Site icon บางแสน

คอลัมน์การเมือง – ก่อนเส้นตาย

คอลัมน์การเมือง – ก่อนเส้นตาย

อายุของสภาฯของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่กำลังนับถอยหลัง ดูเหมือนจะยังสวนทางกับกระบวนการเลือกตั้งที่ยังไม่เรียบร้อย ทั้งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 ที่แม้จะออกมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม แต่ก็ไม่วายพบปัญหา จาก ที่จู่ๆ ก็มีเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมคำว่า “ราษฎร” ว่าต้องนับรวมบุคคลผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยหรือไม่? ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นจากการตีความดังกล่าวย่อมส่งผลถึงการแบ่งเขตและจำนวน สส. รวมทั้งสิ้น 8 จังหวัด ทั้งอาจเพิ่มขึ้นและลดลง

โดยล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้อง และจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและลงมติชี้ขาดในวันที่ 3 มีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้กระบวนการอาจต้องถอยหลังกลับไปเริ่มใหม่ ในส่วนของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่ากระบวนการอาจจะใช้เวลาไม่มาก แต่ก็อาจทำให้เสียเวลาในกระบวนการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ และเกิดความกังวลว่าจะมีอะไรเกิดอะไรขึ้นอีกหรือไม่ เพราะก็ไม่มีใครรู้และไม่มีใครก้าวล่วงว่าศาลจะพิจารณาไปทางใด

ก่อนหน้านี้ก็มีความไม่แน่ชัดเรื่องของกำหนดการวันเลือกตั้ง แต่ตอนนี้สถานการณ์โดยรวมก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อย่างไรเสียการยุบสภาฯ หรือ หมดวาระ ก็พาให้เส้นตายของรัฐบาลนั้น ต้องถูกขีดลงในสิ้นเดือนนี้หรือช่วงเดือนหน้า ต่างกันแค่เพียงเรื่องของวันที่และกำหนดการการเลือกตั้ง ที่อาจมีการขยับออกไปในกรณีที่มีการยุบสภาฯ รวมถึง
บทบาทการรักษาการในตำแหน่งต่างๆ เช่นนั้น หรือไม่?

แต่ตอนนี้เหมือนว่าการยุบสภาหรือหมดวาระรัฐบาลตามกฎหมาย อาจไม่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งที่แท้จริงหรือไม่? เพราะดูเหมือนจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ตอนนี้ก็เริ่มมีประเด็นที่เป็นกระแสออกมา ว่านอกจากเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ อย่างเรื่องประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 ก็อาจจะมีประเด็นอื่น ที่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งให้เปลี่ยนไปในแง่ใดบ้าง รวมไปถึงประเด็นการยุบพรรคการเมือง ที่ก็เริ่มมีกลิ่นอายให้พูดถึงกันอีกแล้ว

แต่ต่อให้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นวันที่อายุสภาฯ ที่กำลังจะหมดสิ้นลง และอาจเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะเร่งกระบวนการตัดสินใจเรื่องการโยกย้ายสังกัดของบรรดา สส. ไม่น้อย เพราะหากจะมีการยุบสภาจริงก็จะสามารถกระทำได้ภายในหนึ่งเดือนนี้ก่อนที่จะหมดวาระรัฐบาล

โดยเฉพาะเมื่อพลเอกประยุทธ์มีการเอ่ยถึงกำหนดการยุบสภาฯ ว่าจะมีการยุบภายในเดือนมีนาคม เท่ากับว่านอกจาก
เรื่องวันเวลาวันเลือกตั้งที่น่าจะไปที่ต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 7 พฤษภาคมเท่ากับว่าสส.ยังสามารถย้ายพรรคได้อยู่และรัฐบาลจะยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้ง

แน่นอนว่าเรื่องของการยุบสภาฯ มีเพียงพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้คุมเกมเท่านั้นที่จะทราบ และแน่นอนว่าความพร้อมของพรรครวมไทยสร้างชาติเอง อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยประกอบการพิจารณาถึงฤกษ์งามยามดีในการยุบสภาฯด้วยก็เป็นได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตามแม้เหตุผลเรื่องพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สื่อหลายสำนักต่างหยิบยกมาพูดถึง แต่ในความจริงแล้ว เหตุผลหลักๆ ก็อาจไม่ใช่แค่นั้นเพราะหากว่ากันตามเรื่องของกฎต่างๆ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้น ยังไม่เสร็จสิ้นในช่วงก่อนหน้า นั้นอาจส่งผลถึงความพร้อมของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่?

