ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย ยังใช้ประโยชน์จากยุคดิจิทัลได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งๆที่กระแสโลกมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันอย่างเต็มตัวแล้ว โดยเฉพาะหน่วยราชการไทย เรียกได้ว่า ยังช้ากว่าการวิ่งของกระแสดิจิทัลโลกอยู่หลายก้าว แต่เมื่อเร็วๆนี้ เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ได้แสดงให้เห็นว่าถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้ จะเกิดประโยชน์และประสิทธิภาพอย่างมหาศาล สามารถลบภาพระบบราชการแบบเก่า ๆได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในภาคการบริการประชาชน ที่เป็นภารกิจหลักของรัฐ
เทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบข้อมูลเมือง(Citiy Data platporm Dashbord )ขึ้น และสามารถเก็บข้อมูลที่สามารถซอยย่อยได้มากถึง 84 หมวดหมู่ ครอบคลุมแทบทุกด้านของการบริหารจัดการเมือง ที่สำคัญคึอ สามารถสร้างระบบบริการออนไลน์ ที่เรียกว่า e-service ขึ้นมาให้บริการประชาชน ที่สามารถใช้งานได้ผ่านแอพลิเชั่น บนโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ การบริการหลักๆ มีด้วยกัน3ด้าน คือ 1. ระบบ One Stop Serviceประชาชนสามารถขอรับบริการสาธารณะและแจ้งร้องทุกข์ร้องเรียน สามารถติดตามสถานะการดำเนินการได้ด้วยตนเอง 2.ฐานข้อมูลตำบลออนไลน์บริการข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (gis) ของเทศบาลเมืองแม่เหียะ 3.ระบบชำระค่าจัดเก็บขยะออนไลน์ ประชาชนสามารถชำระค่าจัดเก็บขยะผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ก็มีงานด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค งานด้านการจราจร และความปลอดภัย คุณภาพชีวิต งานด้านสาธารณสุข การท่องเที่ยว งานบริการด้านภาษี การยื่นคำร้องต่างๆ เช่น การขอปลูกบ้าน เป็นต้น
กล่าวได้ว่า การพัฒนา ระบบช้อมูลของเมืองของเทศบาลเมืองแม่เหียะ นำไปสู่ศูนย์บริการเป็นเลิศของ ( Excelllent Service )ทำให้ล่าสุด เทศบาลเมืองแม่เหียะ ได้รับรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล จากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นได้เป็นผลการวิจัย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองแม่เหียะ กับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ซึ่ง บพท.ได้เลือกแม่เหียะเป็นพื้นที่ศึกษา (Research Area) ในการพัฒนายกระดับท้องถิ่น
ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่เหียะ เล่าถึงที่มาการเป็น Smart City ของแม่เหียะว่า แม่เหียะ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ มีแหล่งท่องเที่ยวสถานที่สำคัญ ทั้งดอยคำ พืชสวนโลก ไนท์ซาฟารี ที่ตั้ง 6คณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานวิทยาศาสตร์ และวัดโด่งดังที่สุด วัดพระธาตุดอยคำ เมื่อเมืองมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่อง จากเมืองเกษตรกรรม กลายมาเป็นเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยว ทำให้เห็นปัญหาการบริการ ส่วนตัวเห็นมิติต่างๆ การพัฒนาให้เป็นเมืองคุณภาพ ซึ่งการจะทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนเมืองได้ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เป็นที่มาของการเก็บข้อมูลเมือง แม้ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานจะมีการสำรวจเก็บข้อมูล แต่มันสะเปะสะปะแยกกันทำ สำรวจเสร็จแล้วก็ทิ้งข้อมูลไป ซึ่งตนต้องการข้อมูลพวกนี้มาใช้ประโยชน์ นำมาวางแผนในการพัฒนาแม่เหียะ ไมว่าแผน3 ปีหรือ 5ปี เพราะไม่ว่าการทำถนน หรือให้นักธุรกิจมาลงทุน จำเป็นต้องมีข้อมูล ซึ่งขณะนี้เป็นการดำเนินตามแผนปี2566-2570 โดยมีฐานข้อมูล 94 ชั้นที่จะนำมาใช้ประโยชน์
“ถ้าคุณมีที่ดินในแม่เหียะ ไม่ต้องบอกว่าทำอะไรกับที่ดินอยู่ เพราะเราสำรวจมาแล้วโดยใช้โดรนว่ามีการใช้ประโยชน์อะไรบ้างในที่ดินตรงนั้น ซึ่งตรงนี้ จะช่วยเรื่องเก็บภาษีท้องถิ่นได้มาก ปี 63 ภาษีเราหายไปกว่า 30 ล้าน เพราะโควิดทำให้เศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลจึงมีนโยบายเก็บภาษีท้องถิ่นแค่ 10% ปี 64 แจ้งมาอีกเก็บภาษีเหลือ 10% เราก็หายไปอีก 15 ล้าน หนักใจมาก ปีนี้ให้เก็บ 100% และเราเก็บได้เพิ่มขึ้นเพราะเรามีฐานข้อมูลที่ชัดเจนมาเป็นตัวช่วย ”
นายกฯแม่เหียะ ยังบอกอีกว่า ระบบให้บริการประชาชนแบบเก่าดั้งเดิมของท้องถิ่นต่าง ๆ คือ ถ้าใครอยากแจ้งเรื่องไฟดับเสาไฟฟ้าสักต้น หรือซ่อมท่อ ต้องเดินทางมาที่เทศบาล หรือการจ่ายค่าเก็บขยะรายเดือนๆละ 40 บาท อาจต้องขับรถมา4-5 กม.เพื่อมาจ่ายที่เทศบาล แต่ระบบใหม่ที่เป็นสมาร์ทซิตี้ ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาเทศบาล สามารถแจ้งร้องทุกข์ หรือปัญหาได้ทางแพลตฟอร์ม ทางออนไลน์ ที่มีอยู่ 70 ภารกิจ ซึ่งทำผ่านโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลจะวิ่งไปเข้าระบบหาผู้ปฎิบัติงานทันที หากมีการแก้ไขปัญหาล่าช้า เกิน 7 วันระบบก็จะฟ้องเองว่า ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่รู้ว่าเรื่องที่ร้องได้รับการแก้ไขหรือยัง ส่วนการจ่ายค่าเก็บขยะก็จ่ายผ่านทางแอพลิเคชั่นแพลตฟอร์มของเทศบาลได้เช่นกัน
การบริการทางออนไลน์ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สุดล้ำนั้น ธนวัฒน์บอกว่า คือ การขออนุญาตปลูกบ้านชั้นเดียวขนาดพื้นที่ใช้สอบ 150 ตารางเมตร ซึ่งแต่ก่อนกว่าจะได้รับอนุญาต ประชาชนที่ขอต้องมาที่เทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ถึงจะดำเนินการสร้างบ้านได้ ซึ่งตามกฎหมาย ระบุว่าการขอจะต้องใช้เวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 45 ว้น แต่เมื่อตนได้ดูกฎหมายเรื่องการอำนวยการความสะดวก ซึ่งในพ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนเปิดทางให้ใช้ลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ได้มานานแล้ว แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนนำไปปฎิบัติ เพราะระบบราชการไทยแต่ก่อนต้องเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การประชุมออนไลน์ ผ่านระบบซูม ไม่มีผลทางกฎหมาย เบิกค่าใช้จ่ายไม่ได้ แต่เพิ่งอนุมัติเห็นชอบเมื่อไม่นานมานี้ เพราะสถานการณ์โควิด สำหรับการใช้ลายเซ็นต์ออนไลน์ ทางแม่เหียะได้ขอใช้เมื่อปี 2560 เขียนโปรแกรมขึ้นมา 1 โปรแกรม พร้อมกับใช้โดรนในการสำรวจ บ้านที่ขอก่อสร้าง
