Site icon บางแสน

เด็กต่ำกว่า 5 ขวบติดโควิด 1 แสนราย แนะวิธีดูแลระวังอย่าให้ไข้สูง เช็ดตัวบ่อยๆ ดีกว่ากินยา

เด็กต่ำกว่า-5-ขวบติดโควิด-1-แสนราย-แนะวิธีดูแลระวังอย่าให้ไข้สูง-เช็ดตัวบ่อยๆ-ดีกว่ากินยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ.เผยเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ติดเชื้อสูงขึ้น รวม 1.07 แสนราย ติดจากคนในครอบครัว เหตุส่วนใหญ่ไม่ประเมินความเสี่ยง ไม่ใส่หน้ากากในบ้าน ไม่เว้นระยะห่าง ไม่แยกกิน ทำให้แพร่เชื้อไม่รู้ตัว แนะวิธีดูแลเด็กติดเชื้อ ส่วนใหญ่มีไข้ ระวังไข้สูงชักช่วง 1-2 วันแรก เน้นเช็ดตัวบ่อยๆ ดีกว่ากินยาลดไข้ ต่ำกว่า 1 ขวบให้ดูการกิน มากกว่า 1 ขวบดูเรื่องการเล่น หากซึมลงเข้าข่ายอาการหนัก

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงการดูแลป้องกันเมื่อเด็กปฐมวัยติดเชื้อโควิด 19 ว่า ขณะนี้แนวโน้มการติดเชื้อโควิด 19 กำลังสูงขึ้น ซึ่งในกลุ่มเด็กปฐมวัยอายุ 0-5 ปี ก็พบการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่นๆ เช่นกัน เฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กอายุ 0-5 ปี ติดเชื้อถึงสัปดาห์ละ 6 พันกว่าราย ซึ่งตั้งแต่ระลอกล่าสุดจากโอมิครอนช่วง ม.ค. การติดเชื้อจะอยู่ที่ประมาณสัปดาห์ละ 1 พันกว่าราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อดูย้อนหลังจากระลอก เม.ย. 2564 – 17 ก.พ. 2565 มีการติดเชื้อสะสม 107,059 ราย คิดเป็น 5% จากการติดเชื้อทั้งหมดทุกกลุ่มกว่า 2 ล้านราย พบเด็กเสียชีวิต 29 ราย จากการมีโรคประจำตัว ส่วนช่วงอายุ 0-1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี และ 5 ปี มีการติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นราย ไม่ได้แตกต่างกันมาก

สำหรับสาเหตุการติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กปฐทมวัย คือการสัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัวที่รับเชื้อมากจากนอกบ้าน และเรายังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 0-5 ปี จึงต้องใส่ใจสุขอนามัยในเด็กเล็ก ซึ่งกรมอนามัยสำรวจอนามัยอีเวนต์โพล ประเด็นความกังวลและพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้าน จำนวน 6,087 คน ซึ่งตามคำแนะนำควรจะประเมินความเสี่ยงตนเองเมื่อกลับมาจากทำงานนอกบ้าน เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ โรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็ก ผ่าน “ไทยเซฟไทย” แต่พบว่ามีคนที่สนใจประเมินความเสี่ยงคือ 28% ไม่ถึง 1 ใน 3 จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประมาทเพราะไม่มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจรับเชื้อโดยไม่มีอาการและนำมาติดลูกหลานในบ้าน

“แนะนำว่าในบ้านถ้ามีกลุ่มเปราะบาง ควรมีการประเมินตนเอง หากพบว่าเสี่ยงสูง ควรตรวจด้วย ATK ว่าติดเชื้อหรือไม่ เพราะอาจไม่มีอาการ ส่วนการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่พบว่าทำได้ต่ำกว่า 50% เช่น การใช้อุปกรณ์ส่วนตัวแยกกับผู้อื่น ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกัน ไม่กินอาหารร่วมกัน และที่แทบทำไม่ได้เลย คือการแยกใช้ห้องน่ำ ก็เข้าใจว่ามีห้องน้ำเดียวในบางบ้าน จึงจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในจุดสัมผัสและทำความสะอาดบ่อยๆ” นพ.เอกชัย กล่าว

นพ.เอกชัย กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ คือ 1. ส่วนใหญ่บอกให้สวมหน้ากากร่วมกันในบ้านไม่ชิน อึดอัด หายใจไม่สะดวก และมั่นใจว่าคนในบ้านไม่มีเชื้อ จึงไม่สวมหน้ากาก 2. การเว้นระยะห่าง เพราะบ้านมีขนาดจำกัดทำให้เว้นะระยห่างไม่ได้ 3. อาหารไม่พอถ้าต้องแยกกันกิน กินพร้อมกันจะประหยัดกว่า อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าหากทำไม่ได้ ประเด็นที่ต้องระวัง คือ 1. ฉีดวัคซีนทั้งครอบครัว ยกเล้วนเด็กเล็ก เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันไม่ถ่ายทอดสู่เด็ก 2. หลีกเลี่ยงไปสถานที่สาะธารณะที่คนรวมกันเยอะ โดยเฉพาะร้านอาหารแบบปิด

