กระเจียวสุพรรณ กระเจียวชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบทีมนักพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ บริเวณเขาตะโกปิดทอง-เขาเพชรน้อย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดย “กระเจียวสุพรรณ” หรือ “ขมิ้นสุพรรณ” เป็นพืชสกุลกระเจียว จัดอยู่ในวงศ์ขิงข่า ช่อดอกมีใบประดับที่มีสีสันหลากหลาย เช่น ขาว ชมพู หรือ สีอมม่วงแดง ดอกจริงมีสีขาว ที่กลีบปากมีแต้มสีเหลือง
กระเจียวสุพรรณ วันนี้ (26 ก.ย. 65) ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เปิดเผยถึงการค้นพบกระเจียวชนิดใหม่ของโลกนี้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 ทีมนักพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ประกอบด้วย นายเมธี วงศ์หนัก, ดร.วัฒนา ตันมิ่ง และดร.ศรายุทธ รักอาชา ได้เข้าสำรวจพื้นที่เตรียมการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์สุพรรณบุรี บริเวณเขาตะโกปิดทอง-เขาเพชรน้อย ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ค้นพบกระเจียวที่มีลักษณะแตกต่างจากชนิดอื่นในบริเวณพื้นที่เตรียมจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ วนอุทยานน้ำตกพุม่วง และพุหางนาค
ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 นักพฤกษศาสตร์ขององค์การฯ ได้ตรวจสอบตัวอย่างเทียบเคียงกับกระเจียวชนิดอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า เป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลกที่ยังไม่มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน จึงร่วมกับ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กระเจียว และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการบรรยายลักษณะโดยตั้งชื่อและตีพิมพ์ลงในวารสารสากล Biodiversitas เล่มที่ 22 ฉบับที่ 9 หน้า 4,579 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2565
โดย “กระเจียวสุพรรณ” หรือ “ขมิ้นสุพรรณ” เป็นพืชสกุลกระเจียว จัดอยู่ในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ที่มีเหง้าใต้ดิน เจริญเติบโตแตกใบและออกดอกเฉพาะในช่วงฤดูฝน ช่อดอกมีใบประดับที่มีสีสันหลากหลาย เช่น ขาว ชมพู หรือ สีอมม่วงแดง ดอกจริงมีสีขาว ที่กลีบปากมีแต้มสีเหลือง ปัจจุบันพบการกระจายพันธุ์ของกระเจียวสุพรรณที่เดียวในโลก อยู่ในบริเวณเขาตะโกปิดทองและเขาเพชรน้อย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จึงถือเป็นพืชที่มีคุณค่ายิ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีและประเทศไทย
ทั้งนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์กระเจียวสุพรรณในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสภาพปลอดเชื้อ เพื่อเป็นหลักประกันว่า พืชหายากชนิดนี้จะไม่สูญพันธุ์และได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครอง อย่างยั่งยืนสืบต่อไป