“การใช้ระบบออนไลน์ ทำให้ลดเวลาการขออนุญาตสร้างบ้านขนาด 150 ตารางเมตร จาก 45 วัน ลงเหลือ 7 วันในช่วงแรกๆ และผมลดมาเหลือ 2 วัน และลดอีกเหลือ 24ชั่วโมง และจนขณะนี้ผมให้ลดลงเหลือภายใน 2ชั่วโมง ที่ทำได้ เพราะการเซ็นอนุมัติเราเซ็นผ่านออนไลน์ได้ ไม่ว่าผมหรือเจ้าหน้าที่จะไปอยู่ที่ไหนก็อนุมัติได้ ระบบมันจะมีการรีพอร์ตข้อมูล และระบบมีความปลอดภัย คนจะเข้าระบบจะต้องมีรหัส ตั้งแต่คนคีย์ระบบ นายช่าง นายตรวจ รองปลัด ปลัด และนายกฯ องค์กรท้องถิ่นแม้แต่กรุงเทพมหานคร ก็ยังไม่มีการทำกระบวนการนี้ แต่ที่เทศบาลแม่เหียะ เป็นเจ้าแรกของประเทศ “นายกฯแม่เหียะบอกด้วยความภูมิใจ
แต่การอนุมัติคำขอสร้างบ้านในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ยังจำกัดอยู่ที่บ้านขนาดเล็ก 150 ตารางเมตร ซึ่งนายกเมืองแม่เหียะ บอกว่า มีแนวคิดพร้อมจะขยับการให้บริการ การขออนุมัติสร้างที่อยู่อาศัยลักษณะอื่น เช่น หอพักขนาดไม่เกิน 10-20 ห้อง ผ่านทางระบบออนไลน์ได้ โดยใช้ฐานข้อมูลที่ทางเทศบาลมีอยู่มาเป็นประโยชน์การพิจารณา แต่ทั้งนี้ต้องดูกฎหมายอื่นๆประกอบการก้าวเดินให้บริการด้วย
“ในการทำงาน เราพูดถึงไทยแลนด์ 4.00มากี่สมัยมันบรรลุหรือยัง ในการใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง แม่เหียะเราเป็นต้นแบบการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ตอนนี้ สันนิบาตเทศบาลองค์กรปกครองท้องถิ่นเห็นเราแล้ว เอาด้วย นายกฯเมืองแสนสุข ยะลา ก็สนใจจะทำ เราเป็น เจ้าแรกในประเทศเรื่องอนุมัติสร้างบ้านออนไลน์ และกิจการสาธารณสุข การขอเปิดกิจการร้านอาหาร แจ้งเรื่องมาทางออนไลน์ กิจการสุขภาพ พ.ร.บ.สาธารณสุข ทำร้านอาหาร ก็อยู่ในข่ายให้บริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น”
นายกฯแม่เหียะ บอกอีกว่ายังใช้ข้อมูลที่เก็บมาใช้ประโยชน์ไม่เต็มสูบ อนาคตเขามีแนวความคิด ดึงฐานข้อมูลมาเป็นฐานเมือง ทำแอพพลิเคชั่น ที่เรียกว่าเป็น”ซูเปอร์แอพ “ในชื่อว่า “มีดีแม่เหียะ” โดยตนได้คุยกับบพท.แล้วในเรื่องนี้ สำหรับ แอพฯ “มีดีแม่เหียะ” จะให้บริการข้อมูลทุกอย่างของเมือง กิน เที่ยว บริการ เศรษฐกิจลงทุน เช่น อยากรู้ว่าร้านกาแฟในแม่เหียะมีตรงไหน หรือร้านไหนมีโปรโมชั่น พอจิ้มไปข้อมูลก็จะขึ้นมา หรือดูเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินก็จะดุได้ทันที ซึ่งข้อมูลพวกนี้ จะเป็นฐานในการตัดสินใจลงทุนของนักธุรกิจต่างๆ
“เราเป็นเมืองเล็กๆ ต้นแบบ อยากให้ท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งทำเหมือนเรา อนาคตแม่เหียะ ผมอยากเห็นว่าแม่เหียะ เป็นเมืองที่สมาร์ท ยิ่งกว่าเดิม อัจฉริยะยิ่งกว่าเดิม เห็นการเปลี่ยนแปลงยิ่งกว่าเดิม “
เมื่อถามว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เป็นจริงได้เกิดจากอะไร นายกฯแม่เหียะ บอกว่า หัวใจหลักคือ เรื่องของคน ไม่ว่าคุณจะมีเทคโนโลยีแบบไหน จะมีราคาสูงๆ มากแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สามารถเอาคนมาใช้ระบบได้ ก็คงไม่สำเร็จ ซึ่งนั่นคือคนในองค์กรต้องรวมกันเป็นหนึ่งก่อนแล้วเปิดวิสัยทัศน์นำ สู่กระบวนการเปลี่ยน ที่สำคัญทั้งผู้นำและประชาชนเอาด้วย
