Site icon บางแสน

“กรกนก ยงสกุล” เซเลบน่องเหล็ก ตั้งเป้าพิชิต 6 สนาม วิ่งมาราธอนระดับโลก

566000009686601.jpg

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยกให้เป็นอีกหนึ่งสาวแข้งเหล็ก สำหรับ “เล็ก-กรกนก ยงสกุล” ที่ล่าสุดเพิ่งควงแขน สามี “ปิ๊ด-คณิตสรณ์ เปรมประเสริฐ” ไปพิชิต ชิคาโก มาราธอน (Chicago Marathon) 2023 ที่สหรัฐอเมริกา มาได้หมาดๆ หลังจากก่อนหน้านี้ ทั้งคู่ก็จูงมือกันไปพิชิต เบอร์ลิน มาราธอน ( Berlin Marathon) 2019 มาแล้ว


เล็กบอกเล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจไป Chicago Marathon ในครั้งนี้ว่า ได้สิทธิ์จากการลงทะเบียนเพื่อจับฉลาก (Lotto) มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 กว่าทุกอย่างจะลงตัว ก็เพิ่งได้ไปปีนี้ ซึ่งถือว่ามีเวลาเตรียมตัวพอสมควร

“เล็กมาเริ่มเตรียมตัวตอนเดือน มิ.ย. ประมาณ 3 เดือนกว่าๆ เล็กใช้วิธีจัดตารางซ้อมเอง เหมือนตอนที่ไป Berlin Marathon ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ มีไปลองตรวจ Lactate Test เพื่อหาโซนออกกำลังที่ถูกต้องแม่นยำของตัวเอง ที่เหลือก็อาศัยพลังใจและความมีวินัยในการขยันฝึกซ้อม โดยดูลิมิตของตัวเองว่าแค่ไหนเหนื่อย แค่ไหนไหว”


เล็กบอกว่า ปกติใน 1 สัปดาห์จะพยายามไปซ้อมวิ่งที่สวมลุมพินี ให้ได้ 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะพยายามวิ่งให้ได้ 30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเหมือนระยะ Cut off ของร่างกาย ส่วนในด้านจิตใจ เธอพยายามฝึกซ้อมแบบไม่เครียด เน้นมีวินัย พยายามจัดตารางชีวิตให้ลงตัว อาจจะมีเข้านอนเร็วขึ้น เพื่อที่จะได้ตื่นเช้าไปซ้อม

“ถามว่าระหว่างทางมีท้อ มีขี้เกียจหรือไม่อยากซ้อมบ้างมั้ย? แน่นอนค่ะ ต้องมี แต่เล็กมองว่า การวิ่งมาราธอนไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นเหมือนการกำหนดเป้าหมายชีวิต เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ การทำงานและการใช้ชีวิต ดังนั้น เราต้องตั้งใจ แม้ระหว่างซ้อมจะเหนื่อย เบื่อ ท้อ แต่เป้าหมายของเราคือ ไปแล้วต้องวิ่งให้จบ ถึงเราไม่ใช่นักวิ่งอาชีพ แต่นี่คือหนึ่งในเป้าหมายที่เราอยากทำให้สำเร็จ ด้วยตัวเราเอง เทคนิคของเล็กเวลาตั้งเป้าหมาย จะพยายามจินตนาการเป้าหมายออกมาเป็นภาพ เพื่อสร้างภาพจำ และนำไปสู่แรงจูงใจที่อยากจะไปสู่เป้าหมาย”


