แพลงก์ตอนบลูม: ท้องทะเลชลบุรี กำลังกลายเป็น “เขตแห่งความตาย” ?

.

ที่มาของภาพ, Reuters

ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี แหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุง ที่ผู้คนเลือกเดินทางพักผ่อนช่วงวันหยุดยาว หรือสุดสัปดาห์ มาวันนี้ น้ำทะเลแปรเปลี่ยนเป็นสีเขียวมรกต

มองผิวเผินอาจดูแปลกตา แต่เมื่อเข้าไปสำรวจใกล้ ๆ กวักน้ำขึ้นมามองให้ชัดขึ้น จะพบว่าน้ำทะเลให้ความรู้สึกเหนียวหนืด เต็มไปด้วยกลิ่นหญ้าและปลาตาย

นี่คือปรากฏการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” หรือ “ขี้ปลาวาฬ” ที่มักเกิดทุกปี แต่ปีนี้เนิ่นน่านกว่าปกติ เพราะเกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ครอบคลุมผืนทะเลหาดบางแสน ลามไปถึงเกาะล้าน

แพลงก์ตอนบลูม เกิดจากระดับสารอาหารที่ลงทะเลในปริมาณมาก จนทำให้แพลงก์ตอนบางชนิดมีปริมาณมาก และเมื่อสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาและวาฬ กินแพลงก์ตอนเหล่านี้ขึ้นไป พวกมันอาจได้รับสารพิษเข้าไปในปริมาณมาก

ไม่เพียงเท่านั้น แพลงก์ตอนปริมาณมหาศาล จะทำให้ออกซิเจนในทะเลเหือดหายไป ส่งผลให้ปลา หอย และสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่น ๆ ตาย บริเวณที่เกิดแพลงก์ตอนบลูม จึงมักถูกเรียกว่า “เขตแห่งความตาย” กระทบต่อห่วงโซ่อาหาร ภาคการประมง และการท่องเที่ยวด้วย เพราะนักท่องเที่ยวไม่อยากลงไปเล่นน้ำ

Skip เรื่องแนะนำ and continue reading

เรื่องแนะนำ

End of เรื่องแนะนำ

“เขตแห่งความตาย”

แต่ปีนี้ แพลงก์ตอนบลูม ใน จ.ชลบุรี ถือว่ารุนแรงกว่าปกติ

“มีน้ำมันผสมด้วย เห็นไหม เนี่ยน้ำมันนะ” ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ โภควนิช อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้รอยเตอร์เห็นน้ำทะเลสีเขียว ที่เขาตักขึ้นมา

“แบบนี้เพิ่งเคยเห็น ตั้งแต่เกิดมาเลย ปีนี้มันรุนแรงจริง ตรงนั้นเนี่ยที่เราวัดคลอโรฟิลด์ 500 (มิลลิกรัมต่อลิตร) กว่า ปกติวัดแล้วจะอยู่ที่ 50-120 มิลลิกรัมต่อลิตร” เขาอธิบายถึงระดับคลอโรฟิลด์ของน้ำทะเลที่ได้รับผลกระทบจากแพลงก์ตอนบลูม ที่ปีนี้สูงกว่าปกติหลายเท่า

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

“มีน้ำมันผสมด้วย เห็นไหม เนี่ยน้ำมันนะ”

ที่มาของภาพ, Reuters

ขณะที่เขากำลังอธิบายถึงสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าวิกฤต ก็มีซากปลาไหลทะเลลอยตายผ่านหน้าเขาไป

ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ และทีมงาน ประเมินว่าปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมครั้งนี้ กระทบพื้นที่กว่า 1 ใน 4 ของอ่าวไทยตอนบนแล้ว พื้นที่กว่าครึ่ง น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวจนสังเกตได้ ที่เหลือก็กลายเป็นสีน้ำตาลจากมลพิษ และซากแพลงก์ตอนที่ตาย

