”
ทำความรู้จัก “กระเจียวบุณฑริก” พืชสกุลขมิ้นชนิดใหม่ของไทย หนึ่งเดียวของโลก หลังนักวิจัยไทยประกาศค้นพบในเขตพื้นที่ จ.อุบลราชธานี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมากตลอดช่วงที่ผ่านมา นักวิจัยของไทยค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่ของโลกอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดทีมนักวิจัยไทยประกาศการค้นพบ “กระเจียวบุณฑริก” พืชสกุลขมิ้นชนิดใหม่ของไทย และหนึ่งเดียวของโลก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตระดับปริญญาเอก หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช). ประกาศการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก และยังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน
ทีมผู้วิจัยจึงได้ร่วมกันตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับพืชชนิดใหม่นี้ว่า Curcuma pulcherrima Boonma, Saensouk & P. Saensouk โดยได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Biodiversitas ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 หน้า 6635–6644. ซึ่งชื่อชนิด “pulcherrima” เป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาไทยว่า “สวยงามที่สุด” ตามลักษณะของดอกและช่อดอกที่มีความสวยงามมาก
ที่มาของชื่อ “กระเจียวบุณฑริก”
ชื่อ “กระเจียวบุณฑริก” ถูกตั้งขึ้นตามชื่อแหล่งที่พบในเขตพื้นที่ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เขตพรรณพฤกษชาติภาคตะวันออกของไทย (อ้างอิงตาม The Flora of Thailand)
โดยทั้งคำว่า “บุณฑริก” และ “อุบล” ต่างก็มีความหมายเดียวกันว่า “ดอกบัว” ซึ่งช่อดอกของพืชชนิดนี้ก็มีลักษณะคล้ายกับดอกบัว
พืชชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกโดย คุณอนุพงษ์ สุขเพ็ง และคุณธวัฒน์ สายสังข์ และมีการเรียกชื่อต้นที่มีใบประดับโทนสีแดงว่า “ว่านมหาอุดมพญาไพร” ในขณะที่ใบประดับสีเขียวเรียกว่า “ว่านมหาอุดมสไบแก้ว”
กระเจียวบุณฑริก เป็นพืชหายากชนิดใหม่ของโลก จัดอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae); เผ่า ขิง (Zingibereae); สกุลขมิ้น (Curcuma); และในสกุลย่อย Ecomata. เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดินแบบ rhizome มีลักษณะสีดอกคล้ายกับมหาอุดมแดง (Curcuma pierreana Gagnep.)
นอกจากนี้ยังมีลักษณะของอับเรณูและเดือยอับเรณูคล้ายกับขมิ้นสยาม (Curcuma siamensis Saensouk & Boonma).
อย่างไรก็ดี พบว่า มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาแตกต่างกันหลายประการกับทั้งสองชนิดข้างต้น
มีลักษณะเด่น คือ
- มีโคนใบรูปลิ่มถึงรูปกลม มีร่องกลางใบสีแดง หลังใบแดงเข้ม
- ช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนของลำต้นไม่สูงจากพื้นดินมากนัก
- ก้านช่อดอกสั้น
- ใบประดับมีขน
- กลีบดอกสีขาวปลายอมชมพู
- กลีบปากรูปไข่กลับ ปลายแฉก สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลางจากปลายกลีบจนถึงฐานของกลีบ
- เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรีแคบแบบไม่สมมาตร ปลายแหลม สีขาวปนชมพู มีเส้นสีเหลืองอ่อนอยู่ตรงกลางกลีบด้านในจากฐานยาวประมาณ 1/3 ของความยาวกลีบ ส่วนด้านนอกเป็นสีขาวปนชมพู ขอบขาว
- ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขน
- อับเรณูสีขาวมีสีชมพูอ่อนปนเล็กน้อย
- เดือยอับเรณูชี้ออกด้านข้าง
ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ดอกบานพร้อมผสมในเวลาเช้า เริ่มพักตัวในช่วงปลายเดือนตุลาคม และจะเริ่มเกิดเป็นต้นใหม่ในช่วงเดือนเมษายน อาจจะช้าหรือเร็วกว่าระยะเวลาดังกล่าวเล็กน้อยขึ้นอยู่กับฝนแรกและสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี
เนื่องจากพบการกระจายพันธุ์แค่ในพื้นที่ป่าเขตจังหวัดอุบลราชธานี และยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ หรือประเทศอื่นมาก่อนทำให้มีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และหายากของไทย (Rare species)
ปัจจุบันในประเทศไทยมีความหลากชนิดของพืชสกุลขมิ้นมากกว่า 70 ชนิด จากการสำรวจการใช้ประโยชน์พืชชนิดนี้ เบื้องต้นพบว่า ใช้ปลูกเป็นไม้มงคลตามความเชื่อแต่เนื่องจากเป็นพืชหายากและใช้ปลูกเป็นไม้มงคลตามความเชื่อดังกล่าว
จึงไม่นำมารับประทานเหมือนกับชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน เช่น กระเจียวขาว (Curcuma singularis Gagnep.), และกระเจียวแดง (Curcuma angustifolia Roxb.) ที่นิยมนำช่อดอกอ่อนมารับประทานสด หรือลวกทานกับน้ำพริก