Site icon บางแสน

เมืองแสนสุขพัฒนา Smart Safety อุปกรณ์ระบุพิกัด ช่วยส่ง “สูงวัย” เข้า รพ.รวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

566000008057701.jpg


เผยโฉม Smart Safety อุปกรณ์ติดตามพิกัด ช่วยผู้สูงอายุเทศบาลเมืองแสนสุขกดขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่กู้ชีพเข้าถึงได้เร็ว ส่ง รพ.ได้ในเวลามาตรฐานกู้ชีพ 6-7 นาที ตั้งแต่ใช้งานยังไม่พบผู้เสียชีวิต พร้อมพัฒนา Smart Health กระเป๋าสุขภาพให้ อสม.ตรวจร่างกายผู้ป่วยบันทึกข้อมูลเรียลไทม์ เทเลเมดปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ทันที


เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นางจิดาภา จุฑาภูวดล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุข ได้พัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เช่น Smart Safety เป็นเครื่องติดตามพิกัด (Anywhere safety) โดยใช้ระบบ GPS Tracking ซึ่งเราพัฒนามาตั้งแต่ปี 2554 โดยอุปกรณ์พกติดตัวนี้มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีเสียงควบคุมเป็นภาษาไทย มีการพัฒนาปุ่มกดขอความช่วยเหลือฉุกเฉินให้สามารถใช้งานง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อกดปุ่มขอความช่วยเหลือ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ใช้งานอุปกรณ์ติดตามนี้ จะมีการลงทะเบียนชื่อ ที่อยู่ ข้อมูลสุขภาพต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพสามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่เกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว และสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาได้ภายในเวลาตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งจากการลองระบบพบว่าจากที่ไกลที่สุดคือบริเวณเขาสามมุกสามารถมาถึง รพพ.ได้ภายใน 6-7 นาที ส่วนพื้นที่ใกล้ที่สุดบริเวณรอบ ม.บูรพา ในช่วงเวลาการจราจรติดขัดก็สามาถมาถึง รพ.ได้ในเวลา 6 นาทีเช่นกัน


นางจิดาภากล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถกดเพื่อพูดขอความช่วยเหลือได้ด้วยเช่นกัน สามารถสนทนาได้โดยตรงกับเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุในเทศบาลเมืองแสนสุขลงทะเบียนรับอุปกรณ์นี้ไปใช้งานแล้ว 300 ราย ประกอบด้วย ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือด้านสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลงทะเบียนกับเทศบาลได้ตลอดปี สำหรับการขอความช่วยเหลือพบว่าอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าครั้งใน 1 ปี แต่ที่เป็นฉุกเฉินทางการแพทย์จริงๆ มีประมาณ 31 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นโรคหัวใจ แน่นหน้าอก ก็กดขอความช่วยเหลือ พบการกดใช้งานประมาณ 10 ครั้งใน 5 ราย ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่า เพราะสามาารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ตั้งแต่ให้บริการยังไม่มีผู้เสียชีวิต


นางจิดาภากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ Smart Health หรือกระเป๋าเยี่ยมบ้าน ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดน้ำตาลปลายนิ้ว วัดออกซิเจนในเลือด วัดไข้ เป็นต้น มีแท็บเล็ตเก็บข้อมูล เครื่องวัดอุณหภูมิ โดยจะมอบให้กับ อสม. ในพื้นที่ใช้เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ชุด เมื่อเยี่ยมบ้านและตรวจสุขภาพผู้ป่วยแล้วจะบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องมานั่งคีย์ข้อมูล และยังสามารถ Telehealth ใช้แท็บเล็ตโทรหาทีมสหวิชาชีพของเทศบาลในการให้คำแนะนำได้ทันที ซึ่งการพัฒนาทั้ง 2 ระบบใช้งบลงทุนอยู่ที่ 1.8 ล้านบาทต่อปี

Exit mobile version