ก็น่าสนใจว่าหากกติกาและกระบวนการทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเชิงบวกควบคู่ไปกับความพร้อมของผู้มีอำนาจ จะส่งผลมากน้อยเพียงใดต่อกำหนดการในการเลือกตั้งรวมถึงการตัดสินใจยุบสภาฯ

ก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีกระแสข่าวว่านายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส เพื่อพูดคุยและทาบทามนายกูเซ็ง ยาวหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงที่แข็งแกร่งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนในท้องที่ ให้มาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และดูเหมือนผลลัพธ์จากการเจรจาจะเป็นไปในทิศทางเชิงบวก

ซึ่งการที่ได้นายกูเซ็ง เข้าร่วมทัพรวมไทยสร้างชาติ ก็ถือเป็นการพลิกเกมสำคัญในภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอนนี้คะแนนเสียงส่วนใหญ่อยู่ในมือของพรรคประชาชาติ ที่ถือเป็นพรรคพันธมิตรสำคัญของฝั่งพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน? ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารวมไทยสร้างชาติเดินเกมเก็บคะแนนทุกจังหวัดที่กระแสนิยมของพลเอกประยุทธ์เป็นบวก ซึ่งอย่างน้อยก็คือภาคใต้เกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตามดูเหมือนผู้สมัครสส.หรือกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่รวมไทยสร้างชาติดึงมา โดยมากมักจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตัวของนายกูเซ็งก็เคยอยู่พรรคพลังประชารัฐมาก่อน รวมถึงการตบเท้ารายวันของอดีตสส.ประชาธิปัตย์ ภาคใต้ที่จะเข้ามารวม ในรวมไทยสร้างชาติ ก็จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับพลเอกประยุทธ์ในภาคใต้ด้วยหรือไม่?

และล่าสุดนอกจากนี้ กลุ่มก๊วนบ้านใหญ่ที่แม้จะยังไม่เปิดตัวยกกลุ่ม แต่ก็เริ่มมีทยอยเปิดตัวนำไปอย่างล่าสุดที่มีกระแสข่าวการย้ายซบพรรครวมไทยสร้างชาติ ของนายอนุชา นาคาศัย หนึ่งในพี่ใหญ่แห่งกลุ่มสามมิตรที่ดูจะแสดงจุดยืนมาสักช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วว่า น่าจะมีความต้องการโยกย้ายสังกัดจากพรรคพลังประชารัฐไปสู่พรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ เพื่อไปช่วยงานการเลือกตั้งในฐานะของขุนพลข้างกายของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งล่าสุดนายอนุชาก็ได้มีการยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งก็มีการคาดกันว่าอีกไม่นาน นายอนุชา ก็อาจมีการเปิดตัวร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่? ซึ่งหากการมาของนายอนุชาเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของกลุ่มสามมิตร ที่นอกจากสมรภูมิเลือกตั้งชัยนาท เขต 1 แล้วอาจจะมีกลุ่มภาคเหนือตอนล่างตามมาอีกหรือไม่?

แต่ใช่ว่าบ้านใหญ่ทุกบ้านจะมากันทั้งหมด อย่างกลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี ที่ตอนนี้แบ่งออกเป็นสองบ้าน คือหนึ่ง
ฝั่งรมว.สุชาติ ชมกลิ่น ที่ออกจากพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยเพื่อไปสมทบยังพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่? แต่ในขณะเดียวกันบ้านใหญ่บ้านเก่าบางแสน ไม่ได้มาด้วยและย้ายกลับไปซบอกพรรคเพื่อไทย ที่เคยอยู่ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้ไปทั้งหมดเพราะล่าสุด นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ก็กลับมีข่าวว่าไม่ไปเพื่อไทยและอาจจะเข้ามารวมอยู่ในรวมไทยสร้างชาติหรือไม่? ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจทำให้บ้านใหญ่ฝั่งสุชาติเดินเกมในชลบุรีได้เข้มข้นกว่า

ช่วงระยะเวลานี้จนถึงก่อนถึงวันขีดเส้นตาย อาจเป็นหนึ่งในช่วงวัดใจ สส. พลังประชารัฐ ว่าใครจะรักลุงตู่หรือใครจะชูลุงป้อม หลังจากนี้อีกไม่นานคงได้รู้กันแน่?

เอาเข้าจริงพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำทัพของพลเอกประวิตรก็มีเรื่องที่น่ากังวลไม่ต่างกัน หากจะกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์เป็นศูนย์รวมใจของพรรครวมไทยสร้างชาติ พลเอกประวิตรก็ไม่ต่างจากร่มไม้ใหญ่ที่บรรดา สส. ต่างก็ต้องการพึ่งพาและอาศัยร่มเงานั้น ในวันที่อยู่ร่วมกันตลอดสี่ปีที่ผ่านมา จึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบรรดาสส.ที่ต้องการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง ว่าจะไปตามกระแสพลเอกประยุทธ์หรือไปตามพี่ใหญ่ใจถึงแบบลุงป้อม?

