คพ.ออกประกาศแนวปฏิบัติข้อบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน เพื่อสืบหาต้นตอผู้ลักลอบปล่อยคราบน้ำมันลงทะเล หลังพบปัญหาถี่ขึ้นทั้งก้อนน้ำมัน คราบน้ำมัน โดยคู่มือจะใช้ตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบสารเทียบกับฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันทั้งในไทยและต่างประเทศ
วันนี้ (30 พ.ค.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเล และไม่สามารถบ่งชี้แหล่งที่มาได้ ขณะนี้คพ. ร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย
ล่าสุดคพ.ได้ออกประกาศเรื่องแนวปฏิบัติในการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย พ.ศ.2565 เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำไปประยุกต์ใช้ในการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า วิธีวิเคราะห์น้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ในประกาศนี้ เป็นวิธีหลักที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์หาลายนิ้วมือน้ำมันที่พบเพื่อบ่งชี้แหล่งที่มา โดยการเปรียบเทียบผลที่ได้กับข้อมูลในฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย หรือลายนิ้วมือน้ำมันที่สงสัย
ข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมัน จะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดหรือผู้ประกอบการที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเล
นายอรรถพล กล่าวว่า ในการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว จะนำข้อมูลผลการวิเคราะห์องค์ประกอบสารอินทรีย์ และองค์ประกอบสารอนินทรีย์ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย หรือต่างประเทศ หรือผลวิเคราะห์ตัวอย่างของแหล่งที่มาของน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย มาประกอบกัน
โดยสามารถสรุปผลการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย ได้ใน 4 กรณี ดังนี้
- กรณีที่ 1 มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากแหล่งเดียวกัน (Positive Match) โดยผลจากทั้ง 2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกันอยู่ในช่วงที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากแหล่งเดียวกัน
- กรณีที่ 2 มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน (Probable Match) โดยมีผลจากทั้ง 2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน หรือมีผลใดผลหนึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน
- กรณีที่ 3 สรุปได้ว่าเป็นน้ำมันคนละแหล่ง (Non – Match) โดยมีผลจากทั้ง 2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันคนละแหล่ง (Non – Match) ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถสรุปผลได้ ให้บันทึกผลการวิเคราะห์ไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบในอนาคตต่อไป
- กรณีที่ 4 สรุปไม่ได้ (Inconclusive) โดยมีผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบสารอินทรีย์แล้วไม่สามารถสรุปได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทช.เร่งตรวจสอบน้ำมันรั่วทะเลบางแสน คราบน้ำมันยาวกว่า 2 กม.
คราบน้ำมันถล่ม “หาดแม่รำพึง” ท่องเที่ยวสะดุด