หากถามว่าประทับใจการเล่านิทานครั้งไหนมากที่สุด
ครั้งหนึ่งในความทรงจำของเธอ คือการประกวดเล่านิทานกับลูกสาวในเวทีแห่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าเธอกับลูกคว้ารางวัลชนะเลิศประเภททีมครอบครัวมาครองได้สำเร็จ
‘นิทาน’ ที่เธอและลูก นำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าประทับใจในครานั้น คือ
‘Horton Hatches the Egg’ ผลงานการแต่งของนักเขียนนิทานชื่อก้องโลก นาม Dr. Seuss หรือ Theodor Seuss Geisel
“นิทานเรื่องนี้ เป็นเรื่องของแม่นกที่ฝากช้างใจดีตัวนึงให้ช่วยฟักไข่ แล้วแม่นกก็บินหนีไป ไปเที่ยวไหนต่อไหน ขณะที่ช้างก็เป็นช้างที่ใจดี มีเมตตา เขาก็ทำได้สำเร็จ แม้จะเจออุปสรรคปัญหาต่างๆ…
“…เป็น message ที่สอนได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เด็กอาจมองในแง่แฟนตาซี แต่หากมองอีกแง่นึงก็คือมันสะท้อนเรื่องของปัญหาครอบครัวได้ พ่อแม่อาจหลงลืมไปว่าเราต้องเลี้ยงดูลูกของเราเอง ซึ่งในจุดจบของ Hortonฯ จุดสุดท้ายคือ เมื่อแม่นกตามลูกเจอ ลูกก็ฟักไข่ แต่นกที่ฟักออกมากลายเป็น ‘นกช้าง’ ก็สะท้อนว่าคุณฝากใครเลี้ยงลูกไว้ยังไง ลูกก็จะเป็นอย่างนั้น ประมาณนั้นค่ะ” เธอบอกเล่าอย่างเห็นภาพและสะท้อนแง่คิดที่น่าสนใจ
ทว่า เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งนิทาน อันแฝงนัย ให้แง่คิด และเสริมสร้างจินตนาการได้อย่างกว้างไกล ทั้งให้ความสุข ความสนุกแก่เด็กๆ ทุกเชื้อชาติเสมอมา
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ป้าติง-วรินท์ธรน์ ประพัฒน์ทอง’ นักเล่านิทานในดวงใจของเด็กๆ และผู้ใหญ่อีกหลายคน ด้วยความสร้างสรรค์ในการเล่า ไม่ว่าการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างเปี่ยมชีวิตชีวา หุ่นตัวละครหลักในนิทาน ฉากที่มีลูกเล่น การเชื้อเชิญให้เด็กๆ ก้าวเข้ามามีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหากิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้ ที่ ‘ป้าติง’ ได้นำพาคาราวานนิทานไปพบปะเด็กๆ ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าในโรงเรียน เทศกาลงาน Craft หรือมูลนิธิต่างๆ ที่ดูแลอุปการะเด็กข้ามชาติ เด็กพิการซ้ำซ้อน และอีกหลากหลายประสบการณ์ กระทั่งย้อนไปนับแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กสาวขี้อายคนหนึ่ง ก่อนได้พบกับแรงดลใจสำคัญที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเล่านิทานคนสำคัญที่ผู้คนไม่น้อยล้วนให้การยอมรับและชื่นชมในความทุ่มเท
หลากหลายเรื่องราวแห่งความประทับใจดังที่กล่าวมาข้างต้น ‘ป้าติง’ ได้บอกเล่าไว้นับจากนี้
จุดเริ่มต้น ‘นักเล่านิทาน’
ถามว่า อะไรคือที่มาหรือแรงบันดาลใจ ที่ทำให้คุณสนใจหันมาเป็นนักเล่านิทานสำหรับเด็ก
ป้าติงตอบว่า หากถามถึงแรงบันดาลใจแรกเริ่ม ต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส ปี 1 โดยมีกิจกรรมอย่างหนึ่งคือ ให้นิสิตสมัครเข้าชมรมต่างๆ
ซึ่งป้าติงสนใจสมัครเข้าชมรมสลัม เนื่องจากชมรมดังกล่าว จะมีพี่ๆ พาลงพื้นที่ชุมชนไปสอนหนังสือเด็ก ไปทำกิจกรรมกับเด็กๆ
