บางแสน ชลบุรี

566000001363603.jpg

เลือกตั้ง 66 ศึกบ้านใหญ่ เช็กชื่อ“บ้านใหญ่-ตระกูลดัง” “แป๊ะ” เอาจริง- “เฮ้ง” ลำบาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – หากไม่มีอะไรผิดพลาด เลือกตั้งใหญ่ปี 2566 คงได้เปิดคูหากาบัตรกันในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้

อันเป็นการเลือกตั้งที่ถูกขนานนามล่วงหน้าว่าเป็น “ธนกิจการเมือง” เต็มรูปแบบ มีการทุ่มเงินลงทุนเพื่อให้เป็นผู้ชนะ ช่วงชิง “อำนาจรัฐ” มากเป็นประวัติการณ์ จนว่ากันว่า กลายเป็นยุคทองของนักเลือกตั้งในนาม “บ้านใหญ่-ตระกูลดัง” ที่หลายพรรคการเมืองหมายปอง หวังใช้เป็น “แต้มต่อ” ในสนามเลือกตั้ง

เกิดปรากฎการณ์ “ย้ายข้าง-สลับขั้ว” ทำให้เรื่องอุดมการณ์การเมือง และกลบเทรนต์ “คนรุ่นใหม่” ที่มักเป็นที่นิยมมาทุกยุคทุกสมัยจนเลือนลางไปพอสมควร

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 90 วัน จะถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 วันสุดท้ายของปฏิทินเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ถือดาบ “ยุบสภา” แต่เพียงผู้เดียว เลือกที่จะทู่ซี้ปล่อยให้สภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

หรือบวกไปอีก 2 สัปดาห์ในกรณีที่ “นายกฯตู่” ชักดาบยุบสภามาใช้ในช่วงสภาฯ ใกล้ครบเทอม

สำคัญที่ผ่านพ้นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งถือเป็น “เดดไลน์” ที่นักเลือกตั้งต้องเข้าสังกัดพรรคการเมือง ให้ครบ 90 วันกรณีสภาฯ อยู่ครบเทอม และมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ไปแล้ว ทว่ายังมี ส.ส.หลายหน่อ-หลายมุ้ง ที่ตกปากรับคำไปร่วมงานกับ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังไม่ขยับลาออกจากต้นสังกัดเดิม

รูปการณ์เช่นนี้ อนุมานได้ว่า จะมีการยุบสภาก่อนสภาฯ หมดเทอมอย่างแน่นอน เหลือแค่ วัน ว. เวลา น. ที่ต้องลุ้นกันจะเป็นเมื่อใด

แต่ที่แต่ละค่ายการเมืองไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร ก็เพราะประเมินตามหน้าเสื่อแล้วก็รู้กันว่า พรรครวมไทยสร้างชาต ที่เตรียมเสนอ “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น มีความพร้อมน้อยที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองหัวแถว

ดังนั้นคงมีการยุบสภาช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดีเมื่อสำรวจตรวจสอบตลาดการเมืองวันนี้ ก็ต้องถือว่า เกือบ “ตลาดวาย” แล้ว เมื่อบรรดา “บ้านใหญ่-ตระกูลดัง” เข้าประจำจุดมีสีเสื้อกันเกือบครบถ้วนแล้ว

เริ่มที่ “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะสูญเสียขุนพลไปบางส่วน แต่ก็ยังถือว่าตรึง “บ้านใหญ่” ไว้ได้พอสมควร ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือ ที่เพิ่งได้ “ลูกนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และทีมงานพรรคเศรษฐกิจไทย กลับสู่อ้อมอก โดยมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ

ที่ จ.เพชรบูรณ์ มีทั้งบ้านใหญ่พร้อมพัฒน์-พั้วช่วย-ทองใจสด-อนรรฆพันธ์ ที่นำโดย สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค เป็นกำลังหลักและประกาศกร้าวจะยกจังหวัดอีกครั้งเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ จ.กำแพงเพชร ทั้พร้อมหน้าทั้งบ้านใหญ่ลิกค์-รัตนากร-อาภรณ์รัตน์ คาดว่าจะยกจังหวัดเหมือนเดิม

ส่วนภาคกลาง ยังเหนียวแน่น มีทั้ง “บ้านใหญ่เมืองสิงห์” ของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, “บ้านใหญ่สระแก้ว” ของ ตรีนุช เทียนทอง และ “บ้านใหญ่ปากน้ำ” ของ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม

เหลือที่ต้องลุ้นทิศทางของ “กลุ่มสามมิตร” ที่มีทั้ง “บ้านใหญ่สุโขทัย” ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ “บ้านใหญ่ราชบุรี” ของตระกูลนิติกาญจนา ว่าจะยังคงอยู่กับ “ลุงป้อม” ที่พรรคพลังประชารัฐ หรือข้ามข้วไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ตามกระแสหนาหูในระยะหลัง

ขณะที่โซนอีสาน ก็เป็น “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” ของ “เฮียยักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค ที่รับหน้าเสื่อดูแลทั้งภาค ขณะที่ภาคใต้ ก็ได้ พินิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ อันวาร์ สาและ มาเป็นขุนพล

ด้าน “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ไม่เบาเดิมเกมดูดบ้านใหญ่มาร่วมไม่น้อย เด่นๆคงเป็นพื้นที่ภาคใต้เป้าหมาย ที่ได้ “บ้านใหญ่ชุมพร” ชุมพล จุลใส, “บ้านใหญ่สุราษฎร์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี มาผนึกกำลังกับ “บ้านใหญ่กาญจนะ”, “บ้านใหญ่พัทลุง” วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง, “บ้านใหญ่เสนพงศ์” ร่วมกับ “บ้านใหญ่วิชัยกุล” ที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ที่ได้ เจือ ราชสีห์-พยม พรหมเพชร-ศาสตรา ศรีปาน

ขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้ “ตระกูลซูสารอ” คุมงานที่ จ.ปัตตานี ร่วมด้วย “บ้านใหญ่ยาวอหะซัน” ที่ จ.นราธิวาส
ภาคเหนือ-ภาคกลางตอนบน กำกับโดย “เสธ.หิ” หิมาลัย ผิวพรรณ โซนอีสาน เป็น “ซุ้มแรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์

โซนภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก นำโดย “บ้านใหม่เมืองชลฯ” ของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น, “บ้านใหม่แปดริ้ว” ของ “นายกฯ ไก่” กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา, “บ้านใหญ่เมืองเพชร” โดย “นายกฯปราย” ชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี และ “บ้านใหญ่นพอมรบดี” ที่ จ.ราชบุรี

นอกจากนี้ยังเตรียมต้อนรับ “บ้านใหญ่ชัยนาท” โดย “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย, “บ้านใหญ่ปากน้ำโพ” ตระกูลสุนทรเลขาที่ จ.นครสวรรค์, “เจ๊โอ๋” รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.ผูกขาดแห่ง จ.สมุทรสงคราม ตลอดจน “บ้านใหญ่เมืองแพร่” ของ “แม่เลี้ยงติ๊ก” ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ที่อาจหนีบ “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ แห่งพิษณุโลกสองแควมาด้วย
ด้าน “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่ชูธงแลนด์สไลด์ และทำทีรังเกียจวัฒนธรรม “บ้านใหญ่” โดยก่อนหน้านี้ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาพูดถึงการการกว้านซื้อ ส.ส.ที่ราคาพุ่งสูงถึงหัว 80 ล้านบาท ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายาม “ตีปลาหน้าไซ” สกัดไม่ให้ ส.ส.ของตัวเองไหลออก
ทว่า ยี่ห้อ “ทักษิณ” ถือเป็นต้นตำรับวัฒนธรรม “บ้านใหญ่” ตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทยในอดีต มาวันนี้พรรคเพื่อไทยก็ยังคงเต็มไปด้วยบรรดาบ้านใหญ่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ-อีสาน ทั้งที่ จ.เชียงราย ที่มีทั้งบ้านใหญ่เตชะธีรวัฒน์-ติยะไพรัช-เชื้อเมืองพาน หรือที่ จ.เชียงใหม่ ก็ยังมีบ้านใหญ่อมรวิวัฒน์-บูรณุปกรณ์ ที่เป็นตัวแทน “บ้านใหญ่ชินวัตร” เป็นหัวหอก
ถัดลงมาที่ จ.ลำปาง ก็มีทั้งบ้านใหญ่โล่ห์สุนทร-จันทรสุรินทร์,จ.ลำพูน ก็มีตระกูลพงษ์มณี-มณีรัตน์, จ.แพร่ ก็เป็นสัมปทานของ “บ้านใหญ่เอื้ออญิญากุล” หรือที่ จ.น่าน ก็มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค คุมทัพอยู่
ที่ภาคอีสาน เรียกได้ว่าเป็น “แดนบ้านใหญ่” มีทั้ง “ตระกูลศรีวรขาน” ที่ จ.นครพนม, “ตระกูลจรัสเสถียร-คลังแสง-ศิริพานิชย์” แห่ง จ.มหาสารคาม, จ.อุดรธานี มีทั้งตระกูลสาราคำ-ชัยนิคม-เมนะสวัสดิ์, จ.อุบลราชธานี คุมงานโดย “บ้านใหญ่กัลป์ตินันท์”, จ.นครราชสีมา นอกจาก “บ้านใหญ่จันทรรวงทอง-ปัทมะ” แล้ว ก็เพิ่งได้ “ซุ้มกำนันป้อ” วีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล มาเป็นอาวุธหนัก

