งานวิ่งส่งสัญญาณฟื้นคืนชีพ ออร์แกไนเซอร์เผย 4 เดือนแรก งานดีดกลับทะลุ 200 งาน ผลพวงสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย “ขาลง” ปลุกความเชื่อมั่นกลับมา มั่นใจครึ่งปีหลัง-ปลายปี แนวโน้มสดใส งานใหญ่พรึ่บทยอยเปิดรับสมัครคึกคัก ขณะที่สปอนเซอร์รถยนต์ ธนาคาร ประกันภัย เครื่องดื่ม เด้งรับโอกาสทอง พร้อมกลับมาใช้งบฯสนับสนุน คาดปีนี้ฟื้นตัวได้ 60-70%
นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ออร์แกไนเซอร์ ผู้จัดงานวิ่งรายใหญ่ อาทิ บางแสน 42, บางแสน 21 และบางแสน 10 ซึ่งได้รับมาตรฐาน EliteLabel จาก World Athletics เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
- เช็กผลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม ส.ก. ใครชนะ เรียลไทม์
- สรุปคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 100% ที่ 2 สุชัชวีร์ เฉือน วิโรจน์ 785 คะแนน
- ดร.เอ้ สุชัชวีร์ เปิดตัวภรรยา คนที่ 2 ลมใต้ปีกในสนามผู้ว่าฯ กทม.
ขณะนี้อุตสาหกรรมการจัดงานวิ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวชัดเจน ทั้งจำนวนงานและจำนวนนักวิ่งที่กลับมา จากความเชื่อมั่นของหลายฝ่าย ทั้งนักวิ่ง ผู้จัด รวมถึงท้องถิ่นที่มีมากขึ้น
หลังจากช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.) ที่สามารถจัดงานใหญ่ระดับหมื่นคนได้หลายงาน อาทิ BURIRUM Marathon 2022 (22 ม.ค.) รวมถึงงานอื่นอีกกว่า 200 งาน โดยไม่เกิดคลัสเตอร์ เทียบกับปี 2564 ที่มีไม่ถึง 200 งาน
งานวิ่งเริ่มฟื้น-ปลายปีคึกคัก
นายรัฐคาดการณ์ด้วยว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้จะเห็นภาพการจัดงานวิ่งต่าง ๆ ที่มีความคึกคักมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นดัชนีชี้วัดการฟื้นตัวที่ชัดเจน
โดยเฉพาะงานวิ่งขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี อาทิ BANGKOK Marathon 2022 ที่ไม่ได้จัดมา 2 ปี ที่จะเปิดรับสมัคร 1 มิถุนายน (วิ่ง 20 พ.ย.) และ bangsaen 42 Chonburi Marathon 2022 เปิดรับสมัครในเดือนมิถุนายนเช่นกัน (วิ่ง 30 ต.ค.) และยังจะมี bangsaen 10 (วิ่ง 18 ก.ย.), bangsaen 21 (วิ่ง 18 ธ.ค.)
นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเริ่มกลับมาใช้งบฯในการเป็นสปอนเซอร์อีกครั้ง ด้วยเม็ดเงินที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับการใช้งบฯในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ รองเท้า-เสื้อวิ่ง ฯลฯ
ขณะเดียวกัน นอกจากผู้จัดงานวิ่งที่เริ่มทยอยกลับมาจัดงานแล้ว หน่วยงานรัฐและธุรกิจท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งก็เริ่มทยอยกลับมาจัดงานอีกครั้งหนึ่ง และจากการพูดคุยกับผู้จัดรายอื่น ๆ
รวมถึงภาครัฐต่างมองว่า กีฬามวลชน อย่างงานวิ่ง งานปั่นจักรยาน เป็นเครื่องมือที่สามารถจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวกลับมาในพื้นที่ได้เร็ว และเป็นงานที่ใช้งบประมาณและระยะเวลาเตรียมการน้อย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ดี
“ความท้าทายการจัดงานอยู่ที่การดึงธุรกิจยังลังเลให้กลับมาเป็นสปอนเซอร์เนื่องจากหลายรายยังรอดูท่าทีเพราะสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่เอื้อนักและนำไปสู่ความกังวลด้านความคุ้มค่าของเม็ดเงินลงทุนในกรณีที่งานไม่ได้จัดหรือจัดแล้วมีปัญหา อย่างไรก็ตาม
โดยส่วนตัวเชื่อว่าตอนนี้ธุรกิจหลาย ๆ อย่างทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นกลุ่มที่พร้อมจะกลับมาเป็นสปอนเซอร์ และได้แสดงความสนใจเข้ามาในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์และความได้เปรียบในเรื่องของมาร์เก็ตแชร์”
นายรัฐกล่าวด้วยว่า ขณะนี้แม้ว่าการวิ่งจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับคืนมา แต่ในแง่ของผู้จัดงานก็พบว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน เฉลี่ย 100-200 บาท/คน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่เอื้อ จึงไม่สามารถปรับขึ้นค่าสมัครให้สัมพันธ์กับต้นทุนได้
