โอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นบ้านอันแสนสุขประหนึ่ง รีสอร์ท & คาราโอเกะ ของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาตั้งแต่ปี 1910
ก่อนหน้านั้นพวกเขาใช้สนามที่มีชื่อว่า “แบ๊งค์ สตรีท” มาตั้งแต่ยังใช้ชื่อสโมสรว่า “นิวตัน ฮีธ” โดยสนามแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองแมนเชสเตอร์นั่นแหละ
โอลด์ แทรฟฟอร์ด ออกไปนอกเมืองเล็กน้อยทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยสังเวียนแข้งแห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวสก๊อตแลนด์ชื่อ อาร์ชิบัลด์ ไล้ตช์ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบสนามในเมืองหลวงลูกหนังมากมายหลายต่อหลายแห่ง
อาทิ แอนฟิลด์, กูดิสัน พาร์ค, ไฮบิวรี่, สแตมฟอร์ด บริดจ์, วิลล่า พาร์ค, ไวท์ ฮาร์ท เลน, คราเวน ค๊อตเทจ, ไอบร็อกซ์ พาร์ค, ฮิลส์โบโร่, บรามอล เลน, อีวู๊ด พาร์ค รวมถึง แฮมป์เดน พาร์ค (บ้านของทีมชาติสก๊อตแลนด์) และอื่นๆ อีกไปยาล
ตลอดระยะเวลา 112 ปีที่ผ่านมา โอลด์ แทรฟฟอร์ด ผ่านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพลางขยายขนาดความจุผู้ชมมาหลายต่อหลายครั้ง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โอลด์ แทรฟฟอร์ด เคยถูกระเบิดของพวกเยอรมันลงจนพินาศถึงขนาดต้องไปขอยืมสนาม เมน โร้ด ของคู่แข่งร่วมเมืองเดียวกันอย่าง แมนฯ ซิตี้ เป็นบ้านชั่วคราวของตัวเองตั้งแต่ปี 1941 ถึง 1949
ชื่อเล่นของ โอลด์ แทรฟฟอร์ด คือ “เดอะ เธียเตอร์ ออฟ ดรีม” หรือพากย์ไทยว่า “โรงละครแห่งความฝัน” ผู้ที่รจนาชื่อนี้ให้ก็มิใช่ใครที่ไหน
หนึ่งในดาวเตะเดนตายจากโศกนาฏกรรมที่ มิวนิค เมื่อ 1958 อย่าง เซอร์ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน นั่นเอง
ปัจจุบัน “โรงมหรสพแห่งความฝัน” แห่งนี้มีความจุผู้ชมที่ประมาณ 76,000 คน ถือเป็นสนามที่มีขนาดใหญ่และยาวมากที่สุดในระดับสโมสรของสหราชอาณาจักร
อัฒจันทร์ทั้ง 4 ด้านมีชื่อเป็นของตัวเอง ฝั่งทิศใต้ หรือ “เมน สแตนด์” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เซอร์ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน สแตนด์” ซึ่งกาลครั้งหนึ่งยังไม่นานเท่าไหร่ ดาวเตะผู้เป็นสถาบันแห่งความหฤห่ามอย่าง รอย คีน เคยตั้งชื่อให้อัฒจันทร์ฝั่งนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า “ฟัคกิ้ง พรอว์น แซนด์วิช สแตนด์”
หรือ “อัฒจันทร์ฝั่งพ่อมึงเข้ามาแดกส์แซนด์วิชกุ้ง” เหตุเพราะต้องการแดกดันพวกแฟนผีตัวปลอมที่ชอบเข้ามากินแซนด์วิชกุ้งแกล้มไวน์บนที่นั่งราคาแพงๆ แล้วไม่ยอมส่งเสียงเชียร์
อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือมีนามว่า “เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สแตนด์”
อัฒจันทร์ฝั่งนี้สร้างคร่อมถนนเก่าชื่อ “ยูไนเต็ด โร้ด” ซึ่งเป็นถนนเรียบลำคลองเล็กๆ ชื่อว่า “คลองรอชเดล” ข้างหน้าอัฒจันทร์มีรูปปั้นของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยืนทักทายพลางยักคิ้วให้ผู้มาเยือน
