Site icon บางแสน

ไขปม! ถังดับเพลิงเก่า-ความร้อน เพิ่มความเสี่ยงระเบิด

TSNBg3wSBdng7ijMhoxJBxaXAYZzIjwuKY5wNPfKv6Z.png

หลังเกิดเหตุถังดับเพลิงระเบิดในระหว่างการฝึกซ้อมที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม ทำให้นักเรียนเสียชีวิต 1 คนบาดเจ็บ 5 คน ทำให้มีข้อห่วงใยถึงความปลอดภัยของถังดับเพลิงว่าถังดับเพลิงทั่วๆ ไป อาจเกิดการระเบิดในลักษณะเดียวหรือไม่

เรื่องนี้มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญว่า ถังดับเพลิงที่เกิดเหตุครั้งนี้ เป็นชนิดใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นสารคนละชนิดที่บรรจุในถังดับเพลิงตามบ้าน

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ยืนยันว่า ถังดับเพลิงที่ระเบิด เป็นถังที่เจ้าหน้าที่ เตรียมสำรองไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นคนละถังกับที่ให้เด็กใช้ซักซ้อมดับไฟ ซึ่งสารที่เติมในถังดังกล่าวเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2

ส่วนสาเหตุการระเบิด ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม โดยถังดับเพลิงมีมาตรฐาน มีการดูแลบำรุงรักษาวาว์ล หัวฉีดให้พร้อมใช้งาน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

อ่านข่าวเพิ่ม “ถังดับเพลิง” ระเบิด! ใน ร.ร.ราชวินิตมัธยม นร.เสียชีวิต 1 คน

วสท.ชี้ความร้อนส่งผลต่อแรงดันในถังดับเพลิง CO2

นายสุรเชษฐ์ สีนาม ประธานสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระบุว่า ถังดับเพลิงที่เกิดเหตุครั้งนี้ นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนข้อสงสัยเรื่องความร้อนว่าถังชนิด CO2 ตากแดดได้ไหม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้น แต่จะมีเซฟตี้วาล์ว เป็นตัวช่วยระบายความดันออกจากถัง ไม่ให้เกิดการระเบิด

ในภาวะปกติถังดับเพลิงแบบ CO2 จะมีสถานะเป็นของเหลว อุณหภูมิติดลบ 50-60 องศา เมื่อฉีดพ่นออกมาจึงเย็น เป็นน้ำแข็ง แต่เมื่อนำไปอยู่ใกล้ความร้อน ทำให้เกิดแรงดันขยายตัว ถ้าไม่มีเซฟตี้วาล์ว แรงดันจะไม่ถูกระบายออก

ถ้าเกิดอุณหภูมิประมาณ 30 องศาฯ แรงดันจะขึ้นไปถึง 1,000 PHI  แรงดันจะทำให้เกิดการขยายตัว จึงต้องมีเซฟตี้วาล์วด้านท้าย ห้ามให้รูนี้อุดตัน ต้องดูว่าไม่มีช่องผ่าน 

คาดปัจจัยถังระเบิดเกิดเพราะถังเก่า ขาดการดูแล

สำหรับถังดับเพลิงประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ ตามกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีการทดสอบความแข็งแรงของถัง ทนแรงดันให้ได้อย่างน้อย 1.5 เท่า แต่กฎหมายนี้บังคับเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ไม่บังคับครอบคลุมถึงหน่วยงานทั่วไป และบ้านเรือนประชาชน

รวมถึงไม่ได้มีการกำหนดว่า ถังดับเพลิงมีอายุใช้งานเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตจะกำหนด แต่กรณีนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเกิดจากถังเก่ามาก ถูกใช้งานมานาน หลายครั้ง และอาจขาดการดูแลรักษา

ส่วนนางบุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท.กล่าวว่า  เนื่องจากเห็นถังดับเพลิงระเบิดฉีกขาดไปเลย ซึ่งถังดับเพลิง CO2 มีแรงดันภายในสูงตั้งแต่ 850 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ต้องตรวจและทดสอบเมื่อมีการใช้งานครบ 5 ปีว่าตัวถัง และอุปกรณ์ยังรับแรงดันได้หรือไม่

น่าจะเกิดจากถังสภาพเก่า ไม่ได้ดูแลต้องตรวจสอบดูแล ตามมาตรฐานกำหนด

ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะถังดับเพลิงมีความปลอดภัย ระงับเหตุเพลิงไหม้ได้ แต่สิ่งสำคัญ ต้องตรวจสอบสภาพให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยเฉพาะจุดต่อ บริเวณก้านบีบ สลัก สาย และเซฟตี้วาล์วไม่ให้อุดตัน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.จ่อแจ้งข้อหา 8 จนท.สาธิตดับเพลิง ร.ร.ราชวินิตมัธยม

ปลัด ศธ. สั่งสอบถังดับเพลิงระเบิด รร.ราชวินิตมัธยม ตาย 1 – เร่งเยียวยา

Exit mobile version