ผู้จัดหลาย ๆ รายจึงหันมาเน้นการบริหารจัดการเข้ามาช่วย เช่น การพยายามลดต้นทุนการดำเนินงาน หรือหากจำเป็นก็จะปรับขึ้นค่าสมัครเล็กน้อย ขณะเดียวกัน สมาคมผู้จัดงานวิ่งก็มีการสนับสนุน ด้วยการแชร์อุปกรณ์จัดงานบางอย่างระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงรอยต่อนี้ งบประมาณจากภาครัฐจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมกีฬาและการท่องเที่ยวเชิงกีฬาฟื้นตัวเร็วขึ้น หากรัฐช่วยผลักดันหรือสนับสนุนก็จะช่วยให้ธุรกิจนี้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากหน่วยงานภาครัฐมีการกระตุ้นให้ผู้คนออกมาออกกำลังกายด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calorie Credit Challenge : CCC)
หรือการจัดแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยว (27 ก.พ.) ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น และมั่นใจว่าหลังจากได้เห็นการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหา ความมั่นใจในส่วนนี้ก็จะกลับมาเช่นเดิม หลังจากมีงานวิ่งใหญ่ ๆ มากขึ้น ในช่วงปลายปี และมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการจัดงานวิ่งในปีหน้าจะกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งแน่นอน
ออร์แกไนเซอร์รับคิวงานเพียบ
นายกมล สิริชัน ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไทยดอทรัน จำกัด ผู้สร้างแพลตฟอร์มงานวิ่งครบวงจร อาทิ สมัครงานวิ่ง, ซื้อขายภาพวิ่ง, จำหน่ายเสื้อวิ่ง แสดงความเห็นเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การจัดกิจกรรมงานวิ่งต่าง ๆ เริ่มกลับมาคึกคักตั้งแต่ปลายปี 2564
โดยเฉพาะการจัดในรูปแบบของ virtual run ที่มีการจัดงานเฉลี่ยแต่เดือนประมาณ 30 งาน ขณะที่การจัดงานวิ่งในสถานที่จริงแม้ยังต่ำกว่า 100 งานต่อเดือน แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สปอนเซอร์ส่งสัญญาณต้องการทำกิจกรรม
นอกจากนี้ก็ยังพบว่า ขณะนี้ผู้จัดงานวิ่งหลาย ๆ ราย โดยเฉพาะรายขนาดกลางและใหญ่ ได้เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวทยอยจัดงานกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเลื่อนการจัดงานมาแล้วครั้งหนึ่ง
ขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์และกำลังซื้อในภาพรวมอาจจะไม่ดีนัก แต่ก็ไม่มีผลกระทบกับการจัดงานวิ่งมากนัก สะท้อนจากยอดการสั่งซื้อสินค้าวิ่ง รองเท้าวิ่ง ในปัจจุบันที่ยังมีเข้ามาต่อเนื่องไม่แตกต่างจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงลงทุนกับการวิ่ง ตามกระแสความสนใจในสุขภาพที่มีต่อเนื่อง
หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแผนจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ภายในต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
หลังจากนี้ไปคาดว่าอัตราการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมงานวิ่งน่าจะรวดเร็วขึ้น จากปัจจุบันที่การจัดงานเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากนี้งานวิ่งระยะสั้น เช่น fun run ระยะ 5-10 กิโลเมตร และ half marathon ระยะ 21 กิโลเมตร จะเริ่มกลับมามากขึ้น หากการจัดงานและสถานการณ์ต่าง ๆ มีความราบรื่น เชื่อว่าปี 2565 อุตสาหกรรมการจัดงานวิ่งน่าจะฟื้นตัวได้ 60-70% และปี 2566 จะฟื้นตัวมาที่ระดับ 90% ของก่อนการระบาดของโรคโควิด-19
จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า ขณะนี้จำนวนงานวิ่งทั้งในสถานที่จริง และการจัดงานวิ่งที่เป็น virtual run ที่จัด-เปิดรับสมัครเพิ่มขึ้นมาก โดยช่วงเดือนพฤษภาคมมีงานวิ่ง 53 งาน เพิ่มจากเดือนเมษายนที่มี 31 งาน ส่วนช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นนั้น เดือนมิถุนายนมี 40 งาน
และเดือนกรกฎาคม 33 งาน หนึ่งในนั้นคือ THE MATCH RUN BANGKOK CENTURY RUN 2022 “วิ่งแดงเดือด” ในวันที่ 26 มิถุนายน ก่อนหน้า “THE MATCH Bangkok Century Cup 2022” ศึกแดงเดือด
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้สัดส่วนของงานที่จัดในสถานที่จริงเริ่มมีตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงความคึกคักที่เพิ่มขึ้น โดยสปอนเซอร์หลักยังเป็นหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในขณะที่ภาคเอกชนมีบริษัทและแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เช่น รถยนต์ ธนาคาร ประกันภัย เครื่องดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่ สมาร์ทวอตช์ ฯลฯ