กรุงเทพมหานครเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” กิจกรรมสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Culture School) ภายใต้ โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร คัด 20 โรงเรียนกทม. 80 เยาวชน แข่งขันพิชิต “โรงเรียนติดดาว” ต้นแบบสร้างวัฒนธรรมองค์กร “เยาวชนติดดาวไอดอล” ผู้พิทักษ์ความปลอดภัยบนท้องถนนกรุงเทพฯ พร้อมชิงรางวัลรวม 165,000 บาท โดยคณะกรรมการจะลงพื้นที่พิจารณาตามเกณฑ์ และรวมคะแนนจากลำดับที่มีการเก็บคะแนนผ่านสมุดพกออนไลน์ เพื่อตัดสินผู้ชนะ และจัดพิธีมอบรางวัล Road Safety Culture School ในเดือนตุลาคม 2566
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เปิดเผยถึง แพลตฟอร์ม “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ โครงการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ปี 2566 เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์รูปแบบ Hybrid ทั้ง Online และ Onsite เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมให้เยาวชนเริ่มต้นจาก “ตนเอง” ในการเรียนรู้เกี่ยวกับวินัยและกฎจราจร การปฏิบัติตามกฎจราจรที่สมาชิกบนท้องถนนพึงมี
การปลูกจิตสำนึก “รักษ์ความปลอดภัยทางถนน” และเสริมสร้างวินัยจราจรให้เยาวชน รวมถึงปลูกฝังให้เยาวชนเป็นตัวแทนถ่ายทอดพฤติกรรมรักษ์วินัยจราจร เชิญชวน “เพื่อน” และกระตุ้นให้ “ผู้ปกครอง” มีพฤติกรรมในการเสริมสร้างระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมกับ “โรงเรียน” เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยบนท้องถนนของกรุงเทพฯ โดยได้คัดเลือกโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 20 โรงเรียน จากเกณฑ์ที่โรงเรียนมีความพร้อมเข้าร่วมในการจัดกิจกรรม “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม”
“เรามองเห็นว่าทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันมีส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัย การที่จะเริ่มปลูกฝังวินัยจราจร คนสำคัญคือเด็กของพวกเรา จึงเป็นจุดความคิดที่จะเริ่มต้นที่เด็ก เพื่อปลูกจิตสำนึกในเรื่องวินัยจราจร ทำอย่างไรให้ใช้ถนนอย่างปลอดภัย และเป็นตัวอย่าง ต้นแบบให้ผู้ใหญ่ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยด้วย เริ่มต้นจาก 20โรงเรียนก่อน และหวังผลอย่างยิ่งว่าโรงเรียนอื่นๆ ในทุกสังกัดทั้งเอกชน หรือ สพฐ. จะดูต้นแบบเรา ถ้าเห็นเป็นประโยชน์ ก็นำไปใช้ไปพัฒนาต่อได้” ผอ.ไทภัทร กล่าว
นอกจากนี้ นายไทภัทร ยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สจส.ได้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ รวมถึงปรับปรุงทางข้ามทางม้าลาย ตลอดจนใช้เทคโนโลยีระบบ AI ในการควบคุมวินัยจราจร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางข้ามและการใช้รถในถนนของประชาชนใน ปรับปรุงกายภาพแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจราจร ในปีนี้ดำเนินการ 100 จุด และในปี 2567 จะดำเนินการอีก 100 จุด แต่แม้ว่าเราจะใช้เครื่องมือที่ดี ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ถ้าผู้ขับขี่ยังฝ่าฝืน ไม่มีวินัยจราจร ก็ไม่สามารถควบคุมหรือแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงเป็นที่มาของโครงการ “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” ซึ่งหวังให้เด็กๆได้ขยายผลไปยังผู้ใหญ่ สร้างความปลอดภัยบนถนนในระยะยาวต่อไป
การเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เด็กเริ่ม ผู้ใหญ่ร่วม” ณ โรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ เขตดินแดง มีโรงเรียนสังกัดกทม. 20 โรงเรียน ใน 6 กลุ่มเขต และ เยาวชนชั้นมัธยมปลาย 80 คน ที่ได้รับคัดเลือก ร่วมกิจกรรมเปิดค่าย “Youth Road Safety Camp” เสริมสร้างการเรียนรู้ผ่าน 4 ฐานกิจกรรม 1.รู้ให้แม่น – เริ่มจาก “ตนเอง” เรียนรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์และกฎจราจร 2.สร้างแฟนคลับ – ชักชวน “เพื่อน” ให้ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ความปลอดภัยบนท้องถนน 3.กำชับผู้ใหญ่ – เตือน “ผู้ใหญ่” ให้ปฏิบัติตามกฎจราจร 4.ปรับใช้กับโรงเรียน – สังเกตจุดเสี่ยงในโรงเรียน คิดแนวทางแก้ปัญหาและนำไปปรับใช้
สำหรับ 20 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ คือ 1.โรงเรียนวัดเทวสุนทร เขตจตุจักร 2.โรงเรียนบางเขน(ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ 3.โรงเรียนวัดแสนสุข เขตมีนบุรี 4.โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เขตคลองเตย 5. โรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร เขตบางบอน 6.โรงเรียนวัดสะแกงาม เขตบางขุนเทียน 7.โรงเรียนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท 8.โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม เขตดุสิต 9.โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เขตดินแดง 10.โรงเรียนวัดคลองใหม่ เขตยานนาวา 11.โรงเรียนวัดปลูกศรัทธา เขตลาดกระบัง 12.โรงเรียนวัดหนองจอก เขตหนองจอก 13.โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม เขตทวีวัฒนา 14.โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม เขตภาษีเจริญ 15.โรงเรียนวัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด 16.โรงเรียนฉิมพลี เขตตลิ่งชัน 17.โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย เขตสายไหม 18.โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม เขตบางคอแหลม 19.โรงเรียนสวนลุมพินี เขตปทุมวัน 20.โรงเรียนนาหลวง เขตทุ่งครุ
ด้าน นางสาวกัลยา เปานาเรียง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเทวสุนทร 1 ใน 20 โรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า การปลูกจิตสำนึก “รักษ์ความปลอดภัยทางถนน” และเสริมสร้างวินัยจราจรให้เยาวชน ปลูกฝังให้เยาวชนเป็นตัวแทนถ่ายทอดพฤติกรรมรักษ์วินัยจราจรถือเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ใหญ่ของกทม.ให้ความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนเด็กและเยาวชน เพราะถือเป็นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กได้สามารถถ่ายทอด บอกต่อให้กับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพกฎจราจร เสริมสร้างระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัย