มรสุมฤดูฝน.. ผ่านไป ก็เข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวอีกครั้ง และท้องทะเลไทย เป็นอีกหนึ่งพิกัด ที่เต็มไปด้วยความสวยงาม แต่ก็แฝงภัยร้ายไว้ด้วยเช่นกัน กรม ทช. เผยการเตรียมความพร้อม โมบายแอปพลิเคชัน แจ้งเตือนภัย แมงกะพรุนพิษ และคลื่นย้อนกลับ (Rip Currents) หวังเพิ่มความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่าน และ Backbone MCOT ได้มัดรวมข้อมูล และพิกัดมาบอกกัน
เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานการประชุม ซักซ้อมระบบแจ้งเตือนภัย แมงกะพรุนพิษ และ คลื่นย้อนกลับ Rip Currents ผ่านการแจ้งเตือนบนมือถือ ในรูปแบบ โมบายแอปพลิเคชัน เพื่อส่งข่าวพื้นที่ และช่วงเวลาที่เสี่ยงอันตราย ให้แก่นักท่องเที่ยว และประชาชน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลตำแหน่ง ผ่านแผนที่ออนไลน์ ที่แสดงตำแหน่งพบ แมงกะพรุนพิษ พร้อมตำแหน่งติดตั้งป้าย เสาน้ำส้มสายชู และจุดปฐมพยาบาล และพื้นที่เสี่ยง ต่อการเกิดคลื่นย้อนกลับ (Rip Currents) เพื่อให้ได้รับข่าวสาร ได้อย่างทันท่วงที ในการนี้ มีคณะผู้บริหาร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานอธิบดี ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลเตือนภัย ที่ระบุพิกัด สถิติการบาดเจ็บรุนแรง (ผู้ป่วยหมดสติ) และเสียชีวิต จากแมงกะพรุนพิษ ซึ่งขอหยิบยก ข้อมูลเฉพาะ เดือน พ.ย. – ธ.ค. ของปีที่ผ่านมา (2564) ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 เดือน ที่กำลังมาถึงของปีนี้ (พ.ศ. 2565) จากเว็บไซต์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหลังฤดูฝนผ่านไป เชื่อว่า หลายท่าน.. เริ่มวางแผน ทริปท่องเที่ยวทางทะเลกันแล้ว แต่ก่อนเดินทาง.. ขอแจ้งข้อมูล เตือนภัยเรื่องนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวของทุกท่าน ได้สนุกสนานเต็มที่ และเกิดความปลอดภัย ควบคู่ไปพร้อมกัน (ทั้งนี้ ในเดือนอื่น ๆ ก็พบ แมงกะพรุนพิษ ได้หลากหลาย จำนวนไม่น้อยเช่นกัน และขอให้พก.. น้ำส้มสายชู ติดกระเป๋าไปทะเลด้วย.. เมื่อเกิดเหตุ จะช่วยผ่อนหนัก ให้เป็นเบาได้) และข้อมูลแบบย่อ เฉพาะ พ.ย. – ธ.ค. เมื่อปี 2564 มีดังนี้
ชายฝั่ง อ่าวไทย พบที่จังหวัด ตราด, จันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ, กรุงเทพมหานคร, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส
+ จังหวัดชลบุรี พบที่ หาดบางแสน, หาดจอมเทียน
+ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบที่ อ่าวหัวหิน, ปากน้ำปราณบุรี
+ จังหวัดระยอง พบที่ หาดสวนสน, เกาะมันใน, ปากน้ำประแส (เมื่อ ก.ค. 2563 ชาวประมงไทย เสียชีวิต จากแมงกะพรุนกล่อง บริเวณ แหลมสน ปากน้ำประแส)
ชายฝั่ง ทะเลอันดามัน พบที่จังหวัด ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล
+ จังหวัดภูเก็ต พบที่ แหลมยามู, อ่าวสะปำ/แหลมหงา, เกาะรังใหญ่, เกาะมะพร้าว, อ่าวน้ำบ่อ, หาดกะตะ/หาดกะรน, หาดป่าตอง, หาดในทอน
+ จังหวัดสตูล พบที่ เกาะเปาะออ, เกาะสาหร่าย, หาดทรายยาว, แหลมตันหยงโป, หาดราไว (ปี 2557 คนไทย บาดเจ็บรุนแรง บริเวณเกาะตะรุเตา, ต.ค. 2558 ชาวประมง เสียชีวิต ในทะเลรอยต่อมาเลเซีย)
+ จังหวัดกระบี่ พบที่ เกาะลันตา, หมู่เกาะห้อง (**เดือน เมษายน พบมากที่สุด หลายพื้นที่ และปี 2551-2560 มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บรุนแรง 7 คน)
ข้อมูล : สถาบันวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน
วันที่ 19 เมษายน 2565
อ่านข้อมูล (ฉบับเต็ม) ได้ที่หน้าเพจฯ สถานการณ์รายจังหวัด พ.ศ. 2564
https://km.dmcr.go.th/c_247/d_19471
สำหรับประเทศไทย แมงกะพรุนพิษ ที่นักท่องเที่ยว และชาวประมง ได้รับบาดเจ็บรุนแรง และถึงกับเสียชีวิตบ่อย ๆ มีสายพันธุ์อะไร ? เว็บไซต์ คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ดูเข้าใจง่าย โดยระบุว่า สถิติอันตรายจาก แมงกะพรุนพิษ มีดังนี้
แมงกะพรุนพิษ กลุ่มที่มีพิษรุนแรง เป็นอันตรายต่อชีวิต และความปลอดภัย ในประเทศไทย มีอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่
1. แมงกะพรุนกล่อง หนวดหลายเส้น วงศ์ Chirodropidae
2. แมงกะพรุนกล่อง หนวดเส้นเดียว วงศ์ Carukiidae
3. แมงกะพรุนกล่อง หนวดหลายเส้น วงศ์ Chiropsalmidae
4. แมงกะพรุนหัวขวด วงศ์ Physaliidae
5. แมงกะพรุนไฟ วงศ์ Pelagiidae
โดยใน แมงกะพรุนพิษ 5 กลุ่มนี้ กลุ่มที่คาดว่า เป็นอันตรายต่อชีวิตของ นักท่องเที่ยว และประชาชน และเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต คือ กลุ่มแมงกะพรุนกล่อง วงศ์ Chirodropidae ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกับ ชนิดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตบ่อยครั้ง ในประเทศออสเตรเลีย
จากสถิติของ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้เสียชีวิตจาก พิษแมงกะพรุน 10 ราย และบาดเจ็บรุนแรง ถึงขั้นหมดสติ 38 ราย โดยพบผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตส่วนใหญ่ ในพื้นที่เกาะสมุย – เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนกรกฎาคม –พฤศจิกายน ตามด้วยในพื้นที่ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน และในพื้นที่ เกาะหมาก – เกาะกูด ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งตรงกับฤดูกาลแพร่กระจายของ แมงกะพรุนกล่อง วงศ์ Chirodropidae
ข้อมูล : สถาบันวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง
วันที่ 28 ตุลาคม 2565
สำหรับข้อมูลเรื่อง พิษที่ร้ายกาจของ แมงกะพรุนกล่อง สร้างความเจ็บปวดรุนแรง ได้แค่ไหน ? Backbone MCOT มีข้อมูลเตือนเรื่องนี้ จากเพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ระบุว่า
น้องมีความรู้ดีมากครับ เมื่อโดนแมงกะพรุนกล่อง ต้องรีบราดน้ำส้มสายชู ให้นานเข้าไว้ (อย่างน้อย 30 วินาที แต่นานกว่านั้น ก็ได้นะ) จุดสำคัญ คือ ความเร็ว ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ย่ิงดี (หากโดนเยอะมาก คนโดนส่วนใหญ่ อาจเสียชีวิตในช่วง 10 นาทีแรก)
**ห้ามใช้น้ำจืด ล้างแผลเด็ดขาด** เพราะจะทำให้เข็มพิษ ทำงานมากขึ้น !!!
สังเกตด้วยว่า มีเศษหนวดไหม ให้เขี่ยเศษหนวดออกไปให้หมด แล้วรีบไปหาหมอโดยด่วน (หากไม่เจอใคร ให้รีบร้องขอความช่วยเหลือ จากพี่ ๆ แถวนั้น ปัจจุบัน มีการอบรม อาสาสมัครริมชายหาด ในเรื่องนี้เยอะแล้วครับ)
น้ำส้มสายชู มีฤทธิ์ไม่ให้เข็มพิษ ที่อาจติดมาทำงาน แต่ไม่ได้เป็นยาถอนพิษนะครับ จึงราดตั้งแต่ตอนโดนเพียงหนเดียว
แมงกะพรุนกล่อง เป็นแมงกะพรุนพิษร้ายสุด อาจถึงเสียชีวิต (มีรายงานในไทย ถึงขั้นนั้นเกือบ 10 ราย) พบทั่วทะเลไทย ในอ่าวไทย พบได้ทุกแห่ง อย่าไปคิดว่า เจอเฉพาะภาคใต้ บางช่วงอาจมีเยอะ บางช่วงอาจน้อย แต่บอกไม่ได้ว่า ช่วงไหนจะมี หรือไม่มีเลย
พยายามสังเกต ป้ายตามหาด หากมีเตือน เรื่องแมงกะพรุน ให้ระวัง ใส่เสื้อผ้าปกปิดหน่อย อาจช่วยได้บ้าง หากมีตาข่ายกั้นแมงกะพรุน ให้ไปเล่นน้ำในนั้น (มีบางหาด) สังเกตว่า มีขวดน้ำส้มสายชู ในกล่องปฐมพยาบาล หรือไม่ ? ตามโรงแรมริมหาด ควรติดตั้งน้ำส้มสายชู และป้ายแนะนำ วิธีการปฐมพยาบาลไว้ครับ