ส่วนหลักปฏิบัติลดแพร่ระบาดโควิดในเด็ก คือ 1. สอนเด็กรู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้อง ก่อนหลังกินอาหาร 2. เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะยังไม่รู้จักการเอาหน้ากากออกเอง 3. หลีกเลี่ยงไปสถานที่คนรวมตัวมากๆ โดยเอาเด็กไปด้วย 4. ทำความสะอาดบริเวณจุดสัมผัสร่วมในบ้าน และของเล่น และ 5. หมั่นดูแลสุขภาพลูกน้อย หากมีอาการผิดปกติอาจปรึกษาแพทย์ ส่วนกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ซึ่ง 29 รายที่เสียชีวิตเกิน 50% มีโรคประจำตัว

ส่วนหญิงตั้งครรภ์มีติดเชื้อ 6,829 ราย เสียชีวิต 110 ราย มีลูกเสียชีวิต 66 ราย ซึ่งกลุ่มแม่ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย หากติดเชื้อปกติดี ไม่มีอาการอะไร ไม่มีโรคประจำตัว ทำ HI ได้ แต่ให้ระวังตัวเอง หากไอ ไข้ หายใจไม่อิ่ม ออกซิเจนต่ำกว่า 96% ให้รายงานแพทย์ที่ฝากครรภ์ หากไม่ทราบติดต่อเบอร์อะไรคือ 1330 และ 1669 และขอให้สตรีมีครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะรับไปเพียง 115,000 คน มีอีก 2 แสนรายยังไม่ได้ฉีด หากฉีดแล้วจะช่วยลดการป่วยรุนแรงได้

ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รอง ผอ.สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลเด็กปฐมวัยต่ำกว่า 5 ปีที่ติดโควิดนั้น กรณีเด็กและผู้ปกครองติดเชื้อทั้งคู่ จะให้รักษาเป็นกลุ่มครอบครัว ไม่ว่าเข้า รพ.หรือเข้าฮอสปิเทล หรือ CI ผู้รักษาจะจัดให้เด็กอยู่เป็นครอบครัว อบอุ่นในการดูแล , หากเด็กติดเชื้อผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ กรณีเด็กเล็กดูแลตัวเองไม่ได้ อนุญาตให้พ่อแม่เข้าไปด้วย ส่วนใหญ่จะเลือกแม่ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่หากเลือกปู่ย่าตายายหรือมีโรคประจำตัวเรากังวลจะทำให้ติดเชื้อไปด้วย ซึ่งเราพยายามไม่ให้กลุ่มนี้มาดูแลเด็ก แต่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้วิธีป้องกันติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมา มีเด็กติดเชื้อเข้ารักษาใน รพ. มีพ่อแม่ผู้ปกครองอาสาเข้าไปดูแลจำนวนมาก เกือบทั้งหมดไม่ติดเชื้อตามไปด้วย หากดูแลตัวเองอย่างดี ส่วนกรณีเด็กไม่ติดเชื้อ แต่พ่อแม่ติดเชื้อ หากมีญาติตามมารับเด็กไปดูแลได้จะดีที่สุด กรณีฉุกเฉินหาคนเลี้ยงไม่ได้ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยินดีรับเด็กไปดูแลที่บ้านพักฉุกเฉินจนกว่ามีญาติมารับ

นพ.ธีรชัย กล่าวว่า อาการที่พบมากในเด็กติดเชื้อ คือ ไข้ จะมีชัดเจนในวันแรกและวันที่สอง ส่วนไข้จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับระดับอาการ มีอาการไอแห้ง เจ็บคอ อ่อนเพลีย คัดจมูก น้ำมูกมีหรือไม่มีก็ได้ อาการเหมือนหวัด บางรายอาจมีอาการผื่นแดง จมูกไม่ได้กลิ่น ซึ่งเด็กโตถึงจะบอกได้ เบื่ออาหาร เด็กไม่ยอมกินข้าวกินนม ท้องเสีย และปวดท้อง โดยอาการแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1. น้อย เช่นไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอ หรือถ่ายเหลวเล็กน้อย พอกินนมได้เล่นได้ และ 2. อาการมาก ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส หายใจเร็ว หายใจใช้แรงมากกว่าปกติ สังเกตจากจมูกบาน หายใจอกบุ๋ม ชายโครงบุ๋ม ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% มีอาการซึมลงไม่ดูดนม ซึ่งเด็กต่ำกว่า 1 ขวบจะดูเรื่องการกิน เช่น ช่วงไม่ป่วยกินได้ 100% หากป่วยกินน้อยลงเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ หากเกิน 1 ขวบจะดูที่เรื่องเล่นเป็นหลัก ว่าเล่นลดลงน้อยกว่า 50-60% ถือว่าป่วยหนักขึ้น

