Site icon บางแสน

สาลิกาคาบข่าว Vol.199

keep-new-18-7-65-696x522.jpg

EEC HDC โชว์แนวทางสร้างการศึกษาก้าวหน้า ดัน “อาชีวะ” พัฒนาประเทศสู่โลกใบใหม่

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC)

ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) โพสต์เฟสบุ๊คงานพัฒนาคน-การศึกษาและท้องถิ่นใน EEC ต่อยอดการพัฒนาบุคลากร ที่มุ่งสร้างความก้าวหน้าให้มี “ความรู้-ทักษะ” เท่าทันโลกใบใหม่วันนี้ ต้องรื้อสร้างการศึกษา-การพัฒนาคนมิติใหม่ ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของงานยุคใหม่ บนฐานความรู้-ทักษะที่ทำงานได้จริง ซึ่งต้องก้าวข้ามระบบ-วิธีการของศึกษาแบบเดิมๆ ที่เลื่อนลอย-ไร้ความรับผิดชอบ-มีคนตกงานปีละหลายแสนคน! การแก้ไขสำคัญคือการปรับ mindset วิสัยทัศน์ นโยบาย-แนวปฏิบัติ และสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ขึ้นใหม่ ที่มีระบบการพัฒนาคนให้มีความรู้-ทักษะตรงตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีวันนี้ ที่ต้องมีฐานความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานหลักทั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ วันนี้ EEC HDC จับมือกับภาคอุตสาหกรรมเชื่อมประสานสถาบันการอุดมศึกษา & อาชีวะ เร่งปรับฐานเสริมความรู้-ทักษะด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิศวกรรมยุคใหม่ และปรับสร้างสิ่งแวดล้อมการศึกษาใหม่ ที่เสริมการพัฒนา STEAM สร้างระบบเครดิตแบงค์ ปรับหลักสูตรเป็นแบบโมดูล และวางฐานให้มีการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีพ ฯ ผลรวมทั้งหมดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษาใน EEC หลายแห่ง อาทิ วท.สัตหีบ วท.ชลบุรี วท.มาบตาพุด วท.บ้านค่าย วท.ระยอง วท.บางแสน วท.พัทยา ฯ เป็นต้น ยกระดับการพัฒนาประเทศสู่โลกใบใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ

ครม. ไฟเขียว! กนอ. ร่วมลงทุนเอกชนพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด มูลค่า 3.2 พันล้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ว่า ครม.อนุมัติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะร่วมกับบริษัท ไทย คอนเน็คทิวิตี เทอมินอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป มูลค่าโครงการรวม 3,221 ล้านบาท ซึ่งสัมปทานเดิมของบริษัทจะสิ้นสุดในวันที่ 16 กันยายน 2565 โดยการทำสัญญาใหม่ในครั้งนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์จากเดิมที่ทางบริษัทได้ให้บริการขนถ่ายทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าเทกอง ส่วนสัญญาใหม่นี้จะลงทุนในส่วนของการเพิ่มบริการเกี่ยวกับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ อาทิ ติดตั้งเครนยกตู้คอนเทนเนอร์บริเวณท่าเทียบเรือ การให้บริการซ่อมและทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ การพัฒนาพื้นที่ลานวางตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการและเรือมาใช้บริการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มขึ้น สำหรับรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะมอบสิทธิให้เอกชนเพื่อดำเนินโครงการและเข้าใช้ทรัพย์สินเดิม มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดย กนอ. ไม่ต้องสนับสนุนงบหรือลงทุนใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากเงินลงทุนภาครัฐ 963 ล้านบาท เป็นมูลค่าทรัพย์สินเดิมของโครงการที่มีอยู่แล้ว ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดจำนวน 2,257 ล้านบาท บริหารจัดการท่าเรือรวมถึงจัดสรรผลตอบแทนให้ กนอ. ตามที่ตกลงไว้คือ 1)ค่าเช่าพื้นที่ 2)ค่าตอบแทนคงที่ในปีแรก และปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ทุก 5 ปี 3)รายได้จากค่าภาระเรือเข้าท่าทั้งหมด (Port Dues) 4)ส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินกิจการร้อยละ 5 (ไม่รวม Port Dues)  นอกจากนี้ เมื่อสิ้นสุดสัมปทานระยะเวลา 30 ปี ภาคเอกชนต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนใหม่ให้แก่ กนอ. ด้วย

