คนชอบหนังสือต่างรู้กันว่า ไม่มีอะไรสุขใจเท่าการเดินอยู่ในดินแดนที่มีหนังสือล้อมหน้าล้อมหลัง อย่างร้านหนังสือ ห้องสมุด หรือ ‘งานหนังสือ’ ซึ่งมีหนังสือสดใหม่ที่สุดอยู่ที่นั่น
นอกจากงานหนังสือที่เต็มไปด้วยบูทขายหนังสือสารพัดประเภทแล้ว งานที่เดินสนุกไม่แพ้กันก็คือ ART BOOK FAIR ซึ่งขายหนังสือที่คนตัวเล็ก ๆ หรือสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ผลิตเองและสื่อสารในสิ่งที่ต้องการจะสื่อจริง ๆ
“อาร์ตบุ๊กหรือ Zine เป็นวัฒนธรรมงาน DIY ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนแสดงออกทางความคิดในรูปแบบคล้าย Exhibition และเปิดความเป็นไปได้ให้ผู้อ่าน ผู้เสพ ทำความเข้าใจเรื่องเรื่องหนึ่ง” แพรว-กานต์ธิดา บุษบา กล่าว เธอคือผู้จัดการแห่ง BOOKSHOP LIBRARY หนึ่งในโปรเจ็กต์ของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ รับหน้าที่เป็น Exhibitor Relation ประจำงานเทศกาลหนังสือศิลปะกรุงเทพฯ ครั้งที่ 6
ทุกวันนี้ ART BOOK FAIR กระจายไปหลายต่อหลายประเทศทั่วโลก บ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้เองก็จัดงานกันจริงจังมานาน ได้รับความนิยมจนผู้คนไปเดินกันล้นหลาม
ไทยเราก็มี BANGKOK ART BOOK FAIR เหมือนกัน ผู้จัดคือ STUDIO150 และ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ โดยมีเป้าหมายในการเปิดพื้นที่สำหรับสิ่งพิมพ์อิสระ กระตุ้นให้ผู้คนใช้สื่อชนิดนี้ในการนำเสนอเรื่องราวมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ใน 1 ปี ผู้ผลิตและผู้เสพสื่อมีโอกาสปะหน้ากันสัก 1 หน
ในภาพจำของเรา งานนี้เป็นงานเล็ก ๆ ที่จัดในบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ แต่ในปีที่ 6 นี้เรียกได้ว่าเปิดศักราชใหม่ ขยายสเกลใหญ่โตจนต้องเช่าที่จัดในโรงแรม
ครั้งนี้พวกเขามาในคอนเซปต์ ‘Homegrown Community’ คุณจะได้เห็นสิ่งพิมพ์สวยละลานตา ฝีมือคนไทยและต่างชาติ ได้ดูนิทรรศการและฟังเสวนาที่จะเปิดโลกสื่อสิ่งพิมพ์คุณไปตลอดกาล
คอลัมน์ Scoop ครั้งนี้ เราจะพาคุณไปคุยกับเหล่าผู้จัดงาน BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 อย่างแพรว จาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ และ พัด–พัชร ลัดดาพันธ์ – เป้–ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช จาก STUDIO150 ทั้งเรื่องการผลักดันวงการสิ่งพิมพ์อิสระในไทยให้เข้มแข็ง และความน่าสนใจของวัฒนธรรมนานาประเทศ
แล้วคุณจะรู้ว่าทำไมคุณถึงต้องลองไปเดิน ART BOOK FAIR กันเสียที
ไม่มีที่ขายหนังสือ
จุดเริ่มต้นของงานนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 ตอนที่ STUDIO150 ทำหนังสือเกี่ยวกับศิลปินไทยท่านหนึ่ง
หนังสือเล่มนี้ขายดีมากในงานเปิดตัวที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ แต่จบจากงาน เมื่อจะต้องไปฝากขายตามร้านหนังสือเล็ก ๆ เขาก็พบว่าร้านอย่างนั้นแทบจะไม่เหลือแล้ว หากจะต้องไปฝากในร้าน Chain ใหญ่ ๆ ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น จำนวนเล่มหรือการขึ้นทะเบียนหนังสือก็ส่งผลให้เขาทำแบบนั้นไม่ได้
“ในกรุงเทพฯ ไม่มีที่สำหรับสำนักพิมพ์อิสระมากเท่าไหร่” เป้บอกกับเรา
แล้วเหตุการณ์นี้ก็พาให้เป้ตัดสินใจเสนอโปรเจกต์ BANGKOK ART BOOK FAIR กับ ลูกตาล-ศุภมาศ พะหุโล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่
เมื่อเราถามถึงนิยามของคำว่า Art Book เป้ก็พูดถึงสิ่งพิมพ์อิสระที่ไม่กำหนดว่าจะต้องเป็น ‘หนังสือศิลปะ’ รึเปล่า สิ่งแน่นอนอย่างเดียวคือความตั้งใจของผู้ผลิตที่ต้องการสร้างความเคลื่อนไหวบางอย่างในเรื่องที่ตนเองสนใจ ต้องการให้หนังสือไปกระตุ้นกลุ่มคนบางกลุ่ม
เมื่อคิดแล้ว พวกเขาก็เริ่มจากการสำรวจแลนด์สเคปของสื่อชนิดนี้ในกรุงเทพฯ กันก่อน ทางเป้ไปคุยกับฝั่งดีไซเนอร์ ทางลูกตาลก็ไปคุยกับคนทำงานศิลปะว่าเขาคิดยังไงหากจะมีโปรเจกต์แบบนี้ ทั้งยังหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตหนังสือและการพิมพ์รูปแบบต่าง ๆ จนเกิดเป็นงานเสวนานำร่องขึ้นมา แล้วงานแฟร์ครั้งแรกจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017
“มันเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เพราะการที่จะเข้าไปแสดงงานในแกลเลอรี หรือมีโปรเจกต์ฟูลสเกลเลยอาจต้องใช้ทุนและเวลา ถามว่าการทำหนังสือแพงไหม มันก็ไม่ได้ถูก แต่ยังพอจ่ายได้”
จากที่คิดว่าคนจะมาร่วมงานสัก 1000 คน ก็ไปแตะถึง 2000 – 3000 คนจนได้
นี่แค่ปีแรกเท่านั้น แสดงว่าคนที่สนใจอาร์ตบุ๊กก็มีไม่น้อยเลย
โฮมโกรน คอมมูนิตี้
6 ปีที่ผ่านมา งานมีธีมที่แตกต่างกันออกไปทุกปี ทางผู้จัดจะจัดกิจกรรมและเชิญสปีกเกอร์มาพูดให้เข้ากับธีม ซึ่งงานปีนี้ก็มาในธีม Homegrown Community ซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเติบโตใน Art Book Community ทั้งเชิงระบบนิเวศและทรัพยากร หลังจากที่มีการเกิดขึ้นของ BANGKOK ART BOOK FAIR มาตั้งแต่ปี 2017
ซึ่งคำว่า Community ในทีนี้ ไม่ได้หมายถึงการแบ่งขอบเขตในเชิงพื้นที่ แต่มันคือ Community ของคนที่มีความสนใจร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากร องค์ความรู้ และวิธีการ
โดยปกติแล้ว จำนวน Exhibitor จะอยู่ที่ประมาณ 60 – 70 กลุ่ม คัดเฉพาะกลุ่มที่มีสิ่งพิมพ์มานำเสนอ แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มีคนมาสมัครมากมาย และทุกคนล้วนมีคุณสมบัติตรงกับที่ตั้งไว้ สุดท้ายก็ขยายไปถึงราว ๆ 150 กลุ่ม และเช่าพื้นที่โรงแรมเอเชียจัดงาน
ในงานจะมีนิทรรศการที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ทำร่วมกับร้านหนังสือและสำนักพิมพ์อิสระจากเกาหลีใต้อย่าง The Book Society – mediabus ชื่อว่า Publishing as method: Ways of Working Together in Asia ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากโปรเจกต์วิจัยของ mediabus ที่สนใจกลุ่มคนทำหนังสืออิสระในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ไกลถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อมาเป็นนิทรรศการ ก็จะนำเสนอหนังสือเอเชียที่แนะนำโดยผู้คนหลากหลาย และสื่อให้เห็นว่าสิ่งพิมพ์สื่อสารเรื่องอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้ยังมี Symposium หรือการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องราวที่สอดคล้องตามคอนเซปต์ Homegrown Community ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 13.00 – 17.00 น. ปกติแล้วการเสวนาจะรวมอยู่ในวันเดียวกับแฟร์ แต่ปีนี้แยกออกมาอีกวันเพื่อความเข้มข้นมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจและไม่พูดถึงไม่ได้ คือความเป็นสากลของ BANGKOK ART BOOK FAIR
