บางแสน ชลบุรี

565000009508602.jpg

TIPMSE โชว์ 72 องค์กรเครือข่าย PackBack ใช้หลัก EPR จัดการขยะบรรจุภัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กระทรวงทรัพย์ฯ กรมควบคุมมลพิษ TIPMSE ประกาศเครือข่ายความร่วมมือโครงการ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” การันตีความสำเร็จด้วยเข็มเชิดชูเกียรติให้ 72 องค์กรนำหลัก EPR บริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดรับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล

วันนี้ -29 กันยายน 2565) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE (ทิป-เอ็ม-เซ่) จัดพิธีมอบเข็มเชิดชูเกียรติและมอบประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำแห่งความรับผิดชอบด้านความยั่งยืน โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน”


นายวราวุธกล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เช่นเดียวกับไทยที่กำลังเผชิญน้ำท่วมล่าสุดและแน่นอนว่านั่นคือมาจากภาวะโลกร้อน รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งขณะนี้เอกชนไทยถือว่าตื่นตัวอย่างมาก


นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะประธาน TIPMSE กล่าวว่า การนำหลัก EPR (Extended Producer Responsibility) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตสู่การขยายเครือข่ายร่วมรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และสอดรับแนวทางการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาล

“เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ได้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ TIPMSE ร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง นับเป็นการริเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือ งานครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิต เอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา องค์กรอิสระ 72 องค์กร และยังมีองค์กรอื่นๆ ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง” นายโฆษิตกล่าว


ความร่วมมือครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวจากทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญและความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการนำระบบ EPR มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้เกิดการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดรับนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามเป้าหมายที่รัฐวางไว้

สำหรับความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในโครงการ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” ได้ปฏิบัติการภายใต้คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนใน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1) การศึกษากลไกการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR 2) การดำเนินการสร้างต้นแบบและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 3) การสร้างการรับรู้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ถูกต้องและความเข้าใจต่อระบบ EPR และ 4) การดำเนินการขยายความร่วมมือไปยังภาคผู้ผลิตให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อสร้างกลไกหรือระบบนิเวศ (Ecosystems) ที่เหมาะสมและสอดรับกับบริบทของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในการนำขยะจากบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง


นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ผลิตและทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภายใต้แพลตฟอร์มในโครงการ “PackBack” ซึ่งสามารถนำไปขยายผลให้เกิดการสร้างระบบเครือข่ายที่สมบูรณ์ในประเทศไทยต่อการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ด้วยหลักการ EPR ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและรับมือกับกฎเกณฑ์และกติกา การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงกระตุ้นจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างระบบ Ecosystems ตั้งแต่การเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วสู่การเป็นวัตถุดิบที่สร้างมูลค่า

เรื่องล่าสุด