Site icon บางแสน

อุปถัมภ์ กองแก้ว นักเขียนวัย 93 ปี ผู้สมควรได้เป็นศิลปินแห่งชาติ(1)

c650f8943c1c4e0eaeb2c256e9c17edc4fead7b7e55ddecda673ab5f279521de.jpg

ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

นักเขียนรุ่นลายครามผู้นี้โลดแล่นอยู่ในวงการน้ำหมึกเป็นเวลายาวนานเกือบ 70 ปีแล้ว เธอเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุ 20 กว่าปี ในขณะที่ยังเป็นครูที่จังหวัดตาก  ช่วงแรกของการเขียน เธอเขียนนวนิยายรักโรแมนติกตามวัยและยุคสมัย

นวนิยายเรื่อง “มัจจุราชสีน้ำผึ้ง” เป็นนวนิยายที่ผมได้ยินชื่อตั้งแต่ยังเด็ก น่าจะอยู่ประถมปลายคู่กับชื่ออุปถัมภ์ กองแก้ว ญาติๆ ต่างพากันพูดถึงนวนิยายเรื่องนี้ด้วยความชื่นชอบและชื่นชม ตอนนั้นผมไม่มีโอกาสอ่านหรอก เพราะยังเด็กมาก รู้แต่ว่าเป็นนวนิยายที่ดังมาก  ได้อ่านนวนิยายจริงจังตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนิตยสารของญาติๆ เช่นศรีสยาม  บางกอก ทานตะวัน สกุลไทย แสนสุข ฯลฯ

ยิ่งเมื่อนวนิยายเรื่อง “มัจจุราชสีน้ำผึ้ง” ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก ประชันบทบาทระหว่างคู่พระ-คู่นางคือ สมบัติ เมทะนีกับพิสมัย วิไลศักดิ์ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ แมคเคนน่า ส่งให้นวนิยายเรื่องนี้โด่งดังยิ่งขึ้น ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ขจรขจายในหมู่คนอ่าน

“เรื่องมันไม่ได้มีอะไรมากหรอก  พี่เขียนตอนนั้นอายุยังน้อยมาก ซักยี่สิบกว่า ๆ  เขียนตามประสาเด็ก  คนสมัยนั้นเขาก็ชอบเรื่องหวานแหววกัน  ก็เลยดังขึ้นมา”อุปถัมภ์ กองแก้วพูดประโยคนี้กับผมกว่า 10 มาแล้ว

แม้เธอจะออกตัวว่าเขียนตามวัยและยุคสมัย  แต่ความดังของนวนิยายเรื่องนี้ ทำให้คนอ่านจำชื่อนางเอกของเรื่องด้วยความตราตรึงใจ  จนกระทั่งนำไปตั้งชื่อลูกสาวว่า “รจนาไฉน”

เรื่องบังเอิญอย่างเหลือเชื่อก็คือ รจนาไฉนในชีวิตจริง เป็นเลขาฯของบริษัททีวีซีนที่ไปติดต่อขอเช่าลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องนี้กับอุปถัมภ์   กองแก้ว เพื่อนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 3

“แม่ของเขาชอบนวนิยายเรื่องนี้มาก ก็เลยเอาไปตั้งชื่อลูกสาวว่า รจนาไฉน”อุปถัมภ์ กองแก้วเฉลยให้ฟังระคนยิ้ม

เรื่องบังเอิญเรื่องที่สองที่ไม่น่าเชื่อก็คือ อีกหลายเดือนต่อมา ผมมีโอกาสรู้จักรจนาไฉน ตัวจริง เสียงจริงอย่างไม่คาดฝันในงานเสวนาที่โรงแรมสยามซิตี้  เมื่อเธอยื่นนามบัตรสีชมพูอ่อนให้ผม ชื่อ “รจนาไฉน” วงเล็บต่อท้ายนามสกุลแบบไทย ๆ ว่า “น้องทราย” ชื่อเล่นก็แสนไพเราะ น่ารัก

เหมือนเจ้าตัวในวัย 26 ปี  เราได้ติดต่อกันและได้นัดเจอกันบ้างตามโอกาส  แต่ต่างคนต่างทำงานคนละแวดวง  ตอนหลังเลยไม่ค่อยได้ติดต่อกันและห่างกันในที่สุด