สัดส่วนของ Exhibitor ในงานครั้งที่ 6 นี้ คือต่างประเทศ 60% ไทย 40% โดย 60% นั้นส่วนมากเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ช่วงที่จัดงานในปีนี้คือช่วงที่มีหลายแฟร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกพอดี ผู้ผลิตหลายคนที่ต้องการนำหนังสือมาออกงาน หากจบจาก Taipei Art Book Fair ก็ไปต่อ TOKYO ART BOOK FAIR ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่สุดในเอเชีย สัปดาห์ถัดมาก็ไป BANGKOK ART BOOK FAIR แล้วไปจบ KL ART BOOKFAIR ที่กัวลาลัมเปอร์ได้
อากาศดี ๆ แบบนี้ ได้ออกงานไปเที่ยวไปก็คงสนุกดี
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะได้มานั่งคุยกับ 3 ผู้จัดงานนี้ เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมร้านขายหนังสือทำมือในโตเกียว 2 – 3 ร้าน เหล่าเจ้าของร้านก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวัฒนธรรมหนังสือทำมือในโตเกียวนั้นเฟื่องฟูมาก นอกจากนี้แต่ละร้านยังเต็มไปด้วยหนังสือทำมือจากนานาประเทศในเอเชียตะวันออก รวมไปถึง อินโดนีเซีย เพื่อนบ้านของเราด้วย
อนาคตคงได้เห็นการคอลแล็บระหว่างประเทศอีกมากมาย
“ประมาณ 2 – 3 เดือนที่แล้วเราได้ไปงานรวมผู้จัด ART BOOK FAIR ใน Southeast Asia ที่เกาหลีใต้ ได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน” เป้เริ่มเล่า
“พวกเขาชอบหนังสือจากกรุงเทพฯ กันมาก เขาบอกว่ามันหลากหลาย นั่นเป็นมุมมองที่เราไม่เคยมองเลย อย่างสิงคโปร์เขาจะพูดได้แค่บางเรื่อง Censorship เขาค่อนข้างแรง จะพูดได้แต่เรื่องต้นไม้ แมว อาหาร ทางอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ก็พูดเรื่องเพศหรือศาสนาไม่ค่อยได้ สิ่งพวกนั้นมีแต่ในกรุงเทพฯ
“คนอื่นเขาบอกว่า ดีเนอะ รัฐบาลคุณโอเคกับสิ่งนี้ เราก็บอกว่าเปล่าหรอก เขาไม่ได้มาสนใจแค่นั้นเอง” เป้หัวเราะ “แต่จริง ๆ นี่คือเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการทำสิ่งพิมพ์อิสระเช่นกัน มันจะไม่ได้ไปเชื่อมโยงกับการตรวจสอบ แต่ค่อนข้างส่งความคิดจากผู้ผลิตโดยตรงเลย ส่วนจะตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน”
แพรว ผู้จัดงานจากฝั่งบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ เองก็เสริมว่า คนจีนเองก็ทำอาร์ตบุ๊กเพราะมีเรื่อง Censorship ที่แรง และหาทางเผยแพร่งานใน ART BOOK FAIR ประเทศอื่น ๆ
ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็อาจเป็นไปตามความสนใจของผู้ผลิต เช่น ทางไต้หวันจะมีความเป็นกวี และทางเกาหลีที่เน้นกราฟิกดีไซน์และเทคนิคการพิมพ์
ปัจจัยทุกอย่างล้วนทำให้อาร์ตบุ๊กแต่ละประเทศมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะกฎระเบียบข้อบังคับ สภาพสังคม ค่านิยม ความรู้ด้านการทำหนังสือ รวมไปถึง Sense of Humor ของแต่ละพื้นที่ด้วย เมื่อได้หยิบหนังสือมาเปิดดู ก็ทำให้เราเข้าใจความเคลื่อนไหวของประเทศนั้นได้อีกทาง
Exhibitor น่าสนใจ
แห่ง BANGKOK ART BOOK FAIR 2023
01 Gudskul (อินโดนีเซีย)
Gudskul เป็น Artist Colletive ที่มีสำนักพิมพ์ใช้เผยแพร่องค์ความรู้จากการที่ได้ทดลองเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