ปตท. โชว์เรือขนส่ง LPG ขนาดใหญ่ สร้างโอกาสการค้าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ลี ซึง อู (Mr. Lee Seung Woo) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท KSS Line Ltd ร่วมในพิธีรับมอบเรือ Gas Ivory เรือบรรทุกก๊าซ LPG ขนาดใหญ่ ที่อู่ต่อเรือของ Hyundai Heavy Industries Co., Ltd เมือง Ulsan ณ สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่ง ปตท. ได้ลงนามในสัญญาเช่าระยะยาว รองรับความต้องการใช้ LPG ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในโรงปิโตรเคมี ในขณะที่ปริมาณเรือยังคงมีจำกัด การจัดหาเรือบรรทุกก๊าซ LPG ขนาดใหญ่ในครั้งนี้จึงมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย เรือ Gas Ivory เป็นเรือใช้เชื้อเพลิงแบบ Dual Fuel ลำแรกของประเทศไทย สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งน้ำมันเตากำมะถันต่ำตามมาตรฐานการเดินเรือขนส่งระหว่างประเทศ และพลังงานสะอาดอย่าง LPG ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีบทบาทสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต เพราะสามารถเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นสาเหตุของปัญหาสภาวะโลกร้อน นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Green House Gas Emission) และสอดรับกับวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy & Beyond ของ ปตท.

เปิดช่องคลินิกเอกชน จัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโควิด ก่อนขยายสู่ร้านขายยา

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเข้าถึงยารักษาโควิด 19 ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย โดยกรณีมีอาการเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการ หรือใช้ฟ้าทะลายโจรได้ ส่วนกรณีมีอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ แพกซ์โลวิด รวมถึงแอนติบอดี LAAB ที่จะเข้ามาในสัปดาห์หน้า จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องสั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น การหาซื้อยารับประทานเองอาจได้รับยาปลอมและเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นที่ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งกรณียาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลเอกชนได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จากกระทรวงสาธารณสุขสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้บริการผู้ป่วยโควิด 19 เองเพิ่มเติมได้ ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวีย์มากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด 19 (EOC) จึงเตรียมการให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตอาจขยายให้ร้านขายยาสามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้ด้วยสำหรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองขึ้นไป

“ศรีลังกา” เหลือเงินซื้อน้ำมันแค่ 3 ครั้ง “แบงก์ชาติ” จี้ตั้งรัฐบาลเจรจาเงินกู้ไอเอ็มเอฟ

สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุ นายนันดาลัล วีระสิงเห ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา กล่าวว่า ศรีลังกาอาจต้องปิดประเทศ หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความมั่นคงได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเงินที่ศรีลังกาเหลืออยู่ในขณะนี้ แค่เพียงสามารถซื้อน้ำมันดีเซลได้ 3 ครั้ง และซื้อน้ำมันปิโตรเลียมได้อีก 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่หลังจากนั้น มีความไม่แน่นอนอย่างสูงว่าศรีลังกาจะสามารถหาเงินตราต่างประเทศได้มากพอ เพื่อซื้อน้ำมันปิโตรเลียมที่จำเป็นสำหรับประเทศนี้ได้หรือไม่ ขณะที่ความคืบหน้าในการได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งวีระสิงเหเป็นผู้เจรจากับไอเอ็มเอฟ เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ศรีลังกา แต่ความคืบหน้าในการหารือกับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า ศรีลังกาจะต้องมีรัฐบาลที่มั่นคงเสียก่อน ต้องมีนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และรัฐบาลที่มีอำนาจตัดสินใจ จึงจะสามารถเจรจาเงินกู้กับไอเอ็มเอฟเพื่อก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ให้ได้ภายในเวลา 3-5 เดือน ไม่เช่นนั้นศรีลังกาจะต้องปิดประเทศ และความทุกข์ยากจะตกแก่ประชาชน

Post Views: 11

Exit mobile version