บางแสน ชลบุรี

Dtbezn3nNUxytg04aiKAkbvVzJ4CuGXGDQZggxJydhLUgS.jpg

จากปากชาวประมง ต้นเหตุปลาตายเกลื่อนหาดบางแสน สะเทือนรายได้ขายอาหารทะเล

ปรากฏการณ์ปลาตายเกลื่อนหาดบางแสน จ.ชลบุรี ทำให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมาตื่นตระหนก กลิ่นปลาตายส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วหาด ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเล โดยพบว่าคุณภาพน้ำทะเลเป็นปกติ ส่วนชาวประมงพื้นที่ สันนิษฐานว่า ต้นเหตุมาจากเรืออวนลากใหญ่ในพื้นที่

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) รายงานว่า ได้รับแจ้งจากเทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 17.20 น. พบปลาทะเลเกยตื้นตายจำนวนมาก บริเวณชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ซึ่งชนิดปลาที่ขึ้นเกยหาดเป็นปลาชนิดเดียวกันเกือบทั้งหมด มีขนาดตัวใกล้เคียงกัน คาดว่ามาจากเรือประมงขนาดใหญ่

ปลาเหล่านี้อาจหลุดมาจากเครื่องมือทำการประมง โดยชนิดปลาที่พบ คือ ปลาตะเพียนน้ำเค็ม หรือปลาโคก หรือปลามักคา เป็นปลาน้ำเค็ม และน้ำกร่อย พบได้ตามธรรมชาติ และทางเทศบาลเมืองแสนสุข ได้ดำเนินการทำความสะอาดบริเวณชายหาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ส่วนข้อมูลคุณภาพน้ำเบื้องต้นจากสถานีตรวจวัดน้ำอัตโนมัติที่ศรีราชา สถานีที่อยู่ใกล้เคียงมากที่สุด ข้อมูลวันที่ 11 มี.ค. 2566 เวลา 17.00 น. อุณหภูมิ 29.32 องศา ความเค็ม ความอิ่มตัวออกซิเจนละลายในน้ำ มีผลคุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ชาวประมงพื้นบ้านชี้ต้นเหตุเรือประมงขนาดใหญ่

กลุ่มประมงพื้นบ้านหมู่ 14 หาดวอนนภา จ.ชลบุรี ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เหตุการณ์ปลาตายเกลื่อนบนหาดบางแสน ส่งผลถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และยอดขายอาหารทะเลในพื้นที่ เบื้องต้นถ้าวิเคราะห์จากประสบการณ์ทำประมงพื้นบ้าน ไม่น่าจะเป็นเหตุมาจากน้ำเน่าเสีย เพราะถ้าน้ำเสีย จะมีปลาตายในพื้นที่เป็นวงกว้างมากกว่านี้

สำหรับปลาที่ตายเกลื่อนบนหาดบางแสน เป็นปลากลุ่มที่หากินอยู่ตามโขดหิน คาดว่ามาจากเรือประมงขนาดใหญ่ ที่เดินทางออกไปหาปลาในระยะทางที่ไกลจากฝั่ง แล้วมีเหตุทำให้ต้องทิ้งปลาพวกนี้ลงทะเล แต่โดยปกติปลากลุ่มนี้จะขายไม่ได้ราคา ส่วนใหญ่ชาวประมงเมื่อได้มา จะนำไปขายให้กับผู้ที่รับซื้อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์

“ปลาที่เจอเกยตื้น ชาวประมงจะเรียกว่า ปลาโกยทิ้ง ขายไม่ได้ราคา ส่วนใหญ่นำไปขายเป็นหัวอาหารสัตว์ ราคากิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท ชาวประมงในพื้นที่ส่วนใหญ่พอได้มาจะไม่ค่อยปล่อยทิ้งลงทะเล แต่นำไปขายต่อ ซึ่งกรณีนี้มีปลาที่ตายเกยตื้นบนหาดเป็นตัน น่าสงสัยว่าเรือประมงอาจมีอุบัติเหตุหรือไม่ เบื้องต้นในพื้นที่ไม่มีรายงานอุบัติเหตุเรือประมงล่ม”

ปลาที่ชาวประมงได้แล้วขายไม่ได้ราคา เช่น ปลาหางโกย ส่วนใหญ่เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว จะนำปลาไปขายให้กับผู้ที่รับซื้อ นำเข้าสู่กระบวนการบดไปทำเป็นอาหารเป็ดและไก่ ซึ่งมีฟาร์มหลายแห่งรับซื้อ เพราะถือเป็นอาหารสัตว์ที่มีราคาถูก

“ปลาที่ตายมาเกยตื้นที่หาดไม่น่าจะมาจากภัยธรรมชาติ เพราะถ้าปลาน็อกน้ำ เพราะอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จะมีปลาตายเกยตื้นหลากหลายชนิด ขณะเดียวกันปลาก็มีสภาพที่เน่าส่งกลิ่นเหม็นอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นปลาที่เรือประมงเก็บไว้ จนเริ่มเน่า เลยนำปลาทิ้งลงทะเล”

เบื้องต้นชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลเรือประมงขนาดใหญ่ ที่สร้างผลกระทบดังกล่าว เพราะส่งผลต่อนักท่องเที่ยว และทำให้อาหารทะเลในพื้นที่ขายได้จำนวนลดลง ส่งผลถึงชาวประมงพื้นบ้าน และร้านอาหารทะเลในพื้นที่ชลบุรี.

เรื่องล่าสุด