พัด STUDIO150 มีโอกาสได้ทำโปรเจกต์ร่วมกันกับ Gudskul ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นวิธีการทำงานที่เขารวมตัวกันเป็น Collective และเห็นถึงมุมมองที่น่าสนใจ
ในครั้งนี้ Gudskul มาเป็น Exhibitor ร่วมพูดคุยในเสวนา และยังมีเวิร์กช็อปเปิดให้ผู้คนเข้าร่วมที่โต๊ะของพวกเขาระหว่างแฟร์ด้วย
02 The Book Society – mediabus (เกาหลีใต้)
The Book Society เป็นชื่อร้านหนังสือ ส่วน mediabus คือสำนักพิมพ์
ความน่าสนใจของพวกเขาคือการทำโปรเจกต์แปลหนังสือเป็นภาษาเกาหลี เช่น
Xsport on Paper – มาจากคนไต้หวันที่สนใจ Self-publishing ในหลาย ๆ พื้นที่ แล้วเดินทางไปในหลายประเทศ เพื่อคุยว่าการทำหนังสือของแต่ละพื้นที่นั้นสนใจเรื่องอะไรและทำออกมาในรูปแบบไหนกัน เมื่อครั้งมาไทยก็ได้ไปสัมภาษณ์ Reading Room
A Conversation with The Sun – หนังสือของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ เป็นผู้ผลิต เนื้อหาคือการสร้างบทสนทนาด้วย AI
“การเข้ามาของเขาน่าจะทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่าประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือแบบนี้ ผลิตหนังสืออะไรออกมาได้บ้าง” แพรวสรุป “แม้กระทั่งอาร์ตบุ๊กประเภทนี้ยังเลือกที่จะแปลออกมาเลย หมายความว่ามีคนอ่าน ซึ่งเราว่ามันมีองค์ความรู้มากมายอยู่ในนั้น”
03 Atelier HOKO (สิงคโปร์)
Science of Secondary เป็นซีรีส์ที่สำนักพิมพ์นี้ทำ เกี่ยวกับการเจาะไปที่วัตถุต่าง ๆ ที่เห็นในชีวิตประจำวัน
กล้วย นาฬิกา ท่อน้ำ
ทั้งเล่มจะเล่าเรื่องนั้น ๆ โดยแตกออกมาเป็นหัวข้อ จักรวาลของมันคืออะไร ระบบนิเวศของมันคืออะไร ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้เวลาหาข้อมูลมหาศาลโดยทางสำนักพิมพ์
“เขาสนใจในความธรรมดาที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน และหาวิธีเล่าใหม่”
04 BAD EYES (ไทย)
BAD EYES เป็น Artist Collective ของคนทำงานภาพถ่ายที่มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
เล่มใหม่ล่าสุดที่ออกมาชื่อว่า CUMULUS เป็นภาพถ่ายของศิลปินไทย หฤษฎ์ ศรีขาว เกี่ยวกับพลังแห่งหนุ่มสาววัยมัธยมปลาย ซึ่งแตะไปถึงเรื่องครอบครัวและการสูญเสีย
ความน่าสนใจของเล่มนี้ นอกจากเรื่องเนื้อหาหนักหน่วงแล้ว คือเรื่องของกระบวนการการผลิตหนังสือซึ่งทาง Collective ส่งไปพิมพ์ถึงประเทศอินเดีย
05 PULSE Gallery (ไทย)
จุดเริ่มต้นมาจากนายแพทย์คนหนึ่งที่ทำคลินิกขึ้นมา แล้วอยากสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในหลาย ๆ รูปแบบ และอยากให้พื้นที่ของตัวเองกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ Community
เขาจึงขยายจากความเป็นคลินิกออกมาเป็นแกลเลอรี เปิดพื้นที่ให้ศิลปินมาทำโปรเจกต์ Artist Residency ทำหนังสือด้วยกัน โดยหนังสือออกใหม่ของ PULSE ในงานครั้งนี้ คือ Photo Book รวบรวมงานของศิลปินที่ทำงานด้วยกันมาตลอด
06 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอก Creative Art มหาวิทยาลัยบูรพา (ไทย)
