Site icon บางแสน

“ดร.ธรณ์” อธิบายปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ชี้เรายังทำความรู้จักกับยุคโลกร้อนทะเลเดือดได้ไม่พอ

566000007393001.jpg

“ดร.ธรณ์” อธิบายปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม ชี้เรายังทำความรู้จักกับยุคโลกร้อนทะเลเดือดได้ไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อธิบายเรื่อง การเกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่ชายหาดบางแสนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากธาตุอาหารลงทะเลมากในหน้าฝน จะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน จากนั้นจะหมดไป แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ตามลมที่พัดพามวลน้ำเข้ามา

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์อธิบายเรื่อง การเกิดแพลงก์ตอนบลูมที่ชายหาดบางแสน โดยระบุว่า “ทะเลชายฝั่งบางแสน ศรีราชา เกิดแพลงก์ตอนบลูมต่อเนื่อง จึงอยากสรุปให้เพื่อนธรณ์ทราบอีกครั้ง น้ำเขียวปี๋เกิดจากแพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนมากผิดปรกติ แพลงก์ตอนที่พบในตอนนี้ไม่มีพิษ ยังกินอาหารทะเลได้ตามปรกติ แต่น้ำเขียวไม่น่าเล่นน้ำ/ท่องเที่ยว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ออกซิเจนลดลงโดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเล บางครั้งทำให้สัตว์น้ำตาย ยังส่งผลต่อการประมงชายฝั่งและการเพาะเลี้ยง

แพลงก์ตอนบลูมเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นจากธาตุอาหารลงทะเลมากในหน้าฝน บางจังหวะมีแดดแรง กระบวนการในทะเลเหมาะสม ทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มเร็ว มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเราเพิ่มธาตุอาหารลงไป ทั้งการเกษตร น้ำทิ้ง ฯลฯ แพลงก์ตอนบลูมเริ่มก่อตัวในทะเลนอก และขยายจำนวนขึ้น จนเข้าสู่ระยะสุดท้ายบริเวณชายฝั่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดน้ำเข้าไปรวมที่อ่าวไทยตอนในแถวชลบุรี ทำให้น้ำเขียวรวมตัวอยู่แถบนั้น

ระยะสุดท้ายของแพลงก์ตอนบลูมจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ไม่กี่วัน จากนั้นจะหมดไป แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ตามลมที่พัดพามวลน้ำเข้ามา ยังมีปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดตามปากแม่น้ำได้อีกด้วย แต่สุดท้ายลมในช่วงนี้ก็พัดไปรวมที่ชายฝั่งชลบุรี เมื่อถึงช่วงปลายปี ลมมรสุมเปลี่ยนทิศ แพลงก์ตอนบลูมแถวชลบุรีอาจลดลง แต่ปีหน้าก็อาจกลับมาใหม่ตามลมมรสุม โลกร้อนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับแพลงก์ตอนบลูม ตามการศึกษาต่างประเทศที่พบว่าน้ำเขียวทั่วโลกเกิดถี่ขึ้นเรื่อย และขยายพื้นที่ไปในบริเวณต่างๆ ของโลก

เราวัดคลอโรฟิลล์ในผิวหน้าน้ำทะเลได้โดยใช้ดาวเทียม แต่ต้องทำเป็นระบบและติดต่อเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง หากเราเข้าใจกระบวนการทางสมุทรศาสตร์เพิ่มขึ้น เช่น วัดกระแสน้ำ คุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ ฯลฯ เราจะเริ่มมีความสามารถในการทำนายและแจ้งเตือน น่าเสียดายที่สถานีวัดสมุทรศาสตร์แบบดังกล่าวตอนนี้มีเฉพาะที่ศรีราชา เป็นความร่วมมือระหว่างคณะประมง มก./สสน.

ผมเคยเสนอให้มีการติดตั้งสถานีวัดสมุทรศาสตร์เพิ่มเติมไปแล้วอย่างน้อยอีก 2 ที่เพื่อให้ครอบคลุมอ่าวไทยตอนในทั้งหมด ผ่านที่ประชุมระดับชาติไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เกิด (เท่าที่ทราบ) หากเรายังไม่ทำอย่างเป็นระบบ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำได้แค่น้ำเขียวเมื่อไหร่ก็ไปตรวจสอบเหมือนอย่างที่เป็นมา เราก็ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่มีแนวโน้มว่าน้ำเขียวจะเพิ่มขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ในขณะเดียวกัน การยกระดับการบำบัดน้ำทิ้ง การปรับเปลี่ยนการเกษตรให้เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาที่ต้นเหตุ น้ำคือทุกอย่างของทะเล เมื่อน้ำมีปัญหา ทุกอย่างในทะเลก็มีปัญหา กิจการเกี่ยวกับทะเลย่อมได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะที่ แต่เป็นปัญหาในภาพรวม การแก้ไขไม่สามารถทำเฉพาะครั้งคราว แต่ต้องลงทุนลงแรงทำจริงจังต่อเนื่อง เรียนรู้เพื่อทำนายและแจ้งเตือน กำหนดเป้าในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
หากเราไม่ลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ทะเลเราก็แย่ลง กิจการเกี่ยวกับทะเลก็ได้รับผลกระทบมากขึ้น

สุดท้าย ไม่ว่าเราลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวหรือฝันอยากเป็นอะไร เมื่อน้ำทะเลสีเขียวปี๋บ่อยขึ้นและบ่อยขึ้น เราก็คงยากไปถึงฝัน โลกเราซับซ้อนมากขึ้น ตัวแปรมีมากมาย หากเราอยากอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้ประโยชน์ให้เนิ่นนาน เราต้อง “รู้จัก” ทะเลให้มากขึ้น ณ จุดนี้ เรายังทำความรู้จักกับยุคโลกร้อนทะเลเดือดได้ไม่พอครับ”

Exit mobile version