”สนธยา คุณปลื้ม” นำคณะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย

”สุชาติ ชมกลิ่น” ย้ายไปซบ “ลุงตู่” ณ พรรครวมไทยสร้างชาติ
ที่ภาคตะวันออก ก็ได้ “บ้านใหญ่แปดริ้ว” นำโดย “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ ที่จะมาผนึกกับ “บ้านใหญ่ชลบุรี” ของ สนธยา คุณปลื้ม ปั้นที่นั่ง ส.ส.ภาคตะวันออก รวมไปถึง “บ้านใหญ่เทียนทอง” ของ “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง แห่ง จ.สระแก้ว ที่เตรียมเปิดศึกสายเลือดอีกครั้ง

ขญะที่ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย โดดเด่นในภาคอีสานเช่นกัน ตั้งแต่ “บ้านใหญ่ชิดชอบ” ที่เบ็ดเสร็จใน จ.บุรีรัมย์-สุรินทร์, “บ้านใหญ่โพธิ์สุ” ที่ จ.นครพนม, “บ้านใหญ่ไตรสรณกุล-สรรณ์ไตรภพ-แซ่จึง-เพ็งนรรัตน์-อังคสกุลเกียรติ” ที่หมายยึดทั้ง จ.ศรีสะเกษ

ส่วนภูมิภาคอื่น ก็มี “บ้านใหญ่รัชกิจประการ” ที่ดูแลทั้งภาคใต้ ส่วนภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย ได้ “บ้านใหญ่วันไชยธนวงศ์-แก้วมีชัย” ลงมาที่ จ.พิษณุโลก ได้ “บ้านใหญ่ช่างพินิจ” มาปักธง

หรือภาคกลางที่เน้น จ.พระนครศรีอยุธยา โดย “บ้านใหญ่ด่านชัยวิจิตร-ชีวานันท์” เช่นเดียวกับที่ จ.ราชบุรี ที่ได้หลายประสานจาก “ตระกูลประเสริฐโสภา-กลิ่นประทุม-ไกรคุปต์”, จ.อ่างทอง ก็มี “ตระกูลปริศนานันทกุล”, จ.อุทัยธานี ของ “ตระกูลไทยเศรษฐ์”

ภาคตะวันออก ได้ “บ้านใหญ่วิลาวัลย์” ยึดหัวหาด จ.ปราจีนบุรี และ ภาคตะวันตก “บ้านใหญ่โพธิพิพิธ” คุม จ.กาญจนบุรี และ จ.เพชรบุรี

ส่วน “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ โดยดูดไปไม่น้อย แต่หลักๆ ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ “เมืองคอน” จ.นครศรีธรรมราช คุมงานโดยบ้านใหญ่เดชเดโช-บุณยเกียรติ-รัตนพันธ์, เมืองตรัง ภายใต้บารมี “นายหัว” ชวน หลีกภัย มี “บ้านใหญ่วงศ์หนองเตย-โล่สถาพรพิพิธ”ลงรักษาพื้นที่

จ.สงขลา เป็นยุค “บ้านใหญ่ขาวทอง” ของ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ร่วมด้วย “บ้านใหญ่บุญญามณี” ของ นิพนธ์ บุญญามณี, จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมด้วยช่วยกันหลายตระกูล ทั้ง “เลิศไกร-พริ๊งศุลกะ-ศรีบุศยกาญจน์-นิลวัชรมณี-ประดิษฐพร” ที่ตั้งแท่นรบกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่หมายเจาะหลายเขต