ทั้งนี้ ภาพบาดแผลจาก พิษแมงกะพรุนกล่อง มาจากเพจ Kingdom Of Tigers โพสต์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ซึ่งระบุว่า ตี๋เต๊ก มาเยี่ยมหลังจากผ่านไป 10 วัน เลยอยากให้เรื่องของเต๊ก เป็นวิทยาทานนะคะ
เต๊ก ไปเที่ยวทะเลมา พักรีสอร์ต 5 ดาว แถวจังหวัดตราด เล่นน้ำทะเล ห่างจากชายฝั่งแค่ 200 เมตร ความลึกระดับเอว เต๊กโดนแมงกะพรุนกล่อง ที่มีฤทธิ์ร้ายแรงมาก โชคดีที่เต๊ก มีสติ รีบวิ่งเข้าฝั่ง แล้วใช้น้ำส้มสายชูราดทันที ใน 2 นาที ทำให้สกัดพิษ ที่จะเข้าสู่เส้นเลือดได้ทัน ทำให้ไม่ถึงแก่ชีวิต และเต๊ก ก็ไปโรงพยาบาลทันทีใน 15 นาที คุณหมอฉีดยาเข้าเส้นให้ นอนดูอาการ 1 ชั่วโมง ไม่มีการแพ้ เลยเดินทางกลับกรุงเทพ
เต๊ก บอกว่า วันแรก บวมเป็นเท้าช้าง และ ปวดแสบปวดร้อน เหมือนโดนเตารีดร้อน ๆ เลยค่ะ
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความรู้เรื่อง แมงกะพรุนหัวขวด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปีที่ผ่านมา (2564) ขอนำข้อมูลมาแนะนำ แบบย่อ ๆ ซึ่งได้ระบุว่า
ช่วงนี้ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงตลอด พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ทะเลอันดามัน นอกจากจะพาคลื่นลมมาตูมตาม อีกอย่างที่มาคือ “แมงกะพรุนหัวขวด”
แมงกะพรุนหัวขวด (Physalia sp.) หรือ แมงกะพรุนไฟ หมวกโปรตุเกส (Portuguese man o’ war) เป็นหนึ่งใน แมงกะพรุนพิษแรงครับ จะเป็นรองก็แค่ แมงกะพรุนกล่อง
จุดเด่นของหัวขวด คือ มีอากาศอยู่บนหัว ทำให้ลอยตามน้ำตลอดเวลา ดำน้ำไม่ได้ จะลอยไปเรื่อย ๆ ใช้หนวดยาว พิษแรงจับเหยื่อ
ช่วงนี้ (ก.ค.) มีรายงานพบเยอะเลย ตามหาดฝั่งตะวันตกของภูเก็ต ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก หัวใหญ่แค่นิ้วแม่โป้ง แต่หนวดยาวกว่าที่คิดเยอะเลย ลองดูภาพประกอบนะครับ
อันตราย ไม่ใช่แค่ในทะเล เพราะบางที ลอยมาบนหาด ตัวตายแล้ว แต่หนวดยังมีพิษ คนเผลอไปเหยียบ ก็โดนพิษได้ หลักการง่าย ๆ คือ ใช้น้ำส้มสายชูราดอย่างน้อย 30 วินาที บางคนอาจเคยอ่านเจอว่า ใช้กับพวกนี้ไม่ได้ แต่นั่นเป็นข้อมูลเก่า ตอนนี้ กรมทะเล กับหน่วยงานการแพทย์ ตกลงเห็นตรงกันว่า ใช้ได้ และน้ำส้มสายชู ก็ใช้ได้กับ ทุกแมงกะพรุนเช่นกัน ราดครับ ราดเลย ยิ่งเร็วยิ่งดี จะช่วยหยุดการทำงานของเข็มพิษ จากนั้น หากอาการไม่ดี รู้สึกผิดปรกติ รีบหาแพทย์ด่วน (สามารถค้นหาข้อมูล เพิ่มเติมเรื่องนี้ ได้ในเพจเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ..มีลิงก์ไว้ ด้านล่างบทความ)
นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลวิธีสังเกต และวิธีการเอาชีวิตรอดการจมน้ำ จากคลื่นย้อนกลับ (Rip Currents) หรือ คลื่นทะเลดูด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แทบทุกหาด และข้อมูลดี ๆ เรื่องนี้ มาจาก กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ เพื่อเตือนนักท่องเที่ยว เมื่อ 20 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยว ช่วงมรสุมไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล เนื่องจากมีคลื่นลมแรง และอาจถูกกระแสน้ำย้อนกลับ หรือคลื่นทะเลดูด คลื่นดอกเห็ด พร้อมแนะวิธีสังเกต และวิธีการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ปลัด สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงมรสุม จึงส่งผลให้ระหว่างช่วงเดือนดังกล่าว มีฝนตกชุก ทะเลมีคลื่นลมแรง ไม่สามารถเล่นน้ำได้ ทางกรมควบคุมโรค จึงขอเตือนนักท่องเที่ยว ที่มาเล่นน้ำบริเวณชายหาด ให้ระวังคลื่นลมแรง และกระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด (Rip Current) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้แทบทุกหาด
กระแสน้ำย้อนกลับ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า คลื่นทะเลดูด หรือ คลื่นดอกเห็ด (Rip Current) เป็นกระแสน้ำรุนแรง ที่เกิดขึ้นตามชายหาด เกิดจากการที่คลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่ง แล้วไหลออกสู่ทะเล แต่เจอสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหิน หรือ สันทรายขวางอยู่ ทำให้น้ำทะเลไหลรวมกัน ผ่านช่องแคบ ๆ ระหว่างสิ่งกีดขวางเหล่านั้น กระแสน้ำ จึงพัดออกจากฝั่งด้วยความแรง
ส่วนบริเวณที่เกิดคลื่นทะเลดูด หรือ คลื่นดอกเห็ดนั้น สามารถสังเกตได้จาก
1. สีของน้ำทะเล จะมีสีที่ขุ่นขาว กว่าบริเวณอื่น เนื่องจากกระแสน้ำ ได้พัดเอาตะกอนใต้น้ำฟุ้งขึ้นมา
2. บริเวณชายหาด จะมีคลื่นแบบ ไม่ปะติดปะต่อกัน มีลักษณะเป็นร่อง แนวคลื่นขาดหาย
3. บริเวณปลายกระแสน้ำ มักเป็นรูปคล้ายดอกเห็ด
สำหรับการป้องกัน และ วิธีการเอาชีวิตรอด คือ
1. ควรเล่นน้ำ ในบริเวณที่กำหนดไว้
2. ห้ามลงเล่นน้ำ ในบริเวณที่มีธงแดง
3. หากตกเข้าไปอยู่ใน กระแสน้ำย้อนกลับ หรือ คลื่นทะเลดูด หรือ คลื่นดอกเห็ด ควรตั้งสติให้ดี ไม่ว่ายทวนกระแสน้ำ เพราะจะทำให้หมดแรง และจมน้ำได้ ควรว่ายน้ำขนานไปกับชายฝั่ง เมื่อพ้นจากแนว กระแสน้ำย้อนกลับแล้ว จึงว่ายกลับเข้าฝั่ง
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค โดย.. กองป้องกันการบาดเจ็บ ได้จัดทำสื่อเรื่องดังกล่าว ในรูปแบบเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality) หรือสื่อ AR ให้ผู้ใช้งานในระบบ Android สามารถเข้าไปติดตั้ง แอปพลิเคชัน “ป้องกันจมน้ำ” ได้ที่ Play Store เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และวิธีการเอาชีวิตรอด จากการจมน้ำเพิ่มเติมได้
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
ขอขอบคุณ ภาพปก และภาพประกอบ ข้อมูลบทความ (ที่มา: เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
+ “เตือนโผล่อีก แมงกะพรุนกล่อง พิษรุนแรง ทะเลเกาะกูด” เมื่อ 1 สิงหาคม 2564
+ “แจ้งเตือนภัย ช่วงนี้มาชุก แมงกะพรุนพิษ เกาะพะงัน” เมื่อ 28 สิงหาคม 2564
+ “แจ้งเตือนพบ แมงกะพรุนหัวขวด หาดสมิหลา และหาดชลาทัศน์” เมื่อ 6 มกราคม 2565
+ “สำรวจประเมินสถานภาพแมงกะพรุน อ่าวไทยตอนล่าง” เมื่อ 21 มกราคม 2565
+ “เสริมความปลอดภัยจาก แมงกะพรุนพิษ เขตทะเลเมืองจันทบุรี” เมื่อ 13 กันยายน 2564 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่ 1 (ระยอง) ซ่อมแซมและติดตั้ง จุดเสาน้ำส้มสายชู เพื่อเป็นจุดปฐมพยาบาล พิษแมงกะพรุน พื้นที่ชายหาดแหลมเสด็จ และชายหาดเจ้าหลาว ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี รวม 3 จุด
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
https://www.facebook.com/DMCRTH
เว็บไซต์ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://ddc.moph.go.th
เฟซบุ๊ก : Thon Thamrongnawasawat (ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)
https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
เว็บไซต์ : คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
https://km.dmcr.go.th