Site icon บางแสน

EEC ร่วมสร้าง “ศรีราชา..เมืองน่าอยู่ Wellness City”

E0B982E0B8A5E0B881E0B983E0B89AE0B983E0B8ABE0B8A1E0B988.jpg

ความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษ หรืออีอีซี กำลังปรับตัวเปลี่ยนไปมากในกระแสการพัฒนาครบมิติที่อีอีซีจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หมายถึงการพัฒนาที่นอกจากจะปรับสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โลจิสติกส์ และการสื่อสารแล้ว ยังมุ่งสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ผู้คน-สังคมท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการพัฒนา คู่ไปกับการลงทุนและการสร้างความก้าวหน้าขับเคลื่อนประเทศด้วย

หมุดหมายสำคัญตามภารกิจการพัฒนาที่ยั่งยืนของอีอีซีในการเชื่อมโลกให้ไทยแล่นนั้น มุ่งสร้างประโยชน์โภคผลให้ตกถึงผู้คน-สังคมชุมชนท้องถิ่นมาตลอด โดยเคลื่อนไปกับการสร้างความก้าวหน้ายุคใหม่ด้วย อันเป็นหลักประกันและการกระชับฐานรากให้เคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่ผ่านมาการพัฒนาและการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ก้าวหน้าไปด้วยดีโดยลำดับ ทั้งในมิติการปรับฐานด้านการคมนาคมทั้งบก เรือ อากาศ การดึงเม็ดเงินการลงทุน และการกระตุ้นใช้เทคโนโลยีปรับสร้างอุตสาหกรรม 4.0 รวมทั้งการยกระดับความก้าวหน้าด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากร รองรับการเติบโตเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลจนถึงการสื่อสารใหม่​ และการสาธารณสุข​ ที่มีหมุดหมายอยู่ที่คุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชนในท้องถิ่นครอบคลุมทั้งพื้นที่อีอีซี

การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่ขับเคลื่อนกันเต็มที่นั้น​นำสู่การเปลี่ยนแปลงของ​ “เมือง” ในทิศทางที่ดีขึ้น-สะดวกสบาย-ทันสมัยขึ้นด้วย นอกจากการปรับฐานการคมนาคมขนส่งแล้ว-​ยังก่อรูปการพัฒนามหานครการบินครอบคลุมพื้นที่ราว 6,000 ไร่ ในเขต 2 จังหวัดเชื่อมต่อกันที่อำเภอสัตหีบ ชลบุรี และอำเภอบ้านฉาง​ ระยอง วันนี้อีอีซีกำลังเดินหน้าพัฒนาเจาะลึกยกพื้นที่-สร้างเมืองน่าอยู่เพื่อการท่องเที่ยวและการอยู่อาศัยในแบบเวลเนส ซิตี (wellness City) ด้วย

โดยกำหนดเส้นทางพัฒนา-ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาเมืองแต่ละถิ่นย่าน ให้มีการเชื่อมเมืองถึงเมืองอย่างมีคุณภาพ จากบางแสน​ บางพระ​ ศรีราชา ​บางละมุง​ พัทยา​ บางเสร่​ แสมสาร​ บ้านฉาง ตะพง​ และเพ ฯลฯ เมืองเหล่านี้จะยกระดับเป็นเมืองคุณภาพสูง โดยศรีราชาจะเป็นเทศบาลเมืองขนาดเล็ก ที่เป็นเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพเมือง-คุณภาพชีวิต เช่นกับการพัฒนาปรับสร้างคุณภาพของพัทยาในรูปของนีโอพัทยา ที่ได้เดินหน้ามาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว

เทศบาลเมืองศรีราชามีพื้นที่ราว 4​ ตารางกิโลเมตร อยู่บนบกราว 2 ตารางกิโลเมตร อีก 2 ตารางกิโลเมตรอยู่ในทะเล ปัจจุบันมีประชากรหลักราว 25,000 คน ประชากรแฝงอีกราวกว่า 20,000 คน และมีชาวญี่ปุ่นใช้เป็นถิ่นพำนักในการทำงานในประเทศไทยอยู่เกือบ 7,000 คน​ ก่อนหน้าช่วงที่ยังไม่เกิดการระบาดของโควิดนั้น มีชาวญี่ปุ่นในศรีราชาอยู่ราว 2 หมื่นกว่าคน ปัจจุบันนี้ลดลง แต่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ!

