บางแสน ชลบุรี

คอลัมน์ออนไลน์ – ขอบคุณพระเจ้า (ของใคร)

คอลัมน์ออนไลน์ – ขอบคุณพระเจ้า (ของใคร)

แม้วันขอบคุณพระเจ้าในอเมริกาจะผ่านมาแล้วก็ตาม แต่สำหรับมะริกัน หลังวันขอบคุณพระเจ้ายังคงอบอวลด้วยบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง งานเลี้ยงวันขอบคุณพระเจ้าคือสัญญาณของการนำต้นคริสต์มาสออกมาจากห้องเก็บของเพื่อตกแต่ง  หรือออกไปซื้อต้นสนสดๆ มาประดับประดา รอวันคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึง

แม้ภาวะเศรษฐกิจในอเมริกายังย่ำแย่ แต่ทุกคนก็หน้าชื่นอกตรม ไปจับจ่ายใช้สอยตามร้านทีไรเหมือนโดนปล้นทีนั้น เพราะค่าครองชีพสูงลิ่วจากปัจจัยต่างๆ   แม้ดูเหมือนว่าปีนี้ค่าใช้จ่ายในงานเลี้ยงฉลองเทศกาลขอบคุณพระเจ้าจะถูกลงนิดหน่อย สมาคมฟาร์มอเมริกัน (American Farm Bureau Federation) แถลงว่าอาหารค่ำวันขอบคุณพระเจ้าสำหรับแขก 10 คนตกหัวละ  61.17 ดอลลาร์ในปีนี้ หรือประมาณสองพันกว่าบาท ส่วนปีกลายมีอัตราเฉลี่ยหัวละ  64.05 ดอลลาร์ แต่ยังสูงกว่าก่อนช่วงโควิด 19 อยู่ดี    แหง๋ล่ะ..ทั้งโรคระบาดทั้งสงคราม ทุกอย่างพุ่งสูงขึ้นจนขนหัวลุก

ลุงโจ ไบเดนทำหน้าที่อภัยโทษไก่งวงเช่นเคยแต่ที่เด็ดกว่านั้นคือลุงปล่อยไก่ตัวเบ้อเริ่ม เพราะจำสับสนระหว่างนักร้องดังเทเลอร์ สวิฟต์ และบริทนีย์ สเปียร์ จะว่าไปการที่ลุงโจพูดผิดๆ ถูกๆ นั้นกลายเป็นโลโก้ประจำตัวไปแล้ว

วันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันที่แสดงความขอบคุณพระเจ้าเมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ประเพณีนี้เกิดขึ้นภายหลังการอพยพของชาวยุโรปมาทวีปอเมริกาเหนือ ชาวอเมริกันอยู่ร่วมกับครอบครัวและรับประทานอาหารมื้อใหญ่ด้วยกัน ลูกหลานพี่น้องที่อยู่ไกลจากครอบครัวเดิมมักจะเดินทางกลับมาร่วมฉลองในเทศกาลนี้อย่างแสนสุขและอบอุ่นถ้วนหน้าเช่นเดียวกับเทศกาลคริสต์มาส เมนูหลักประจำวันขอบคุณพระเจ้าคือการอบไก่งวง

เรื่องราวที่เล่าต่อกันมาคือ ฤดูใบไม้ร่วงปี คศ.1621 ชาวอินเดียนแดงเผ่าแวมปานอกส์ร่วมฉลองและแบ่งปันอาหารกับนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษ จำนวน 52 คน ที่รอดชีวิตจากโรคระบาดในปีนั้น นักล่าอาณานิคมที่แล่นเรือมาจากอังกฤษได้มาขึ้นฝั่งที่นั่นและตั้งชุมชนใหม่ของตนเองขึ้น ด้วยการเปลี่ยนชื่อเมืองของอินเดียนแดงเผ่านั้นเป็นพลีมัธ    ปัจจุบันเป็นรัฐแมสซาชูเซตส์

ชาวอังกฤษจำนวน 101 คนแล่นเรือเข้าเทียบฝั่งเมืองที่อินเดียนแดงอาศัยอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่ตอนนั้นทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้างจากการแพร่ระบาดของกาฬโรค เชื้อกาฬโรคคร่าชีวิตผู้มาเยือนกลุ่มนี้เช่นกัน ทำให้ฝรั่งอังกฤษที่มากับเรือเมย์ฟลาเวอร์ล้มตายไปกว่าครึ่ง

