผยสาเหตุ แพลงก์ตอนบลูม บางแสน กระทบประมงและการท่องเที่ยว หนัก
ดร.ธรณ์ เปิดข้อมูล “แพลงก์ตอนบลูม” ทะเลบางแสนเมื่อไหร่น้ำทะเลจะหายเขียวเข้าสู่สภาวะปกติ หลังแพลงก์ตอนบลูมทำให้สัตว์น้ำตายและกำลังกลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงทั้งต่อการประมง และการท่องเที่ยว
จากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ “แพลงก์ตอนบลูม” ที่ทำให้ทะเลน้ำมีสีเขียว ที่ชายหาดทะเลบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นคลุ้งทั่วทั้งหาดทะเล ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือน ส.ค. ก็ได้เกิดปรากฎการณ์ แพลงก์ตอนบลูมเป็นระยะเวลาหลายวันก่อนจะจางหายไปและกลับมาอีกครั้ง
จากการตรวจสอบล่าสุด น้ำทะเลหาดบางแสน ได้กลายเป็นสีเขียวเข้ม ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเงียบเหงา นักท่องเที่ยวบางตา เนื่องจากทะเลเป็นสีเขียวและส่งกลิ่นเ้หม็น ตามข่าว
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดถึงปรากฏการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า…
คำถามสำหรับคนบางแสน-ศรีราชาในปัจจุบัน ไม่ใช่น้ำเขียวคืออะไร ? แต่ถามว่าเมื่อไหร่น้ำจะเลิกเขียว ปลาจะเลิกตาย คนจะเล่นน้ำใสๆ ได้สมที่ตั้งใจมาเที่ยวทะเล
คณะประมง มก. ร่วมกับ สสน. วิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องจากสถานีศรีราชา โดยดูจากข้อมูลย้อนหลัง บอกได้ว่าน้ำเขียวแถวนี้จะเกิดช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม
หมายความว่าขึ้นเดือนพฤศจิกายนเมื่อไหร่ น้ำจะดีขึ้น และดีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงพฤษภาคมปีต่อไป
สอดคล้องกับลมมรสุมที่พัดน้ำเขียวมาสู่ฝั่งด้านนี้ ยังเกี่ยวกับการไหลเวียนของกระแสน้ำในอ่าวไทย
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีเอลนีโญ ซึ่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนสิ้นปี อาจเกิดความแปรปรวนที่ต้องตามต่อไป
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์น้ำเขียวที่ถี่ขึ้น ค่าออกซิเจนที่ต่ำลงบ่อยๆ ทำให้สัตว์น้ำตาย ทำให้ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมกำลังกลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงทั้งต่อการประมง การเพาะเลี้ยง และการท่องเที่ยว