ที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าอุปถัมภ์ กองแก้วเริ่มเขียนหนังสือขณะที่เป็นครูที่จังหวัดตาก เพราะเธอเป็นคนจังหวัดตาก เป็นเพื่อนนักเรียนระดับชั้นประถมที่โรงเรียนผดุงปัญญา จังหวัดตาก รุ่นเดียวกับสุภัทร สวัสดิรักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย(ล่วงลับแล้ว) เมื่อจบชั้นประถมแล้ว จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา

ทว่า เรียนไม่จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเรียนเพิ่มเติมด้วยตัวเองและสอบได้วุฒิทางครู ผมไม่ได้ถามชัดเจนว่าวุฒิอะไร คิดว่าสมัยนั้นน่าจะเป็นวุฒิพ.ม.ถ้าไม่ใช่ต้องขออภัย หลังจากนั้นไปเป็นครูประชาบาลที่จังหวัดตากเป็นเวลา 7 ปี  แล้วลาออกไปเป็นครูที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ย่านหลานหลวง กรุงเทพฯอีก 7 ปี

อุปถัมภ์ กองแก้วมีผลงานเขียนเรื่องแรกเป็นเรื่องสั้นชื่อ “ผู้หญิงคนนั้น….อยู่ที่ไหน” ส่งไปประกวดที่นิตยสารสกุลไทย ยุคลมูล อติพยัคฆ์(ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “ฉุยฉาย”ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น) เป็นบรรณาธิการเมื่อปี 2501 ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์  คณะกรรมการตัดสิน ล้วนเป็นนักเขียนรุ่นลายครามชื่อดัง ถือว่าเป็นกรรมการระดับกิตติมศักดิ์ทั้งนั้นได้แก่ อมราวดี สุภาว์  เทวกุล  อ. ไชยวรศิลป์ เป็นอาทิ

เรื่องสั้นเรื่องนี้เธอเขียนจากความรู้สึกที่ได้พบเห็นเด็กคนหนึ่ง ซึ่งแม่บอกให้ยืนรออยู่ตรงมุมถนน  แม่จะไปตามหาพ่อ ให้รอแม่ตรงนี้  หญิงชรามาพบเข้า ถามเด็กดู พอรู้เรื่อง จึงชวนไปบ้าน เด็กคนนี้อยู่บ้านหญิงชรานานเป็นปี แต่ก็จะวิ่งมาดูแม่ทุกวัน หวังว่าแม่จะกลับมา เรื่องนี้อุปถัมภ์ กองแก้วรู้สึกสะเทือนใจมาก จนเก็บไว้ในใจไม่ได้  ประจวบเหมาะ กับนิตยสารสกุลไทยจัดประกวดเรื่องสั้น 5 นาที  ความยาว 1 หน้าครึ่งกระดาษฟุลสแก้ป จึง เขียนส่งไปประกวดดังที่กล่าวข้างต้น

ถือว่าเป็นเรื่องสั้นแจ้งเกิดบนบรรณพิภพของเธอ  จากนั้นจึงได้เขียนเรื่องสั้น7 ตอนจบชื่อ “ไดอารี่สีดำ”ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย และเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารดรุณีของชิต  กันภัย ซึ่งเป็นนิตยสารระดับแถวหน้าในสมัยนั้น มียอดจำหน่ายเกือบแสนเล่ม

“แล้วพี่ก็เขียนนวนิยายเรื่องแรกเรื่อง ‘ขวัญคืน’ที่ดรุณี  ตามด้วย ‘วิมานชีวิต’แล้วไปเขียนที่ผดุงศิลป์  สกุลไทย  กุลสตรีและฉบับอื่นตามลำดับมาเรื่อย”เธอบอกเล่าให้ฟัง 

ครั้งที่เธอเป็นครูที่โรงเรียนสตรีจุลนาค เธอบอกว่าเขียนนวนิยายสัปดาห์ละ 4 เรื่อง  ไม่นับที่เป็นงานเขียนรับเชิญในโอกาสต่าง ๆ  ไหนจะเตรียมการสอน ไหนจะทำคะแนน ช่วงนั้นแบก ภาระหนักมาก  จึงตัดสินใจลาออก ซึ่งนักเขียนแนวพาฝันรุ่นเดียวกันกับอุปถัมภ์   กองแก้ว ในยุคนั้นได้แก่กฤษณา   อโศกสิน  ชูวงศ์   ฉายะจินดา  นราวดี  พนมเทียน เป็นอาทิ นวนิยายเรื่อง “วิมานชีวิต” เป็นนวนิยายเรื่องที่ 2 ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนอ่าน 

