ข่าวดีพบลูกวาฬบรูด้าเกิดใหม่ ที่อ่าวไทย เป็นลูกของ “แม่ข้าวเหนียว” และเป็นลูกวาฬตัวที่ 4 ที่พบในปีนี้ เจ้าลูกวาฬน้อยตัวนี้มีลักษณะเด่นคือ “ซนมาก“ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่หาไม่ได้ง่าย ๆ สำหรับลูกวาฬทั่วไป
จิรายุ เอกกุล ช่างภาพสัตว์ป่า และผู้ก่อตั้งบริษัทนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผู้เผยแพร่เรื่องราวของวาฬบรูด้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Jirayu Ekkul ในเพจกลุ่มสาธารณะ Thai Bryde’s whale เปิดเผยถึงข่าวดีของการพบลูกวาฬบรูด้าเกิดใหม่ที่ทะเลอ่าวไทย ดังนี้
‼️ NEW BORN BRYDE’S WHALE ALERT ‼️
📝รายงานพบลูกวาฬบรูด้าเกิดใหม่🐋
และสมาชิกตัวน้อยตัวล่าสุดของประชากรบรูด้าในอ่าวไทย
⚠️โปรดระมัดระวังอย่างมากที่สุด⚠️
วันนี้ (2 ต.ค. 2565) Jirayu Ekkul Wildlife Photography ออกเรือถ่ายภาพวาฬบรูด้ากับเรือกาน้ำใหญ่ พบลูกวาฬเกิดใหม่ ขนาดไม่เกิน 3-4 เมตร ในเวลาประมาณ 11 โมงเศษ บริเวณอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก
ถ่ายภาพดูครีบหลังก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นลูกวาฬเกิดใหม่ ตัวที่ 6 ของ “แม่ข้าวเหนียว”
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราๆ ที่ออกดูวาฬกันเป็นประจำ รวมถึงทีมสัตว์ทะเลหายากจากศวบต. ได้คาดการณ์กันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพียงแค่รอเวลาว่าเมื่อไร ที่เราจะได้เห็นลูกตัวใหม่ของเธอ หลังจากที่แม่ข้าวเหนียวหายไปประมาณ 3-4 เดือน และล่าสุดก่อนที่จะหายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาไปก็พบว่าเธอหากินเพียงลำพังแล้ว…
ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง… แม่กลับมาแล้วกับลูกตัวจิ๋วววว
⚠️คำเตือน : โปรดระมัดระวังอย่างมากที่สุด⚠️
ย้ำอีกครั้ง ลูกวาฬตัวนี้เหมือนเพิ่งได้สัมผัสกับทะเลได้ไม่นาน
ขึ้นโผล่หายใจบ่อยมาก เฉลี่ยแล้ว 3-4 ต่อ 1 ครั้งที่แม่ขึ้นมาหายใจ…
คึกมาก และเป็นหนึ่งในลูกวาฬเกิดใหม่ที่ “ไม่ค่อยยอมที่จะว่ายกับแม่ของมัน” พูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ “ซนมาก” ทั้งที่ผมพอจะมีประสบการณ์เจอลูกวาฬบรูด้าเกิดใหม่มาบ้าง แต่ไม่เคยเห็นพฤติกรรมลูกวาฬตัวไหนเหมือนตัวนี้มาก่อนเลย…
ซึ่งโดยทั่วไปเราจะเห็นแม่วาฬว่ายเคียงคู่กับลูกวาฬตลอดแต่ไม่ใช่กับวาฬเด็กตัวนี้…. หลายครั้ง แม่ข้าวเหนียวต้องว่ายไล่ตามลูกวาฬ (ห่างกันเกิน 50 เมตร) ซึ่งน้องอาจจะคึก หรืออะไรก็มิทราบได้… หรือวาฬแต่ละตัว ก็อาจจะมีลักษณะนิสัยในการเลี้ยงลูกที่ไม่เหมือนกัน ก็มิทราบได้…
💥เพราะฉะนั้นจึงของความระมัดระวังเป็นพิเศษอย่างมาก ถ้ามีผู้ใดพบเจอ…(ครีบแม่ข้าวเหนียว สมบูรณ์และมีลักษณ์คล้ายสามเหลี่ยมมุมฉาก) 💥
ทั้งนี้ลูกวาฬน้อยตัวนี้เป็นลูกวาฬเกิดใหม่ตัวที่ 4 ในอ่าวไทยที่พบในปีนี้
สำหรับวาฬบรูด้า (Bryde’s whale) เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของไทย เป็นกลุ่มวาฬที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีซี่กรอง (Baleen Plates) สำหรับกรองอาหาร พวกมันเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมหากินเป็นฝูง แต่มักจะออกหากินตัวเดียว ยกเว้นคู่วาฬแม่-ลูกที่ยังไม่แยกจากกัน
วาฬบรูด้า เป็นหนึ่งในสัตว์ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งทะเลไทย” นอกจากนี้มันยังเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของการเที่ยวชมวาฬไทยในทะเลบ้านเรา โดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทยตอนบน หรือ “อ่าว ตัว ก.” หรือ “อ่าว ก.ไก่” ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของวาฬบรูด้า
ปัจจุบันบริเวณอ่าว ก.ไก่ สำรวจพบว่ามีประชากรวาฬบรูด้าอยู่ราว ๆ 60 กว่าตัว ทุกตัวจะมีชื่อเรียกขานหมด (ยกเว้นตัวที่เกิดใหม่ยังไม่ถูกตั้งชื่อ) โดยหากทราบว่าเป็นเพศเมียก็จะเรียกว่า “แม่” เช่น แม่วันสุข แม่ศรีสุข แม่ข้าวเหนียว แม่สดใส ส่วนตัวที่ไม่สามารถระบุเพศได้ก็จะเรียกว่า “เจ้า” เช่น เจ้าบางแสน เจ้าท่าจีน เจ้าสุขใจ เจ้าส้มตำ เจ้าพาฝัน เป็นต้น (การตั้งชื่อวาฬเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ทช.)
นอกจากนี้ก็ยังมีวาฬมีบุญนาม “สมุทร” ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อให้ คือ “เจ้าสายสมุทร” (ลูกแม่สายชล) และ “เจ้าสมสมุทร” (ลูกแม่สมหวัง)
#############
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
อะเมซิ่ง “อ่าว ก.ไก่” อาณาจักร “วาฬไทย ดูได้ทั้งปี” แหล่งชม “วาฬยืนกิน” ดีที่สุดในโลก