ทุก ๆ ปี BANGKOK ART BOOK FAIR จะเป็นพื้นที่สำหรับสถาบันการศึกษาอยู่แล้ว โดยเฉพาะ CommDe จุฬาฯ และ สาขาวิชาศิลปกรรม มีเดียอาร์ต และอิลลัสเตชันอาร์ต ลาดกระบัง ที่ใกล้ชิดกันมาตลอด แต่ปีนี้พวกเขาได้รับความสนใจจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอก Creative Art มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งอยู่นอกกรุงเทพฯ
ภาควิชานี้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรโดยนำนิเทศศิลป์และภาพพิมพ์มารวมกัน ซึ่งหมายถึงการทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มความคิดสร้างสรรค์และงานกราฟิกดีไซน์เข้าไปในผลงาน
ในงานจะมีผลงานของนักศึกษาในภาควิชามานำเสนอ บ้างก็ใช้เทคนิคที่ได้มาจากการเรียน บ้างก็เล่าถึงธีม Homegrown Community ในมุมของตัวเองที่เป็นเด็กต่างจังหวัดและได้เข้าไปเรียนย่านบางแสน
เส้นทางข้างหน้า
“ถ้าคนที่ทำตั้งแต่ปีแรก ๆ อยู่มหาลัย ปี 1 ปี 2 ในตอนนั้น ตอนนี้เขาเรียนจบแล้ว ความคิดหรือเรื่องที่เขาสนใจก็โตขึ้นไปตามวัยของเขา” พัดว่า ทุกวันนี้เนื้อหาอาร์ตบุ๊กไทยส่วนใหญ่ไปไกลกว่าชีวิตประจำวัน ไปถึงสะท้อนมุมมองที่มีต่อโลก
นอกจากจะเพราะคนเดิม ๆ โตขึ้น คนใหม่ ๆ จากวงการอื่น เช่น นักเคลื่อนไหวอย่าง ‘นักเรียนเลว’ ก็ค่อย ๆ เข้ามาร่วมด้วย ไม่ได้จำกัดแค่ในวงศิลปินหรือดีไซเนอร์เหมือนเดิมแล้ว
“เขาอาจไม่ได้คุ้นเคยกับการทำหนังสือมาก่อน แต่มองเห็นความเป็นไปได้ในการเล่าผ่านหนังสือ” แพรวเสริม เธอเคยอยู่ในสถานะเด็กที่มาซื้อหนังสือในงาน เมื่อได้มาเป็นผู้จัดงานเองก็เห็นได้เลยว่าหนังสือมีความหลากหลายขึ้น เหมือนกับนิยามของคำว่าอาร์ตบุ๊กกว้างขึ้นกว่าเดิม
ถ้าพูดถึงการเติบโตของงานแฟร์ พัดคิดว่าคนในพื้นที่นั้น ๆ และความต่อเนื่องในการทำงานจะทำให้ภาพของ ART BOOK FAIR กรุงเทพฯ แตกต่างและชัดเจนขึ้นเอง
สุดท้ายก็จะวนมาตอบโจทย์ Homegrown Community ในการสนใจสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง
สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังให้เกิดคือความยั่งยืนในวงการสิ่งพิมพ์ เพราะเหตุผลตั้งต้นที่ทำให้งานนี้เกิดมาคือการไม่มีพื้นที่ขายหนังสือ หากในอนาคตปัญหานั้นได้นับการแก้ไข แล้วบทบาทของงานแฟร์จะเปลี่ยนไป ผู้จัดอย่างเขาก็ยินดีมาก
“เราอยากให้สิ่งนี้ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจทางภาครัฐ อยากให้เขาเห็นความเป็นไปได้ว่าสิ่งนี้มีพลังพอที่จะส่งเสริมเมืองด้านวัฒนธรรมได้” พัดเอ่ย ก่อนเป้จะพูดต่อ “อาร์ตบุ๊กของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น บูมได้เพราะเขาได้รับการสนับสนุน”
เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตกระแสอาร์ตบุ๊กในประเทศไทยจะเป็นไปในทางไหน จะมีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาเป็นผู้ผลิตเยอะไหม เนื้อหาที่นำเสนอจะต่างจากเดิมยังไง งานแฟร์ในปีถัดไปจะยิ่งใหญ่แค่ไหน สุดท้ายแล้วผู้มีอำนาจจะเข้ามาช่วยส่งเสริมรึเปล่า
แต่ขอให้บทความนี้เป็นหนึ่งในจดหมายเหตุ บันทึกความเป็นไปของวงการอาร์ตบุ๊กประเทศไทยผ่านคำบอกเล่าของผู้จัดงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ในปี 2023
และหวังว่าพวกเขาจะสมหวังในเร็ววัน
“งานมีปีละครั้ง มีทั้งผู้คนและสิ่งพิมพ์ที่น่าสนใจ อยากให้มาดูกันนะครับ” เป้ปิดท้าย “ความหลากหลายในงานค่อนข้างสูง เรามั่นใจว่าจะตอบโจทย์ความสนใจของทุกคนมุมใดมุมหนึ่งแน่นอน”