แต่นวนิยายที่โด่งดังและถือว่าเป็นเรื่องเด่นแล้ว ต้องยกให้เรื่อง“มัจจุราชสีน้ำผึ้ง”และ “ตลาดอารมณ์” ซึ่งนวนิยายทั้งสองเรื่อง  ครั้งที่สร้างเป็นภาพยนตร์ก็ทำรายได้ดี หากนวนิยายที่อุปถัมภ์   กองแก้วรักมากที่สุดคือเรื่อง “มงกุฎฟาง” นวนิยายเรื่องนี้

เป็นนวนิยายที่สะท้อนสังคมที่แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต  ไม่มีความจีรัง ชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนหนุ่มสาวที่ต้องการก้าวเข้าไปในโลกมายา ซึ่งมีชีวิตที่หรูหรา

ตัวเอกเป็นสาวน้อยคนหนึ่งที่โชคชะตาได้พาเธอก้าวเดินไปสู่ถนนแห่งดวงดาว  ซึ่งจะนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศและเงินทอง แต่ถนนสายนี้ที่ผู้คนนับถือเงินตราเป็นพระเจ้า ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เมื่อชะตาชีวิตของเธอพลิกผัน หรือว่ามงกุฎแห่งเกียรติยศที่เธอสวมอยู่ จะเป็นแค่มงกุฎฟาง

นวนิยายเรื่องนี้ผมจำได้ว่าเคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์ดังพอ ๆ กับเพลงในชื่อเดียวกัน ขับร้องโดยนักร้องที่ชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ เกษรา  สุดประเสริฐ  แต่นวนิยายที่อุปถัมภ์  กองแก้วภาคภูมิใจที่สุดคือเรื่อง “อรุณลา” เธอทบทวนความหลังเกี่ยวกับนวนิยายเรื่องนี้ว่า…

“ในสมัยนั้นวิทยาลัยครู(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏ)หลายแห่งได้นำไปวิจารณ์ด้วยความชื่นชม เพราะเป็นนวนิยายเชิงจิตวิทยา  เขียนตอนยังเป็นครู  เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่บ้านแตก  เวลาที่พ่อเลี้ยงหรือน้องโกรธ

แม่ก็คิดแค้นมาลงที่เด็กคนนี้  ต้องรองรับอารมณ์ของแม่  ก็เลยเป็นเด็กที่หมางเมินกับความรัก  มีความรู้สึกว่าไม่มีใครรัก  พอโตเป็นสาวก็วางตัวไม่ถูก  ตอนท้ายก็พลาดพลั้งเสียความบริสุทธิ์ให้กับผู้ชายคนหนึ่ง  จนได้มาเจอผู้ชายคนใหม่เป็นลูกชายของครู” เธอขยายความให้ฟังว่า “อรุณ”หมายถึงความสดชื่น  แต่สำหรับเด็กคนนี้แทบจะไม่มีอรุณสำหรับเขา  เธอเล่าต่อว่า

“เป็นเห็นเรื่องจริง ไปเห็นเด็กคนหนึ่งถูกเฆี่ยน  มีรอยถูกตีด้วยเข็มขัดที่มือ ที่แขน เพราะน้องคนละพ่อไปฟ้องว่าไม่ให้ตังค์  พ่อเลยว่าแม่  แม่โกรธเลยตี  เมื่อโตก็พลาดท่าให้ผู้ชาย  ก็เลยแต่งเติมเข้าไปไม่ให้ดูโหดร้ายนัก  กระนั้นยังถูกวิจารณ์ว่าทารุณกับตัวละคร  คงเป็นเพราะว่าในสมัยนั้นเรื่องสมจริงยังไม่เป็นที่นิยมของคนอ่าน”

(อ่านต่อตอนหน้า)

“ทางประเสริฐของการดำเนินชีวิตได้แก่ การวางเฉย ในอารมณ์ทั้งปวง อะไรจะเกิด มันต้องเกิด”(หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม)

Exit mobile version