รวมไปถึงพื้นที่อื่นที่ยังคงเหนียวแน่นกับพรรค ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค โดยมี “เสี่ยต๊ง” มนตรี ปาน้อยนนท์ เป็นแบ็กอัพ ส่วนภาคตะวันออก จ.ระยอง และใกล้เคียง มี “บ้านใหญ่ปิตุเตชะ-เจตนจันทร์” ดูแล

พรรคอื่นๆ ยังคงเป็นคนเก่าแก่ยืนพื้น อาทิ “ค่ายสุพรรณฯ” พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ครองเมืองหลวง จ.สุพรรณบุรี โดย “บ้านใหญ่ศิปอาชา-โพธสุธน-ประเสริฐสุวรรณ-เที่ยงธรรม-สุจิตต์” หรือที่ จ.นครปฐม ก็ยังมี “บ้านใหญ่สะสมทรัพย์” อยู่ด้วย เป็นต้น

สำหรับเลือกตั้ง 2566 ศึกบ้านใหญ่ครั้งนี้ ที่มีการจับตามองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งหนีไม่พ้น จ.ชลบุรี ที่จะเป็นการสัประยุทธ์ระหว่าง “บ้านใหญ่” โดย “เสี่ยแป๊ะ” สนธยา คุณปลื้ม ที่เพิ่งเปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย กับ “บ้านใหม่” ของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีรายการ “ปีนเกลียว” กันมาแล้วหลายหน

ซึ่งเป็นเหตุขัดแย้งมาจากการเลือกตั้งปี 2562 ในชายคาพรรคพลังประชารัฐ ที่เดิม “เสี่ยเฮ้ง” ก็อยู่ภายใต้ปีก “บ้านใหญ่แสนสุข” ของทายาท “กำนันเป๊าะ” สมชาย คุณปลื้ม ผู้ล่วงลับ ทว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฎว่า “กลุ่มคุณปลื้ม” สอบตกรวด ผิดกับ 3 เขตเมืองที่ “สุชาติ” ดูแลที่เข้าป้ายทั้งหมด

ทำให้ “เสี่ยเฮ้ง” ไม่พอใจที่ “เสี่ยแป๊ะ” บิ๊กบราเทอร์สแห่งบ้านใหญ่ชลบุรี ประเคนเก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม ให้กับ “น้องติ๊ก” อิทธิพล คุณปลื้ม ที่สอบตก จนบ่ายหน้าเข้าไปซุกปีก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อต่อรองขอโควตารัฐมนตรี ก่อนที่จะสมหวังในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา พร้อมประดกาศตั้ง “ซุ้มมังกรน้ำเค็ม” ขึ้น นัยว่าเพื่อสร้างบารมีเตรียมปะทะกับ “กลุ่มบ้านใหญ่”

กระทั่งเกิดความขัดแย้งในการจัดวางตัวผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี ในนามพลังประชารัฐ ที่ “เสี่ยเฮ้ง” ถือสิทธิ์ขาด และชิงประกาศตัวเมื่อครั้งที่ “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่ปราศรัยที่ จ.ชลบุรี สร้างความขุ่นเคืองให้กับ “สนธยา” เป็นอย่างมาก

โดยมีการโพสต์ข้อความวิวาทะระหว่างกันในท้องเรื่อง “คนทรยศ” กับ “แม่ทัพอัลไซเมอร์” รวมทั้งเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” แยกทางเดินกับพรรคพลังประชารัฐ

เดิมที “สนธยา” ตั้งใจจะไปขุนพรรคใหม่ในนาม “พรรคพลังบูรพา” เพื่อขยายอาณาจักรกินทั้งภาคตะวันออกด้วยตัวเอง แต่เมื่อคำนวณรอบด้านแล้วไม่คุ้มเสี่ยง จึงมีการเจรจาเข้าสังกัด “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย

ขณะที่เมื่อเกมการเมือง “พี่น้อง 2 ป.” เปลี่ยน “เสี่ยเฮ้ง” ที่เดิมหวังใช้ฐานการเมืองพรรคพลังประชารัฐ บู๊กับกลุ่มบ้านใหญ่ จำต้องสละเรือมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ กับ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมทั้งพยายามขยายบารมีไปในหลายจังหวัด อาทิ ฉะเชิงเทรา,ระยอง และเพชรบุรี เป็นต้น