ด้านบนของอัฒจันทร์คือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เอาไว้เก็บถ้วยรางวัลนั่นแหละ
ฝั่งตะวันตก คืออัฒจันทร์สำหรับพวกแฟนบอลแบบฮาร์ดคอร์ ต้นเสียงในการตะเบ็งเพลงเชียร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นาม “สเตร็ทฟอร์ด เอนด์”
ถ้า แอนฟิลด์ มี เดอะ ค็อป แกรนด์ สแตนด์ หรือ “สปีออน ค็อป” โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็มี “สเตร็ทฟอร์ด เอ็น” เป็นที่สิงสู่ของแฟนบอลระดับฮาร์ดคอร์
ส่วนอัฒจันทร์ฝั่งทิศตะวันออก หรือ “อิสต์ สแตนด์” ซึ่งมีห้างสรรพสินค้า “เมกกะ สโตร์” อยู่ทางด้านล่าง ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่แฟนบอลมักจะเรียกชื่อตามสปอนเซอร์หลักของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่พ่นสีลงไปบนเก้าอี้
ยกตัวอย่างตอนที่มี “ไนกี้” เป็นสปอนเซอร์ แฟนบอลก็เรียกอัฒจันทร์ฝั่งนี้ว่า “ไนกี้ สแตนด์”
ด้านหน้าสนามมีถนน 2 สายมาบรรจบกันคือ “เซอร์ แมตต์ บัสบี้ เวย์” กับ “เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เวย์” มีรูปปั้นของบรมกุนซือผู้ล่วงลับอย่าง เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ยืนตระหง่านอยู่ ซึ่งผมตั้งชื่อให้เองแบบไทยๆ ว่า “ศาลพ่อปู่บัสบี้”
ตรงข้ามกับ “ศาลพ่อปู่บัสบี้” มีอนุเสาว์รีย์ 3 ทหารเสือ
“ยูไนเต็ด ทรีนิตี้” ที่ประกอบด้วยรูปปั้นของ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน, จอร์จ เบสต์ และเดนิส ลอว์
นี่คือสนามฟุตบอลที่คอลัมนิสต์ลูกหนังผู้อุทิศวิญญาณให้ปีศาจแดงอย่างผมเคยบุกไปเยือนมากที่สุด มากกว่า ราชมังคลาฯ และ ศุภชลาศัย เสียอีก
ชีวิตนี้ผมไปเยือน โอลด์ แทรฟฟอร์ด มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง โดยมีโปรแกรมจะกลับไปนมัสการศาลพ่อปู่บัสบี้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้
ว่าแล้วขอพูดแบบไม่เข้าข้างตัวเองว่านี่คือสังเวียนแข้งที่มีความสวย เพียบพูนด้วยเสน่ห์ และสง่างามมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองมนุษย์
เมื่อหลายวันก่อน สื่อของอังกฤษอย่าง “เดอะ เทเลกราฟ” รายงานว่า โอลด์ แทรฟฟอร์ด กำลังจะถูกทุบทิ้งซะอย่างนั้น !!!
ทุบทิ้งเพื่อเนรมิตมันขึ้นมาใหม่ตามสมัยนิยมให้มีความยิ่งใหญ่และอลังการมากยิ่งขึ้น โดยมีรายงานต่อมาว่าเจ้าของทีมอย่างตระกูล เกลเซอร์ กำลังขบคิดอย่างหนักถึง 3 ทางเลือก สำหรับการปรับปรุงสนามของพลพรรคปีศาจแดง
1. ขยายความจุอัฒจันทร์ฝั่ง เซอร์ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน สแตนด์ เพื่อให้รองรับแฟนบอลมากขึ้น โดยจะขยายขึ้นไปคร่อมทางรถไฟที่อยู่ด้านหลังช่วยให้ โอลด์ แทรฟฟอร์ด มีความจุเพิ่มขึ้นถึง 80,000 คน
2. บูรณะ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ใหม่หมดแบบครบวงจร โดยใช้โครงสร้างเดิมของสนามทั้งหมด แต่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโซนที่นั่งของผู้เข้าชม รวมถึงโซนทำงานของทั้ง 4 ฟากสนาม
3. และมีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะเลือกวิธีทุบทำลาย โอลด์ แทรฟฟอร์ด ทิ้งพลางเนรมิตสนามใหม่ตามสมัยนิยมเหมือนที่ สเปอร์ส ทุบ ไวท์ ฮาร์ทเลน และสร้าง ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม
เหมือนที่ แมนฯ ซิตี้ เปลี่ยนมาใช้ “ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดี้ยม” หรือ “เอติฮัด สเตเดี้ยม” ในปัจจุบันที่สภาเมืองแมนเชสเตอร์ยกให้ทีมเรือใบสีฟ้าเอาไปเป็นบ้านของตัวเอง
เหมือนที่ อาร์เซน่อล ถีบตัวเองจากสนามที่เข้มขลังอย่าง ไฮบิวรี่ (อาร์เซน่อล สเตเดี้ยม) แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ในสไตล์ชามอ่างยักษ์ที่ยิ่งใหญ่และโอ่อ่ากว่าอย่าง เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม
เหมือนที่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ย้านออกจาก อัพตัน พาร์ค หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “โบลีน กราวน์” มาฝังหนอกที่ ลอนดอน สเตเดี้ยม หรือแม้แต่สนามกีฬาแห่งชาติอย่าง เวมบลี่ย์ ของอังกฤษ ที่ยอมทำลายสัญลักษณ์ “หอคอยคู่” เพื่อแปลงร่างเป็น นิว เวมบลี่ย์ ที่ทันสมัยมากกว่าเดิม
คาดว่าการเนรมิต โอลด์ แทรฟฟอร์ด ขึ้นมาใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิมจะใช้งบประมาณมหาศาลถึง 1,500 ล้านปอนด์ ซึ่งจะทำให้สนามเจ้าของแชมป์หญ้าสวย 2 สมัยซ้อนกลายเป็นสนามฟุตบอลที่มูลค่ามหาศาลมากที่สุดของ อังกฤษ ทำลายสถิติ 1,100 ล้านปอนด์ ของ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ สเตเดี้ยม โดยว่ากันว่ามันจะจุผู้ชมได้ถึง 90,000 คนเทียบเท่ากับ เวมบลีย์ เลยทีเดียว
และนั่นหมายความต่อมาว่า แมนฯ ยูไนเต็ด อาจตัองไปขอใช้สนาม เอติฮัด สเตเดี้ยม ของ แมนฯ ซิตี้ เป็นบ้านของตัวเองแบบชั่วคราวเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2
ความรู้สึกแรกของผมหลังจากได้รับทราบข่าวนี้คือ “อืมมมมม…นะ” เพราะถามว่าจำเป็นหรือเปล่า ???
คำตอบคือมันก็ยังไม่มีความจำเป็นอะไรมากมาย แต่แน่นอนว่าสนามใหม่ย่อมทันสมัยกว่าเก่า แถมยังรองรับแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกได้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้อันสุดแสนมหาศาลมากกว่าเดิม
โทษฐานของผู้มีจิตศรัทธาในปีศาจแดงคนหนึ่ง ขอสารภาพว่าผมไม่มีความรู้สึกดีใจห่าเหวอะไรเลย เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังนั่งเบียดกับความตกต่ำและดำดิ่งอย่างน่าละเหี่ยใจ
เงิน 1,500 ล้านปอนด์ที่จะเอามาวอดวายให้สนามใหม่ควรจะถูกเอาไป “รีเซ็ต” ทีม เพื่อการกลับชาติมาเกิดใหม่แล้วมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ให้ตัวเองก่อนซะมากกว่า
กลับมายิ่งใหญ่แล้วค่อยสร้างสนามใหม่ดีกว่า
ทว่าไอ้พวกปลิงอเมริกัน เจ้าของทีมเฮงซวยคงจะคำนึงถึงเรื่องธุรกิจของตัวเองมากกว่าความสำเร็จของสโมสรตามสไตล์นายทุน การเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์
เข้าใจครับว่า โอลด์ แทรฟฟอร์ด ใหม่ย่อมโออ่า ทันสมัย และกอบโกยรายได้ให้สโมสรมากขึ้นในระยะยาว
ที่สูญหายไปคือความคลาสสิกอันสะท้อนถึงความเป็นทุนนิยมแบบเต็มตีนของไอ้พวกเกลเซอร์ ฟัคกิ้ง แฟมิลี่ ที่เพิกเฉยต่อความตกต่ำของสโมสร
บอ.บู๋
Add friend ที่ @Siamsport