การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่ “เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพื่อร่วมสืบสานประเพณีไทยเนื่องในงาน เทศกาลสงกรานต์ ณ บริเวณชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี เรียกว่า “วันไหล” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ 16-17 เมษายน 2565
คณะผู้จัดงานเปิดให้ผู้สมัครเข้าพื้นที่การแข่งขันและลงมือ ก่อพระทราย ตั้งแต่เวลา 08.00 น.ของวันเสาร์ที่ 16 เมษายน ถึงเวลา 10.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน ด้วยมาตรการควบคุม โควิด-19 (ผู้ก่อพระทรายต้องตรวจคัดกรอง ATK ก่อนเข้าพื้นที่) และประกาศผลการตัดสินในเวลาประมาณ 11.00 น. ท่ามกลางความสนใจของผู้เดินทางไปพักผ่อนตากอากาศในวันนั้น ต่างพากันเก็บภาพความสวยงามของ “พระทราย” เซลฟี่ ถ่ายคลิปวิดีโอและไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวกันอย่างคึกคัก
ประเพณี ก่อพระทราย เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ถือปฏิบัตินิยมจัดให้มีขึ้นในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่(ตรุษสงกรานต์)ของชาวพุทธ โดยมีแนวความคิดในการที่จะขนทรายเข้าวัด เพื่อใช้ในการ ก่อสร้างหรือซ่อมแซมเสนาสนะ และ ถวายเป็นพุทธบูชา
รูปแบบของ พระทราย จะบ่งบอกหรือสื่อความหมายถึงเรื่องราวของพุทธศาสนาและมักจะ มีลักษณะรูปทรงเป็น พระสถูป เจดีย์ พระปรางค์ พระพุทธรูป หรือสิ่งของอื่นใดที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แล้วประดับตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดอกไม้ เปลือกหอยและธงทิวต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม
สำหรับ การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน ประจำปี 2565 แบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
- ประเภท ก แบบชาวบ้านหรือแบบดั้งเดิม (ชุมชน) : เงินรางวัลชนะเลิศ 15,000 บาท
- ประเภท ข หน่วยงาน : เงินรางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท
- ประเภท ค กลุ่มโรงเรียนระดับประถม : เงินรางวัลชนะเลิศ 25,000 บาท
- ประเภท ง กลุ่มโรงเรียนระดับมัธยม : เงินรางวัลชนะเลิศ 40,000 บาท
- ประเภท จ ชมรมและกลุ่มผู้ประกอบการชายหาด : เงินรางวัลชนะเลิศ 15,000 บาท
- ประเภท ฉ ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) : เงินรางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท
การประกวดแต่ละประเภทมีเกณฑ์การให้คะแนนชัดเจน เช่น รูปทรง สัดส่วน ความหมายและแนวคิดสร้างสรรค์ ความสวยงาม ความละเอียดปราณีต องค์ประกอบนอกเหนือจากองค์พระทราย ความเหมาะสมของส่วนประกอบจากทรายและวัสดุสำเร็จรูป
นอกจากรางวัลชนะเลิศ การประกวดแต่ละประเภทยังมี “รางวัลรองชนะเลิศ” และ “รางวัลเกียรติยศ” จำนวนแตกต่างกันไป
ดอกบัวพ้นน้ำ : พระทรายสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแนวความคิดจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีวิกฤตต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือโรคระบาด Covid-19 เกิดผลกระทบเป็นอย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ จิตใจ
แต่ด้วยความสามารถของมนุษย์เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ศักยภาพ ความสามารถ จิตใจที่มุ่งมั่น ความรัก ความสามัคคี และความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก จึงเกิดการพัฒนา ปรับตัวและต่อสู้วิกฤตต่างๆ เพื่ออยู่ร่วมกับ โควิด-19 ให้ได้ เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนบททดสอบอีกขั้นของมนุษยชาติ
ทีมงานจึงสร้างสรรค์พระทรายที่แสดงเจตนารมณ์ข้างต้น โดยนำ ดอกบัวพ้นน้ำ สัญลักษณ์ของการผ่านพ้นมาเป็นแรงบันดาลใจ เปรียบดอกบัวกว่าจะผ่านพ้นน้ำต้องผ่านดินและโคลนตมที่เปรียบเสมือนปัญหาและวิกฤตต่างๆ จนผ่านผิวน้ำและผลิกลีบดอกกลายเป็นบัวที่สวยงาม ออกแบบในนาม มหาวิทยาลัยบูรพา คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภท ฉ (ศิลปะร่วมสมัย)