ก้าวใหม่ของศรีราชายุคที่นายกเทศมนตรีชื่อ “ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง” หรือ “นายกปื๊ด” ของชาวศรีราชากลับมาบริหารครั้งนี้นั้นย่อมไม่ธรรมดา การสะสมสภาพสังคมเมือง 2 วัฒนธรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในศรีราชาที่นายกปื๊ดเริ่มไว้นั้น ช่วยให้เศรษฐกิจศรีราชาเติบโตก้าวหน้ามาได้อย่างดี การเป็นเมืองที่อยู่อาศัย-มีที่พักผ่อนหย่อนใจสวยงาม-มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถึงขนาดเคยได้รับรางวัลเมืองสะอาดน่าอยู่ระดับโลกมาแล้วใน 2 ช่วงทศวรรษก่อน สมัยที่ “นายกปื๊ด” ยังเริ่มทำงานเป็นนายกได้สมัยที่ 2 จนถึงวันนี้ศรีราชากำลังก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างน่าติดตาม โดยอาศัยความเป็นเมืองชายทะเลนี่แหละ!

อีอีซีจับมือกับนายกเทศมนตรีและคณะผู้บริหารเทศบาลปัจจุบัน เดินหน้าจัดปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เขตเกาะลอย-และจะทยอยปรับทั้งเมืองไปจนถึงตลาดสด มีการวางผังการใช้ประโยชน์จากภูเขาด้านข้างที่ทำการเทศบาลเมือง พร้อมกับสร้างสะพานเดินในทะเล-จัดปรับภูมิทัศน์ของที่อยู่อาศัยที่อยู่ 2 ข้างสะพานที่ยื่นลงทะเล ฯลฯ

ศรีราชาจะพัฒนาเป็นเมืองที่เรียกว่า ศรีราชาน่าอยู่…Wellness City มีการปรับพื้นฐานการจัดการเมือง-ภูมิทัศน์-และยกระดับคุณภาพชีวิตไปในขณะเดียวกัน ผู้คนทุกกลุ่มในศรีราชาจะได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพสุขภาพที่ดี โดยการแพทย์สมัยใหม่ จะเป็นเมือง 2 วัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่นที่น่าอยู่ มีทั้งตลาด ห้างสรรพสินค้าแบบญี่ปุ่น ร้านรวงแบบไทยๆ ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง และมีสถานศึกษาชั้นดีตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย เมื่อรถไฟความเร็วสูงเสร็จในปี 2568 การเดินทางจากศรีราชาไปกรุงเทพฯ จะใช้เวลาเพียง 20 นาที เช่นเดียวกับจากศรีราชาถึงสนามบินอู่ตะเภา-มหานครการบินแห่งใหม่ การพัฒนาทั้งหมดนี้เริ่มแล้ว-ความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของศรีราชาจะบรรลุสัมฤทธิผลในช่วงยุคของการบริหารนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันนี่แหละ!

มนต์เสน่ห์ของเมือง 2 วัฒนธรรมอย่างศรีราชาจะสัมผัสได้ เมื่อมาเยือนศรีราชา-จากผู้อยู่อาศัยทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวไทยในเมืองที่น่าอยู่แห่งนี้ ศรีราชามีแหล่งอาหารดี-อร่อย มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทั่วเมือง-มีคน 2 วัฒนธรรมอาศัยอยู่ร่วมกัน มีเทศกาลวันญี่ปุ่นทุกปี-เวลาอยู่ในงานเทศกาลญี่ปุ่นที่ศรีราชา จะมีความรู้สึกเหมือนอยู่ญี่ปุ่นยังไงยังงั้นเลย! สถานที่สำคัญในศรีราชามีป้ายบอก 2 ภาษาไทย-ญี่ปุ่น สภาพภูมิศาสตร์มีทั้งทะเลจนถึงภูเขา-คล้ายกับหลายเมืองในญี่ปุ่น ศรีราชาเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองมิซาโอะ เกาะฮอนชู

วันนี้ศรีราชากำลังยกระดับจัดปรับเป็นเมืองน่าอยู่-ปลอดภัยสำหรับทุกคน เป็นท้องถิ่นที่มีสภาเมือง-สภาประชาชนที่เทศบาลจัดตั้งและให้การรองรับ ทำหน้าที่ชี้แนะชี้นำ-ให้คำปรึกษาผู้บริหารเทศบาลและสภาเทศบาลเมืองศรีราชา ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของการเติบโตปรับตัวของเมืองที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจแบบ BCG ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีเป้าหมายสู่การเป็นเมือง “ศรีราชาน่าอยู่ Wellness City”.

Exit mobile version