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.บพท. กล่าวว่า บพท.มุ่งเน้นให้กิดการวิจัยเขิงพื้นที่ เพราะมีงานงานวิจัยในเรื่องของการพัฒนาประเทศ ซึ่งพบว่า หากมีการพัฒนาเมือง เมืองแห่งนั้นก็จะเป็นตัวกระจายความเจริญ ไปสู่เมืองข้างเคียง และเป้าหมายสุงสุดของการพัฒนาเมืองก็คือ การสนับสนุนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “วิสาหกิจพัฒนาเมือง” ซึ่งขณะนี้ บพท.ได้เข้าไปทำโครงการนำร่องอยู่ 5เมือง คือ ที่แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ระยอง และนครราชสีมา จากพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาทั่วประเทศ 30 เมือง โดยบพท.แนะนำให้เมืองมีการสร้างเศรษฐกิจใหม่บนฐานดิจิทัล ที่อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล และสำหรับแม่เหียะ นั้นถือเป็นหนึ่งใน 5 ของพื้นที่นำร่องโครงการ ที่จะเป็นตัวกระจาย ทำให้เกิดวิสาหกิจพัฒนาไปอีก 19 เมือง ในเวลาต่อมา
“หลักการพัฒนาเมือง คือ ท้องถิ่นจะเป็นตัวหลัก แต่ท้องถิ่นอย่างเดียวไม่พอต้องมีภาคเอกชนมาร่วมด้วย เพราะท้องถิ่นมีขีดจำกัด โดยเฉพาะการลงทุน แต่ถ้าสองส่วนมาประกอบกัน และใช้งานวิจัยเข้ามาช่วย ทิศทางก็จะเป็นไปในทางที่ดี “ผอ.บพท.กล่าว
สำหรับ การทำให้เกิดสมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยยะของแม่เหียะ ถือว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้าย คือ Digital Transformation หรือการนำข้อมูลไปใช้แล้วเกิดการพัฒนาเกิดวิสาหกิจพัฒนาเมืองในที่สุด และถ้าถามว่าทำไมถุวเลือกแม่เหียะ มาเป็นเมืองนำร่อง ทำไมไม่เลือกอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็เพราะแม่เหียะมีศักยภาพเดิมในตัวเองอยู่แล้ว โดยเทศบาลเมืองมีความต้องการที่จะใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในการบริการประชาชน และนำเอาข้อมูลมาใช้ในการบริหารงาน ทำให้เกิด One stop service ในภาคการบริการ ขณะที่ บพท.ได้ช่วยส่งเสริมโดยดึงให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาเป็นเครือข่ายส่งเสริมโครงการพัฒนาระบบดิจิทัล นอกจากนั้น ก็ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีมายกระดับการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสูงมากขึ้น และทั้งหมดมาประกอบกันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน เทศบาล และภาคเอกชน และนำไปสู่การเกิดแผนการลงทุนใหม่ได้
“เหมือนอย่างขอนแก่น ที่เราเข้าไปสนับสนุนวิสาหกิจเมือง ตอนนี้เขาเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มที่ มีการผลักดันให้เกิดเงินดิจิทัล “ขอนแก่น คริปโต “และกำลังมุ่งไปสู่เมตาเวิร์สต่อไป แต่การพัฒนารูปแบบนี้ ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ที่เขาต้องได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทางใดทางหนึ่ง “ดร.กิตติกล่าว.