“แพลงก์ตอนที่มันอยู่ในน้ำ มันกินสารอาหารจนหมด หรือว่ามันตายเพราะว่ามันไม่มีแสง” เขาอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมแพลงก์ตอนบลูม ทำให้ออกซิเจนลดลงอย่างมาก

“ซากของมันก็ตกลงพื้นท้องน้ำ แล้วก็ย่อยสลายโดยแบคทีเรีย ตอนย่อยสลายก็ทำให้ออกซิเจนในน้ำหมดไป ก็คิดว่า กระบวนการยูโทรฟิเคชันเนี่ยแหละ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น และทำให้ปลาตายเยอะมาก ในปัจจุบัน

ความเสียหายประเมินค่าไม่ได้

ตามแนวชายฝั่งของ จ.ชลบุรี เต็มไปด้วยฟาร์มหอยแมลงภู่ และหอยนางลม กลางทะเลมากกว่า 260 แห่ง

ข้อมูลจากกรมประมงเมื่อปี 2564 ระบุว่า จ.ชลบุรี ผลิตหอยแมลงภู่ได้ถึง 2,086 ตันต่อปี รวมมูลค่ากว่า 26,655,000 บาท

แต่มาวันนี้ สมาคมประมงชลบุรีระบุว่า ฟาร์มหอยแมลงภู่กว่า 80% ล้วนได้รับผลกระทบจากแพลงก์ตอนบลูม

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

คลื่นซัดเข้าชายฝั่ง เป็นสีเขียวอย่างน่าแปลกตา

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

เปลวคลื่นสีเขียว

“เสียหาย 100% พอเขย่า ไม่มีตัวเป็นเหลือหมดแล้ว ตายหมด ทั้งหอยนางรมด้วย” สุชาติ บัววาด ชาวประมงที่ทำอาชีพนี้มากว่า 20 ปี ใน อ.ศรีราชา ดึงผืนอวนที่เต็มไปด้วยหอยแมลงภู่ที่ตายแล้วขึ้นมาให้ดู

เขาประเมินว่า ความเสียหายสำหรับฟาร์มของเขาเจ้าเดียวในปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท แต่หากรวมความเสียหายฟาร์มทุกแห่งในแถบนี้ เขายอมรับว่า “ประเมินค่าไม่ได้”

ผล… เอลนีโญ ?

ความเสียหายจากแพลงก์ตอนบลูม ที่ยังประเมินไม่ได้ ทำให้ ผศ.ดร.ธนัสพงษ์ กำลังตรวจสอบความเชื่อมโยงของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และปรากฏการณ์เอลนีโญ ว่ามีผลต่อการเกิดแพลงก์ตอนบลูมที่รุนแรงขึ้นหรือไม่

ที่มาของภาพ, Reuters

เขาพบว่า แพลงก์ตอนบลูมใน จ.ชลบุรี เกิดจากสาหร่ายสายพันธุ์ “น็อกติลูกา” ซึ่งเชื่อว่า เป็นสายพันธุ์สาหร่ายที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการเกิดเอลนีโญ

“ทุกคนยอมรับแล้วว่า เอลนีโญ กระบวนการที่เกิดขึ้นไกล ๆ จากมหาสมุทรแปซิฟิกมันส่งผลกระทบกับประเทศไทย” เพราะเอลนีโญ ทำให้เกิคดวามแห้งแล้ง อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น

“ปีนี้เอลนีโญรุนแรง มันก็บังเอิญประกอบกับ แพลงก์ตอนบลูมที่รุนแรง” เขาชี้ แต่ยอมรับว่า ในทางวิชาการยังไม่สามารถชี้ชัดถึงความเชื่อมโยงของสองปรากฏการณ์นี้ได้

“ทุกอย่างมันกำลังจะแย่ลง ถ้าไม่ปรับตัวในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ปรับตัวในการใช้ชีวิต ยังทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำ ขยะเอย… ถ้าเกิดทุกคนไม่ช่วยกัน ผมว่ามันก็เหมือนเดิม”