หลังจากผ่านบททดสอบอันหนักหน่วงในระหว่างซ้อม วันที่รอคอยก็มาถึง แม้จะไม่ใช่มาราธอนระดับโลกครั้งแรก แต่เล็กก็ยังอดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะพอวิ่งคนละเมือง เส้นทางเปลี่ยน บรรยากาศก็เปลี่ยน จากเมื่อครั้งไปเบอร์ลิน ที่ต้องบอกว่าครั้งนั้นฟ้าฝนไม่เป็นใจเท่าไหร่ ต้องวิ่งฝ่าฝน แถมบรรยากาศการเชียร์ก็อาจจะมีความแข็งๆ สไตล์เยอรมัน แต่พอมาชิคาโก นอกจากบรรยากาศของเมืองจะเปลี่ยนไป บรรยากาศของกองเชียร์ก็คึกคัก และมีอารมณ์ขันกว่าที่เบอร์ลิน เห็นได้จากป้ายข้อความต่างๆ ที่มีการหยอดมุกให้อ่านเพลินๆ ตลอดเส้นทาง

“ตอนเบอร์ลิน ด้วยความที่ฝนตกเฉอะแฉะไม่พอ พอจะแวะเติมพลังด้วยกล้วย ปรากฏกล้วยที่เขาวางให้ไม่เหมือนบ้านเรา เพราะเขาปลอกเปลือกให้เรียบร้อย พอมาเจอน้ำ คราวนี้เลยกลายเป็นกล้วยแฉะๆ ตอนแรกเราก็ว่าจะไม่กิน แต่วิ่งมาเหนื่อย ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องกิน พอมาที่ชิคาโกก็แอบลุ้นเรื่องกล้วย โชคดีที่ที่นี่เขาไม่ปอกเปลือก วางให้มาทั้งลูก เลยหยิบกินได้สบายใจ แถมยังได้ชมบรรยากาศของเมืองที่มีทั้งไชน่าทาวน์ กรีกทาวน์ และ โซนที่เป็นแวร์เฮาส์ เหมือนได้วิ่งไปเที่ยวชมเมืองไป ได้เห็นพลังของทีมนักวิ่งจากทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งทีมจากประเทศไทย ที่เราต่างให้กำลังใจกัน เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย”


เล็กบอกว่า หลังจากไปพิชิตมา 2 รายการ ขณะที่ คุณสามีนำหน้าพิชิตไปแล้ว 3 รายการ เพราะไป โตเกียว มาราธอน มาแล้วด้วย ทั้งคู่ตั้งใจว่าอยากจะไปเก็บให้ได้ครบทั้ง 6 รายการ ซึ่งตอนนี้ สำหรับเล็กยังขาด โตเกียว มาราธอน (Tokyo Marathon) บอสตัน มาราธอน (Boston Marathon) ลอนดอน มาราธอน (London Marathon) และ นิวยอร์ก ซิตี้ มาราธอน (New York City Marathon)

“เล็กคิดว่าเราน่าจะไปเก็บ บอสตัน มาราธอน เป็นสนามสุดท้าย เพราะโหดสุด มีการกำหนดเกณฑ์ความเร็วของผู้ที่จะเข้าร่วม ต่างไปตามรุ่นอายุ ซึ่งรายการที่ทำเวลาได้นั้น ต้องได้รับการรับรองจาก สมาคมวิ่งมาราธอนนานาชาติ (IAAF AIMS) ซึ่งในไทยจะมี บุรีรัมย์, ลากูน่า ภูเก็ต, จอมบึง, บางแสน 42, ขอนแก่น, สงขลา, โพธิ์ตาก มาราธอน ที่หนองคาย โดยเมื่อทำเวลาได้แล้ว ถึงจะได้ใบรับรองไปสมัคร บอสตัน มาราธอน อีกที่ซึ่งเล็กก็ตั้งใจว่าอยากจะลองทำให้สำเร็จ เพราะคิดว่าถ้าทำได้เก็บเหรียญได้ครบจะเป็นอะไรที่เทพมาก”


สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่าอะไรคือบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการวิ่งมาราธอน เล็กบอกว่า มาราธอนสอนให้รู้ว่า อะไรก็ตามที่เราอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปได้เสมอ โดยพลังสำคัญที่จะทำให้เป็นไปได้ มาจากความพร้อมของพลังใจที่จะส่งต่อไปยังร่างกาย นั่นเอง

Exit mobile version