เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เหตุการณ์เพลิงไหม้ “ผับเมาน์เทน บี (MOUNTAIN B)” ริมถนนสุขุมวิท (บางนา-ตราด) หมู่ที่ 7 ตำบล พลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี คืนวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็นค่ำวันศุกร์ที่สูญเสียชีวิตที่มีค่า นับจนถึงวันนี้ (11 สิงหาคมจำ 2565) มีจำนวน 17 รายแล้ว
ชีวิตที่ถูกไฟคลอกตายคากองเพลิง ชีวิตที่ย้อนกลับไปช่วยผู้คนแต่แล้วตนเองกลับมา ความชุลมุนที่นักเที่ยววิ่งหนีความตายต่างเอาตัวรอด ถังดับเพลิง เส้นทางออก ต่างก็ไม่ได้คำนึงถึงเป็นความรู้สึกแรกเมื่อเข้ามาในสถานที่ ประชาชนทั่วประเทศรับทราบข่าวต่างเศร้าสลดในเหตุการณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านความปลอดภัย (Safety) ตื่นตัวอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งต่างๆ ในทุกระดับต่างช่วยเหลือเต็มที่ ผมเป็นผู้ที่มีมุมมองยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืน วิธีการใดที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้จริงย่อมไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาได้ ปัญหาที่วนเวียนจึงขึ้นอยู่กับความตระหนัก ความประมาท ความละเลย การตระเตรียมความพร้อมก่อนเปิดทั้งในระดับภาคสังคมและผู้ประกอบการเอง โดยเฉพาะการเปิดให้บริการที่ไม่ถูกต้องต้องมี “ใคร” ที่ได้รับเงินและ “ใคร” เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ? ความยุติธรรมอันเป็นการบรรเทาความสูญเสีย รักษาความถูกต้องจากความอิสระ การพิสูจน์ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความทันสมัยของกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย
สถานบันเทิงที่เปิดได้เพียงสองเดือนเศษ พร้อมๆ กับการผ่อนคลายการแพร่ระบาดโควิด – 19 ผู้คนต่างก็คลายความระมัดระวัง สถานที่ๆ ต้องได้รับการรับรองเพื่อที่คุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนไม่ว่าเปิดใหม่หรือดำรงอยู่แล้วกลับไม่ได้ดำเนินการ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าที่ผ่านมาสองปีระบบทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ขาดการบำรุงรักษา (แม้แต่ระบบเครื่องเสียง ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศ ฯลฯ) สำคัญว่ายอมรับเมื่อรู้แต่ไม่มีระบบการตรวจสอบความพร้อมก่อนใช้งาน !!! ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการตรวจสอบผับทั่วประเทศ ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. สั่งตรวจ 250 ผับทั่วกรุง (บางผับก็ติดวัดอีก) มท.1 จึ้หาคนรับผิดชอบ…
ตอนเกิดเหตุการณ์คืนแรก “เมาน์เทน บี” อาจถูกตีความว่าเหมือนเลข 13 ในเหตุการณ์ “ซานติก้า” เป็น 13 ศพที่เป็นบทเรียนที่เกินพอแล้วในประเทศไทย ความจริงในสาเหตุเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ไม่นานความจริงก็จะถูกลืม การถามหาผู้รับผิดชอบที่มีแต่ละเลย แตกต่างจากองค์การที่มีระบบดีๆ ที่ยึดถือความปลอดภัยในชีวิตเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ผมได้มีโอกาสไปอาคารสำนักงานบริษัทผู้ให้บริการดิจิทัลเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย ถนนกำแพงเพชร 6
ผมเห็นอุปกรณ์กระตุกหัวใจไฟฟ้า AED ติดตั้งที่ผนังหลังเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ชั้นล่างของอาคาร ผมทึ่งและกล่าวแสดงความชื่นชม เมื่อคืนเดียวกับคืนเกิดเหตุการณ์ผมร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ มีรุ่นพี่สูบบุหรี่ เราที่นั่งต่างก็ได้กลิ่นบุหรี่ ผมเดินไปแจ้งด้วยความสุภาพ เราไม่รู้ว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทิ้งขี้บุหรี่ไว้จุดใด เพราะในเมื่อสูบในอาคารได้จึงอาจทิ้งตรงใดก็ได้ การไม่ละเลยคือการแสดงความตระหนักร่วมกันจึงสามารถป้องกันได้มากกว่าฟื้นฟูที่ตามหาผู้รับผิดชอบ ซึ่งต้องต่อสู้กันในชั้นศาล และสร้างความทุกข์สืบเนื่องแก่ผู้คน การจัดงานรื่นเริง บันเทิง โดยเฉพาะวันสุดเหวี่ยงในค่ำวันศุกร์เพราะพักผ่อนในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง การ์ดดูแลและควบคุมเหตุการณ์ในแต่ละจุดเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินเป็นมาตรฐานที่จำเป็นในการยกระดับความปลอดภัยในอนาคต สนับสนุนการท่องเที่ยวและรักษาไว้ซึ่ง “การสร้างความสุขที่ปลอดภัย”
ท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ตำบลปลอดภัย” เวทีประชุมวิชาการภาคประชาชนครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ตำบลปลอดภัย หัวใจการแพทย์ฉุกเฉิน” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ระบุว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศไทยได้จากส่วนกลางเหตุจากอำนาจ การใช้กฎหมาย เรื่องเงินมายาคติและความฉ้อฉล ซึ่งได้พัฒนาไปสู่การนำตำบลเป็นพื้นที่หลักยึดโยงการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็น “ตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ประเด็นที่ผมยึดถือว่าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่ผมเสนอในการพิจารณาครั้งสุดท้ายเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่บางแสนก่อนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง โดยท่าน พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานในขณะนั้นได้เสนอสภาพัฒน์ฯ ดังนั้นการที่ประชาชนได้เข้าใจว่ายุทธศาสตร์ชาติสร้างผลลัพธ์เพื่อประชาชนให้ประชาชนมีความสุขและวัดผลได้อย่างมีประสิทธิผลจึงจะเกิดการยอมรับและเห็นคุณค่าความสำคัญจของยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดตัวชี้วัดเป็นความสุขของประชาชนภายใต้รากฐานความปลอดภัย จึงเป็นก้าวใหม่ที่ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะตระหนักรู้ร่วมกันอย่างที่หวังได้ สู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จบเสียทีกับปัญหาวนครับผม !!!
บทความโดย ปณิธาน สืบนุการณ์
นักพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืน