ทินกร เชาวน์ชื่น
กรุงเทพธุรกิจ
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่
ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “EEC Information Update 2021” ของหลักสูตร EEC Prime จัดโดยบริษัทพรีโม เรียลเตอร์ จำกัด ว่า อีอีซีต้องพัฒนาเมือง เพื่อรองรับแรงงานที่จะเข้ามาทำงาน เพิ่มเติมและผู้ติดตามแรงงานย้ายเข้ามา ในอีอีซีประมาณ 6 ล้านคน โดยเทศบาลเมืองแสนสุขเป็นเมืองตัวอย่างของการพัฒนา สมาร์ทซิตี้ รวมทั้งการดำเนินการจะต้องมี โครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องมีการปรับตัวเพื่อไม่ให้มีปัญหาในการพัฒนาอีอีซี
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุขไม่ได้ อยู่ในแผนการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ เทศบาลเมืองแสนสุขได้ยื่นขอตรวจรับรอง เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งได้เตรียมสมาร์ทเทคโนโลยีรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เช่น การจัดทำ สายข้อมือสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการนำร่อง ช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยชีวิตผู้สูงอายุไปแล้ว 3 คน
ดังนั้นการพัฒนาเมืองในอีอีซีจึงจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องหารือกับ อปท.เพื่อทำงานร่วมกัน และเทศบาลต้องทำความเข้าใจกับชุมชน
การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ต้องดูบริบทของ การพัฒนาเมืองในอีอีซี เพราะการดำเนินการ ทุกเรื่องเริ่มต้นที่ผังเมือง ซึ่งการพัฒนา สมาร์ทซิตี้ของเทศบาลเมืองแสนสุขเหมาะสม กับการพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยว การศึกษา โดยใช้แนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ 7 แนวทางเพื่อวางรากฐานที่จับต้องได้
เทศบาลเมืองแสนสุขได้เริ่มพัฒนา สมาร์ทซิตี้เฟส 1 ไปแล้ว เพื่อให้เมืองแสนสุข เป็นสมาร์ทซิตี้รองรับผู้สูงอายุ โดยเทศบาลเมืองแสนสุข มีจำนวนผู้สูงอายุ 7,916 ราย คิดเป็น 16.9% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นชาย 3,317 คน และหญิง 4,599 คน ซึ่งมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 398 ราย คิดเป็น 5.0%
รวมทั้งมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในพื้นที่ที่ดูแลผู้สูงอายุทั้ง 25 ชุมชน คือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลแสนสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหมือง ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล และศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ (SDC)
สำหรับการดำเนินการเฟส 2 (2563-2565) เทศบาลเมืองแสนสุขได้รับ งบประมาณในการสร้างศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อเป็นสถานที่ในการบริหารจัดการกิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ทั้งหมด ศูนย์นี้จึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและบริหารจัดการ ทรัพยากรสำหรับดูแล ผู้สูงอายุทุกกลุ่มในชุมชน
รวมทั้งพัฒนาอุปกรณ์และระบบบริการ ฉุกเฉินผู้สูงอายุในชุมชนให้ครอบคลุม 200 ครัวเรือน และสร้างระบบ Telehealth ที่จะช่วยให้ สหวิชาชีพและอาสาสมัครสาธารณสุขในการปฏิบัติงานในชุมชน และสามารถให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ และบันทึกการตรวจสุขภาพลงฐานข้อมูลได้อย่างทันทีขณะเยี่ยมบ้าน
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุขอยู่ระหว่าง การเตรียมพัฒนาสมาร์ทซิเคียวริตี้และ สมาร์ทโพล เพื่อแก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยว โดยในปี 2564 จะเริ่มดำเนินการนำร่อง ในขณะที่ ในปี 2563 ได้ดำเนินการพัฒนา Smart Environment เพื่อรองรับ 3 เป้าหมาย ประกอบด้วย
1.ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงไว้เป็น ทรัพยากรอันมีค่าใช้ประโยชน์ได้ อย่างยั่งยืน โดยออกแบบและพัฒนาถังขยะอัจฉริยะเพื่อรับคืนและแยกขวดอัตโนมัติ แบบสะสมแต้มบนพื้นฐานของ Machine Learning และ IoT
ยกระดับโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำแสนสุขเหนือ-ใต้เพื่อการกำจัดธาตุอาหาร ในน้ำเสียทางชีวภาพสำหรับการรักษาคุณภาพของแหล่งน้ำที่ยั่งยืน (โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย ทางชีวภาพแบบแอคติเวเต็ทสลัดจ์)
การบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ ด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของเทศบาลเมืองแสนสุข (ใช้การทำนายคุณภาพอากาศจากข้อมูลผลการตรวจวัด PM2.5 และ O3 ของสถานีประจำที่ ณ ต.บ้านสวน และต.ทุ่งสุขลา โดยกรมควบคุมมลพิษ เก็บข้อมูลรายชั่วโมงไว้แล้ว)
2.มีการดำรงไว้ซึ่งดุลยภาพของธรรมชาติและมีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของ คนในชุมชน โดยมีโปรแกรมประยุกต์ระบบ การให้บริการข้อมูลบิ๊กดาต้าของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ในรูปแบบ เวบพอร์ทัลภูมิสารสนเทศ (GIS Portal) และมีระบบแสดงข้อมูลการตรวจสอบอาหารทะเลปลอดฟอร์มาลินเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนในชุมชน
3.การเพิ่มประสิทธิภาพการ บริหารจัดการติดตามสภาวะแวดล้อม เช่น การ บริหารจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การจัดการ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการข้อร้องเรียน สิ่งแวดล้อม การผลิตและการบริการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่งสำหรับ ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อการ พัฒนาคุณภาพ ผลผลิตการประมง การท่องเที่ยวและการอนุรักษ์นิเวศทะเล
ไพศาล ปรางศรี นักผังเมือง ชำนาญการพิเศษ สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า แผนผังการใช้ ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประกาศใช้เมื่อปี 2562 กำหนดให้มีการให้ยกเลิกผังเดิมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อจัดทำเป็นผังอีอีซี โดยกรมโยธาธิการดำเนินการทำผังย่อยให้สอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี
ทั้งนี้ ผังเมืองอีอีซี เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการการพัฒนาเมือง โดยประชากรในอีอีซีจะเพิ่มจากปัจจุบัน 3 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน ซึ่งการจัดทำผังเมืองอีอีซีดำเนินการตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ซึ่งการปรับรายละเอียดของผังเมืองดำเนินการได้ช้าเป็นอุปสรรคของการพัฒนา
รัฐต้องหารือกับอปท. เพื่อทำงานร่วมกัน และเทศบาลต้อง ทำความเข้าใจชุมชน ณรงค์ชัย คุณปลื้ม