นพ.ธีรชัย กล่าวว่า ส่วนเครื่องมือในการตรวจ คือ ปรอทวัดไข้ให้ระวังเรื่องการตกแตก เครื่องวัดออกซิเจนตามท้องตลาดใช้สำหรับผู้ใหญ่ ในเด็กอาจจะหนีบไม่ได้ จึงขอให้หนีบ 2-3 นิ้ว หรือนิ้วหัวแม่เท้า แต่การวัดต้องเอามือบีบเล็กๆ เพราะเด็กอยู่ไม่นิ่ง และให้ตัวเลขนิ่งก่อนถึงอ่านค่า และวัดหลายๆ ครั้งเพื่อเปรียบเทียบตรวจสอบ ส่วนการถ่ายภาพหรือคลิปจะใช้ส่งให้บุคลากรเพื่อช่วยประเมินอาการ สำหรับยาสามัญประจำบ้านใช้บ่อยสุดคือพาราเซตามอลลดไข้ ให้รับประทาน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เช่น หนัก 10 กิโลกรัมก็คูณ 10 เข้าไปเป็น 100 มิลลิกรัม ซึ่งที่ขายในท้องตลาด 1 ช้อนชา 5 ซีซี มี 120 มิลลิกรัม จะกินประมาณ 5 ซีซีคือ 1 ช้อนชา แต่กินมากที่สุดคือทุก 4 ชั่วโมง การเช็ดตัวลดไข้ให้เช็ดทั้งตัว ไม่จำกัดเวลาหรือจำนวนครั้ง เช็ดได้บ่อยเมื่อมีไข้ เพราะเรากังวลไข้สูงวันแรกๆ และอาจชักได้ ส่วนไอน้ำมูกรับประทานยาตามอาการ อ่อนเพลียให้ดื่มน้ำมากๆ หากถ่ายเหลวดื่มน้ำเกลือแร่

ส่วนการแยกกักที่บ้านสำหรับเด็กที่อาการไม่มาก สำคัญคือเว้นระยะห่าง เพระาอาจเอาเชือ้ไปติดกลุ่มเสี่ยงอื่นในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โรคประจำตัว, หน้ากากอนามัยอายุเกิน 2 ปี ควรสอนเด็กหัดใส่หน้ากากให้ถูกวิธี ต่ำกว่า 2 ขวบใส่ได้แต่ควรระวัง เพราะยังบอกอาการยากว่าไม่อยากใส่ หรือหายใจไม่ออก ให้ดูเป็นรายบุคคล , แยกนอนในห้องเดี่ยว แต่ส่วนใหญ่จะนอนกับพ่อหรือแม่ พยายามอย่าเปิดแอร์ให้ระบายอากาศดีกว่า แยกของใช้ส่วนตัว ส่วนการดูแลด้านจิตใจ เด็กป่วยไม่มาก 1-2 วันก็ไข้ลด ให้พาทำกิจกรรม เช่น อ่านนิทาน กิจกรรมอื่นๆ ตามปกติ แต่อย่าเอาเกม แท็บเล็ตมาเล่น หรือดูโทรทัศน์ เพราะไม่เหมาะสมกับเด็ก

“กรณีเด็กที่อยู่ HI ไม่ได้ เกิดจากแยกกับผู้ใหญ่ไม่ได้ จะเข้ามาสู่การดูแล CI ซึ่งติดต่อแต่ละจังหวัดได้ ซึ่งจะมีช่องทางให้ติดต่อ เมื่อเข้ามาเราอนุญาตให้ผู้ปกครองดูแลได้ เด็กจะเลอืกแม่เป็นหลัก และจะแยกโซนแยกเตียงเท่าที่แยกได้ เพื่อไม่ให้ใกล้ชิดเตียงอื่น เพราะเด้ฏชอบวิ่งไปเล่นกับเตียงอื่น เข้าได้อยู่ได้ แต่ผู้ปกครองต้องเข้มงวดดูแลตัวเอง ส่วนเด็กที่จะต้องแอดมิทแล้วรอเตียง สำคัญคือการดูแลเบื้องต้น โดยเฉพาะไข้ อย่าให้ไข้สูงแล้วชัก เน้นเช็ดตัวมากกว่ากินยาพาราเซตามอล” นพ.ธีรชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการติดเชื้อในศูนย์เด็กเล็ก ต้องมีการแจ้งไปยังทีมสอบสวนโรคในจังหวัดนั้น ซึ่งจะเข้ามาปิดทำความสะอาดศูนย์เด็กก่อน และสอบสวนโรค แยกกลุ่มเสี่ยงสูงต่ำ จะมีการปฏิบัติต่างกัน เสี่ยงสูงกักตัวเข้มงวดอยู่บ้าน เสี่ยงต่ำเมื่อทำความสะอาดแล้วก็เข้ามาสู่ศูนย์เด็กเล็กได้ สำหรับการตรวจ ATK มีทั้งน้ำลาย แหย่จมูก และโพรงจมูกตรงนี้ไม่แนะนำในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จมูกกับน้ำลายทำได้ แต่การบ้วนน้ำลายต้องเยอะ 20 ซีซี เชือ่ถือได้น้อย เราแนะนำแหย่จมูก ประมาณ 2 เซนติเมตร เด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ประมาณ 5 เซนติเมตร สามารถตรวจได้เหมือนผู้ใหญ่

Exit mobile version