สถานการณ์เดิมที่เคยประเมินว่า “บ้านใหญ่ชมกลิ่น” ฟอร์มเหนือกว่า “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” ก็กลับตาลปัตรทันที

ด้วยมองว่า กระแสของ “ค่ายลุงตู่” ไม่ได้พุ่งปรู๊ดปร๊าดอย่างที่คาด ผิดกับ “ค่ายดูไบ” ที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น บวกกับตันทุนเก่าของตระกูลคุณปลื้ม ก็เลยทำให้ฝ่ายหลังมีภาษีดูดีกว่า

โดยตั้งแต่ก่อนเปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย “ทีมงานคุณปลื้ม” ก็เปิดเพจเฟซบุ๊ก “เพจหลัก กลุ่มพลังบ้านใหญ่” เพื่อทำศึกแอร์วอร์กับ “เสี่ยเฮ้ง” ทันที โดยเน้นไปที่ประเด็น “จริง-โกหก” เปิดหัวด้วยข้อความ “คนเคยพูดโกหก ถ้าโดนคำถามเดิม จะตอบไม่เหมือนเดิม ทางที่ดี #โกหกอะไรจดไว้ด้วยนะ #เดี๋ยวจะจำไม่ได้..”

นัยว่า ดักทางที่ฝ่าย “เสี่ยเฮ้ง” จะยกประเด็น “แม่ทัพอัลไซเมอร์” ขึ้นมาขยี้

มีการดึงเอา “สท.เหี่ยว” ภาสกร หอมหวล อดีตสมาชิกเทศบาลตำบลแสนสุข คนสนิทของ “กำนันเป๊าะ” ออกมาเล่าย้อนถึงความเป็นมาของ “เสี่ยเฮ้ง” เพื่อหักล้างข้อกล่าวอ้างที่ว่า ว่า “กำนันเป๊าะ” เป็นผู้ชักชวนให้เล่นการเมือง

“รู้จักเฮ้งมาตั้งแต่ช่วงปี 2549 โดยชักชวนมาร่วมทีมสมาชิกสภาเทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อเฮ้งอยากเป็น ส.อบจ.ชลบุรี ผมก็ไปขอกำนันเป๊าะ จึงได้รับการสนับสนุนให้ได้เป็น สจ.สมใจ… สถานะของกำนันเป๊าะขณะนั้นสูงมากๆ และทำงานพัฒนาเมืองแสนสุขทุกวัน จนแทบไม่มีเวลาไปรู้จักเด็กใหม่ที่ชื่อ เฮ้ง เลยด้วยซ้ำ” เป็นคำบอกเล่าของ “สท.เหี่ยว” ที่มุ่ง “ด้อยค่า” รุ่นน้องที่ชื่อ “สุชาติ” โดยตรง

ไม่เพียงเท่านั้น “พี่ใหญ่แป๊ะ” ยังส่งสัญญาณเน้นทั้ง 10 เขตของ จ.ชลบุรี โดยจะรับบท “แม่ทัพใหญ่” เต็มตัว ปรับแผนจากเดิมที่ตั้งใจจะลงสมัคร ส.ส.เขต ขึ้นมาเป็น “เสนาธิการ” คุมเกมทั้งหมด เพื่อต้องการยึดเมืองชลบุรีคืนจาก “เสี่ยเฮ้ง”

ตลอดจนพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะได้ “ซุ้มบ้านริมน้ำ” ของ “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่ส่ง “มดเล็ก” ศักดิ์ชาย ตันเจริญ ล่วงหน้ามาสังกัดพรรคเพื่อไทย ก่อนแล้ว มาผนึกกำลังทำพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา-ระยอง ที่อยู่ในความดูแลของ “เสี่ยเฮ้ง” ด้วย

เป้าหมายของ “เสี่ยแป๊ะ-สนธยา” ไม่เพียงต้องการกู้ศรัทธา ประกาศศักดาความเป็น “บ้านใหญ่เมืองชลฯ” คืนมาเท่านั้น ยังหมายกำราบเด็กรุ่นหลังอย่าง “เสี่ยเฮ้ง” ด้วย.

เรื่องล่าสุด