พลเอกประวิตร นอกจากจะนับเป็นผู้ใหญ่ใจถึงคนหนึ่งในวงการการเมืองมาช้านาน พลเอกประวิตรเองก็ยังนับเป็นหนึ่งในผู้ที่ความสามารถในด้านการวางกลยุทธ์ต่างๆ ที่ครบเครื่องประกอบกับเรื่องของประสบการณ์ที่มีมากเช่นกัน? พลเอกประวิตรจึงรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองดี การวางยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งด้วยจำนวนสส. ที่พอเหมาะในการวางแผนร่วมรัฐบาลครั้งหน้า จึงผ่านการวิเคราะห์และเดินเกมมาแล้ว ซึ่งอาจไปคนละทางกับพลเอกประยุทธ์แต่ต้น จึงไม่ได้มีประเด็นอะไรมากในก่อนหน้านี้

จนมาเมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติเริ่มเดินเกม เก็บบ้านใหญ่กลุ่มก๊วนต่างๆ ในช่วงหลังมานี้ จึงเริ่มได้เห็นทิศทางการแข่งขันในการดึงดูดกลุ่มก๊วนเข้าสู่พรรค หรือรักษาไว้?

แม้พรรคพลังประชารัฐในระยะหลังจะดูมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งกระแสของพลเอกประวิตรในช่วงนี้ก็ดูจะรุ่งโรจน์เป็นพิเศษ ทั้งลูกอ้อนลูกหยอดในขณะสัมภาษณ์ซึ่งแม้ว่าภายนอกหน้าฉากจะดูมีภาพลักษณ์ที่ดีมากเพียงใด แต่หลังม่านก็ดูจะยังมีปัญหาให้ต้องพูดถึง อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีกระแสข่าวว่าภายในของพรรคพลังประชารัฐเริ่มปั่นป่วนจากการที่สองขั้วใหญ่อย่างนายวิรัชและพลเอกวิชญ์ สองคนสนิทใกล้ชิดของพลเอกประวิตรนั้น ว่าดูเหมือนจะมีปมอะไรภายในหรือไม่ในการจัดวางตัวผู้สมัครสส.ในบางพื้นที่

ซึ่งทางฝั่งของนายวิรัช ก็ดูเตรียมการที่จะส่งให้อดีตบ้านใหญ่ชัยภูมิอย่างบ้านชัยวิรัตนะ ลงชิงเก้าอี้ในนามของพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ แต่ฝั่งของพลเอกวิชญ์ก็ต้องการที่จะผลักดันให้บ้านใหญ่ชัยภูมิสายโล่ห์วีระ ที่เพิ่งสร้างผลงาน ผงาดขึ้นมาชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายก อบจ.ชัยภูมิ ทั้งที่ความจริงแล้วนายวิรัชและตัวของพลเอกวิชญ์ ก็ไม่ได้มีเรื่องให้ต้องบาดหมางกัน แต่ปัญหาการวางตัวผู้สมัครทับเส้นกันดังกล่าวหากจัดการไม่ดี อาจจะลุกลามบานปลายต่อไปในเวทีอื่นได้และอาจส่งผลกลับมาที่พรรค และพลเอกประวิตร

แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นหนึ่งในปัญหาหลังบ้านของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งว่ากันตามตรงก็เป็นหนึ่งในพรรคที่รวมตัวกันของทั้งนักการเมืองมืออาชีพเข้ามารวมไว้ที่เดียวกันจึงไม่อาจที่จะเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งได้ ก็ต้องดูว่าบารมี
พลเอกประวิตรจะยังสามารถบริหารจัดการกับปัญหาได้หรือไม่?

แต่ความเก๋าที่แตกต่างของพลเอกประวิตร ที่นอกจากบารมีในบ้านแล้ว บารมีนอกบ้านยังสร้างเซอร์ไพรส์ได้เรื่องๆ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจนั้นคือนอกจากที่พรรคพลังประชารัฐนั้น มีประเด็นถูกจับไปเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยแล้ว พรรคเสรีรวมไทยเองก็เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เราอาจได้เห็นการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่? จากการที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้เผยว่า ไม่มีปัญหาในการจับมือกับพลเอกประวิตร อีกเพราะส่วนตัวมองว่าผู้ที่ทำรัฐประหารคือพลเอกประยุทธ์ แต่ผู้อื่นแค่มาช่วยเพียงเท่านั้น

ซึ่งเมื่อคนจริงอย่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้มีการประกาศเช่นนั้น ก็ย่อมส่งผลในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งมีคนเห็นด้วยและคัดค้านกับแนวคิดพันธมิตรทางการเมืองดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการประกาศความร่วมมือทางการเมืองของทุกฝ่ายในตอนนี้เป็นเพียงแค่มายาคติและยุทธศาสตร์ทางการเมืองเพียงเท่านั้น เพราะจุดสำคัญที่จะชี้ชะตาการจับมือ
ของพรรคการเมืองต่างๆ อยู่ที่ผลการเลือกตั้งเพียงเท่านั้น

“การรับความทุกข์ เพื่อบุคคลที่เรารักใคร่…เป็นความสุขประการหนึ่ง

เพียงแต่ว่า ในใต้หล้า มีบุคคลสักกี่คนที่หยั่งซึ้งถึงความหมายเช่นนี้ และมีวาสนาได้รับ?”

โกวเล้ง จาก ราชายุทธจักร

Exit mobile version