พระทรายเจดีย์ช้างล้อม : เลียนแบบรูปลักษณ์เจดีย์ทรงลังกาบนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบทั้งสี่ด้านด้วยปูนปั้นรูปช้างเต็มตัวรวม 39 เชือก หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ(ธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้) และวิมุตติ 2 ประการ เป็นที่มาของชื่อ “วัดช้างล้อม” โบราณสถานสำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นผลงานการก่อพระทรายโดย โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ประเภท ง
เพิงล่าง : บันดาลใจจาก “วิถีชีวิตชาวประมง ชุมชนหาดวอนนภา” ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยเฉพาะความเรียบง่าย ภูมิปัญญาในการใช้เครื่องมือหาปลา การใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต ความผูกพันระหว่างชาวประมงกับทะเล จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรม วิถี ความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ผ่านการตกผลิต และได้รับการถ่ายทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ออกแบบโดยนาย ลิขิต สว่างทิตย์
พระทราย “สัญญะแห่งสันติสุข สู่สุขสัญญะ”
สัญญะแห่งสันติสุข สู่สุขสัญญะ : พระทรายที่ก่อขึ้นเพื่อสะท้อนเรื่องราวความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมนิยม และ “สันติสุข” ที่เกิดขึ้นได้โดยยึดหลักธรรมาธิปไตย 5 หลักทิศ 6 หลักไตรสิกขา และสัปปุริสธรรม (คุณสมบัติของคนดี) หลักปฏิบัติที่จะนำสังคมไปสู่ความสงบ่สุข ออกแบบโดยศิษย์เก่าศิลปกรรมบูรพา คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภท ฉ
เราจะสู้โควิดไปด้วยกัน : การก่อพระทรายมีแนวคิดในการปั้นรูปแบบต่างๆ มากมาย กิจกรรมในปีนี้ “เทศบาลตำบลเสม็ด” สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันด้วยงานศิลปะร่วมสมัยภายใต้แนวคิด “เราจะสู้โควิดไปด้วยกัน” โดยการนำสัญลักษณ์ปีนักษัตรขาล เสือในรูปแบบการ์ตูนสวมแมสก์ปิดจมูก พร้อมชูนิ้วมือสองนิ้วแสดงถึงชัยชนะและการก้าวผ่าน ฐานล่างก่อทรายแบบตัวเชื้อโควิดที่เสือเหยียบจมพื้นดิน
ลงเรือลำเดียวกัน : หมายถึง การลงมือทำงานร่วมกัน เป็นพวกเดียวกัน หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับผลจากการกระทำร่วมกัน ออกแบบโดย “เทศบาลเมืองบ้านสวน”
โบราณสถานวัดอ่างศิลา : วัดอ่างศิลา มีเจดีย์ 3 องค์ตั้งอยู่หน้าวิหาร กรมศิลปากรบูรณะวิหารวัดอ่างศิลาเมื่อปีพ.ศ.2561-2562 ทำให้ทราบว่า “วัดอ่างศิลา” มีการก่อสร้าง 2 ช่วงเวลา คืออยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติและลายเทพชุมนุม องค์เจดีย์ประดับประติมากรรม “ลิงแบกยักษ์” และ “ครุฑยุดนาค” มีกำแพงแก้วล้อมรอบเจดีย์ ด้านในกำแพงแก้วมีช่องสำหรับประดับผางประทีปทำจากเครื่องถ้วยจีน
“เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี” โดยคณะผู้บริหาร สมาชิสภาเทศบาล ผู้ประกอบการชายหาดบางแสนล่าง ชายหาดบางแสน และชายหาดแหลมแท่น อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ชมรมกู้ชีพทางทะเลฉลามขาว (พิทักษ์ทะเล) ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย และประชาชนทั่วไป ร่วมกันดำเนินการรื้อถอนพระทรายและทำความสะอาดพื้นที่จัดการประกวดก่อพระทรายเมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมคืนชายหาดให้กับนักท่องเที่ยวสำหรับวันสุดสัปดาห์นี้
“Art & Living กรุงเทพธุรกิจ” นำภาพการประกวดก่อพระทรายบางส่วนมาให้ผู้สนใจได้ชมเผื่อท่านใดพลาดโอกาสเดินทางไปร่วมงานวันไหลบางแสนปี 2565 นี้
พระทราย “พระบรมธาตุมหาวชิรทศบารมีเจดีย์ (อุบลราชธานี)” : โรงเรียนชลบุรี สุขบท
พระทราย “พระธาตุพนม” : บริษัทบางแสนมหานคร : รองชนะเลิศอันดับ 3 ประเภท ข
พระทราย “พระมหาเจดีย์ธาตุ” วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ : เทศบาลตำบลบางทราย
พระทรายโดย “เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์” รองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท ข
พระทรายโดย “บริษัทบางแสนมหานครพร็อพเพอร์ตี้จำกัด” รางวัลเกียรติยศ ประเภท ข