นครราชสีมา ชาวบ้านท่าช้าง คัดค้านขอทำเหมืองแร่หินอ่อนเขาใหญ่ ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ฝุ่นละออง มลพิษทางเสียง จ่อกระทบการท่องเที่ยวระยะยาว
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
7 ก.ค. 65 – นายณัฐพัชร์ ทำสวน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 บ้านท่าช้าง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อม นายบุญมี สาระมู ราษฎรบ้านท่าช้าง นำผู้สื่อข่าวดูพื้นที่ ที่นายทุนยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน
ที่ขอจดทะเบียนไว้เป็นคำขอที่ 4/2556 มีเนื้อที่ประมาณ 202 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณหมู่ 12 บ้านท่าช้างไต้ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
DCIM100MEDIADJI_0367.JPG
ซึ่งพบว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาหินอ่อน เชื่อมโยงหลายลูกมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทอดยาวไปในหลายหมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 6 บ้านคลองเดื่อ หมู่ที่ 11 บ้านวังโต่งโต้น หมู่ที่ 12 บ้านท่าช้าง หมู่ที่ 16 บ้านท่าช้างเหนือ บ้านเกาะแก้ว และมีวัด สนามกีฬา โรงแรม รีสอร์ท ลานกางเต็นท์ โรงเรียน สนามกีฬาระดับชาติ แหล่งท่องเที่ยว สนามกอล์ฟ และบ้านพักที่อยู่อาศัยของประชาชนรอบบริเวณทั้ง 4 ด้าน
นายณัฐพัชร์ กล่าวว่า ก่อนนั้น มีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน 2 แห่ง บริเวณจุดเล็กๆ ไม่กี่ไร่ ซึ่งตอนนั้นบ้านเมืองยังไม่เจริญขยายวงกว้างมาก แต่ได้หยุดทำไปเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหมดสัมปทานบัตร จึงทำให้พื้นที่คืนสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า เม่น เลียงผา ไก่ป่า ลิง นกจำนวนมากเข้ามาอาศัย ที่สำคัญบ้านเมืองมีการพัฒนาจนกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว มีโรงแรม รีสอร์ท รอบบริเวณภูเขา และพื้นที่มีอากาศดี
DCIM100MEDIADJI_0355.JPG
ที่ผ่านมามีนายทุนเข้ามาพูดคุยร่วมประชุมกับชาวบ้านหลายครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านยินยอมในการขอทำประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อน แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าไม้ภูเขา และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ฝุ่นละออง มลพิษทางเสียง และกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ในระยะยาว
การขอประทานบัตรทำเหมือง มีระยะยาวนานกว่า 28 ปี โดยประมาณ ชาวบ้านไม่ยินยอม ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เวลา 18.00 น.อุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ จ.นครราชสีมา ได้ทำประชาพิจารณ์เชิญชาวบ้านในพื้นที่ 4 หมู่บ้านที่อยู่รอบเขตขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ เพื่อให้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่อาคารห้องประชุมโรงเรียนบ้านท่าช้างเหนือ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
นายวัชรากร นามสีฐาน นายกสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาใหญ่ กล่าวว่า การกำหนดผังเมืองใหม่ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะโซนพื้นที่ถนนธนะรัชต์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี ต.โป่งตาลอง เป็นโซนพื้นที่อนุรักษ์สีเขียว ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีระเบียบห้ามสร้างตึก อาคารสูงกว่า 5 ชั้น เพื่อไม่ให้เบียดบังทัศนียภาพ บดบังความสวยงาม มีภูเขา ต้นไม้ สร้างอากาศที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีควรหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้ชั่วลูกหลาน
นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง กล่าวว่า อำเภอปากช่อง มีผู้ประกอบการ โรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ ต่างๆ ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หลังโควิดซาลง ททท.แห่งประเทศไทย ร่วมกับนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ มีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเขาใหญ่ปากช่อง
หากมีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่ก็จะส่งผลกระทบในทุกด้าน เช่นความเป็นอยู่ของประชาชน กระทบต่อการท่องเที่ยวมลพิษทางเสียง ทางอากาศฝุ่นละออง โรคภัยจากทางเดินหายใจ เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศไทย จึงขอคัดค้านการทำเหมืองแร่หินอ่อนในพื้นที่ปากช่อง เขาใหญ่ ส่งผลเสียหายต่อส่วนรวมในระยะยาว
กำนันหมูสีก็ขอคัดค้าน นายทนงศักดิ์ สินแสนสุข กำนันตำบลหมูสี แจ้งว่า ขอคัดค้านตลอดกาล ที่จะมาขอประทานบัตรเหมืองแร่ ในพื้นที่ ทุกวันนี้ประชาชนก็อยู่อย่างมีความสุขกับอากาศ ทำให้มีสุขภาพที่ดี อย่าเอามลพิษมาเทให้คนหมูสี ปากช่อง เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัวกลับมา นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวปากช่องเขาใหญ่มากขึ้นทุกวัน