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคร้ายซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงเผ่านี้กับสมาชิกอีก 90 คน และชาวอังกฤษ อีก 52 คนที่รอดตายจึงได้ร่วมฉลองการเก็บเกี่ยวที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีเป็นเวลานานถึง 3 วัน 3 คืน

นี่คือประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นความจริง แล้วความจริงที่เกิดขึ้นล่ะ..คืออะไร

นักประวัติศาสตร์อเมริกันยังไม่ฟันธงว่าเกิดอะไรขึ้นในงานฉลองขอบคุณพระเจ้าครั้งแรก หากขุดลึกลงไปในรายละเอียดพบว่า แรกเริ่มเดิมทีเทศกาลขอบคุณพระเจ้าเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน คือวันที่ครอบครัวชาวอเมริกันมารวมตัวกันเฉลิมฉลองและสวดภาวนาขอความสำเร็จในเรื่องการเพาะปลูก สุขภาพ และการสู้รบ

จากนั้นก็ถูกแปลงสารให้กลายมาเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มนักแสวงบุญจากยุโรปแล่นเรือเทียบชายฝั่งรัฐแมสซาชูเซตส์ และแบ่งปันมื้ออาหารกับชนพื้นเมืองเผ่าแวมปานอกส์ (Wampanoags) เมื่อปี 1620 น่าแปลกที่ไม่ยักเล่าต่อว่า อีก 17 ปีให้หลัง กลุ่มที่ว่านี้แหละบุกเข้าไปเผาทำลายหมู่บ้านของชนพื้นเมืองเผ่าพีควอท (Pequot) และยังจับชาวบ้านทั้งผู้หญิง ผู้ชายและเด็กไปเผาทั้งเป็น

ตามบันทึกของคนผิวขาวที่เขียนเล่าอย่างหยดย้อยว่า มีเมตตาต่อชนเผ่าอินเดียนแดงอย่างไรในวันงานเลี้ยงขอบคุณพระเจ้า หากศึกษาประวัติศาสตร์ของสมาพันธ์อินเดียนแวมปานอกส์ แล้วกลับแตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง

ฝ่ายอินเดียนแดงบันทึกไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันขอบคุณพระเจ้าของชาวอาณานิคมคือ พวกอาณานิคมยิงปืนและปืนใหญ่เป็นการเฉลิมฉลอง หัวหน้าเผ่าคิดว่าเกิดสงครามในอาณานิคม จึงรวบรวมนักรบอินเดียนแดง 90 คนไปดูลาดเลา

เมื่อไปถึงอาณานิคมจึงรู้ว่ามีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองกัน พวกอาณานิคมยิงปืนใหญ่เป็นการฉลอง อินเดียนแดงเลยตัดสินใจตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ เพื่อสังเกตการณ์ว่าเรื่องที่ชาวอาณานิคมพูดนั้นจริงหรือไม่  แต่การที่มีนักรบอินเดียนแดงมาตั้งค่ายใกล้ๆ ทำให้ชาวอาณานิคมนึกหวาดกลัวขึ้นมา กระนั้นก็ไม่ได้เชื้อเชิญอินเดียนแดงไปร่วมงานฉลองก่อนแต่อย่างใด  คาดว่าอาจจะเชิญทีหลังเมื่อเห็นว่าอินเดียนแดงมาป้วนเปี้ยนรอบอาณานิคมเลยคิดว่าไหนๆ ก็มีอาหารมากมาย   คงไม่เป็นไรหากให้อินเดียนแดงร่วมงานเลี้ยง

จอร์จ วอชิงตันกำหนดให้วันขอบคุณพระเจ้าคือวันเฉลิมฉลองประจำชาติในปี ค.ศ.1789 กำหนดให้วันที่ 26 พฤศจิกายนเป็นวันขอบคุณพระเจ้าตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา   นักเขียนคนหนึ่งคือนางซาราห์ โจเซฟปา เฮลล์  (Sarah Josepha Hale) บรรณาธิการ นิตยสารสตรี Godey’s Lady’s Book รณรงค์ต่อรัฐสภาสหรัฐให้ลงมติให้วันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันหยุดประจำชาติตั้งแต่ปี ค.ศ.1827 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1857

ในปี ค.ศ.1863 ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นประกาศให้วันขอบคุณพระเจ้าคือวันที่ 26 พฤศจิกายนและให้ถือเป็นวันหยุดทั่วประเทศสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ แต่ในปี ค.ศ.1939 ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ที รูสเวลท์กำหนดว่าวันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันพฤหัสในสัปดาห์สุดท้ายเดือนพฤศจิกายน และยึดตามนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องล่าสุด