“ป้าก็ไปสมัคร แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องลงพื้นที่ชุมชน เราไม่กล้าไปเล่นกับเด็กๆ เราทำไม่ได้อย่างพี่ๆ เค้าทำ ที่เค้าเล่นกับเด็กๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้วก็สนุกมากเลย แต่ทำไมเราไม่กล้าเล่นนะ ถ้าเราเป็นแบบนี้ตลอด แล้วการมาลงพื้นที่แต่ละครั้งก็น่าเสียดายเปล่าๆ ถ้าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ
ก็บังเอิญมีโอกาสเหมาะ ที่ทาง ‘กลุ่มมายา’ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน โดยพี่ๆ กลุ่มมายาเค้าเปิดอบรมอาสาสมัครนักแสดง แล้วตอนนั้นปิดรับสมัครไปแล้ว หมดเขตไปแล้ว แต่ว่าป้าก็คิดว่า ‘ลองดู ลองเขียนจดหมายสมัครไปดู เผื่อว่าเขาจะรับ’
“ปรากฏว่าพี่ๆ เขาก็เรียกสัมภาษณ์แล้วป้าได้รับเลือกเข้าไปเป็นคนสุดท้ายของทีมนั้น เราก็รู้สึกโชคดีมากๆ เพราะพี่ๆ เค้ามีกระบวนการที่ช่วยให้เราได้ค้นพบศักยภาพของเราอย่างเต็มที่ แล้วก็ได้นำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้ามาเป็นนักเล่านิทานค่ะ” ป้าติงย้อนให้ฟังถึงวันวารอันเป็นจุดเริ่มต้น
คือ ‘นิทาน’ แบบไหน
ถามถึงกิจกรรมนับแต่ช่วงแรกเริ่มของการเป็น ‘ป้าติง’ นักเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังว่าเริ่มขึ้นได้อย่างไร และนิทานที่หยิบยกมาเล่าในแต่ละครั้ง เป็นนิทานแบบไหน
ป้าติงตอบว่า ช่วงแรกๆ ของการเป็นนักเล่านิทานให้เด็กๆ คือการเริ่มเล่าที่โรงเรียนซึ่งลูกของป้าติงเรียนอยู่ โดยคุณครูเชิญเข้าไปเล่านิทานในวาระต่างๆ เช่น วันพ่อ วันแม่ วันเด็ก เป็นต้น
“ป้าจะมี Theme ต่างๆ ตามที่คุณครูให้มา เช่นวันเด็กปีนี้ เป็นธีมอะไร เราก็จะเลือกเรื่องที่เข้ากับธีมนั้นค่ะ หรือวันพ่อ วันแม่ เราก็เน้นนิทานเรื่องความกตัญญูต่อพ่อและแม่ อย่างนี้เป็นต้นค่ะ
“ถ้าเป็นช่วงเทศกาล ก็จะหาเรื่องที่เหมาะกับช่วงนั้นๆ แต่ถ้าเป็นช่วงทั่วๆ ไปก็จะพยายามเลือกนิทานที่คละกัน เช่น นิทานที่ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการเล่านิทาน ให้เด็กๆ ขึ้นมาร่วมเป็นตัวละครด้วย ก็มีความหลากหลายค่ะ บางครั้งก็มีหุ่นมาแสดงด้วย เป็นการเล่าที่มีเทคนิค ให้เด็กได้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าเด็ก
เช่น เมื่อเราพูดถึงการเจริญเติบโตของต้นไม้ เราก็ต้องเตรียม Props ที่สามารถดึงให้กลายเป็นต้นไม้สูงขึ้นมาได้ ก็มีความหลากหลายค่ะ” ป้าติงบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพของความสนุก
ความสดใสอันแสนสุข
ถามว่าคุณมีการใช้ทั้งหุ่นเชิด หุ่นมือ หุ่นกระดาษหลากหลายแบบ อยากทราบว่าหุ่นแต่ละประเภท นำมาเชื่อมโยงกับนิทานแต่ละเรื่องอย่างไร นิทานแบบไหน ใช้ตุ๊กตา หรือหุ่นแบบไหน
ป้าติงตอบว่าการนำตัวละครหรือหุ่นแต่ละแบบมาใช้ ต้องดูว่าตัวละครหลักของนิทานนั้นคืออะไร โดยยึดที่ตัวละครหลักก่อน จากนั้นก็จะใช้ตัวอื่นๆ เป็น Props มาประกอบ
ป้าติงยอมรับว่า หุ่นที่นำมาเล่านิทาน ไม่ได้ทำเอง แต่นำมาดัดแปลง เช่น ติดลวดเพื่อให้เชิดได้ ดึงได้สะดวกขึ้น โดยคัดสรรหุ่นน่ารักๆ มาดำเนินเรื่อง
ส่วนฉากของเรื่องราวนั้นๆ ป้าติงบอกเล่าอย่างถ่อมตัวพร้อมเสียงหัวเราะเขินเล็กๆ ว่า “ฉากที่ใช้มาตกแต่ง เพื่อนำมาประกอบให้เด็กๆ เห็นภาพมากขึ้น ก็เป็น ฉากง่ายๆ ที่ทำเองจากฝีมือของป้าที่ไม่ได้เรียนจบศิลปะมาค่ะ แต่เด็กๆ เห็นแล้วเขาก็แฮบปี้ค่ะ
“เรื่องของตัวละคร Props และสิ่งต่างๆ ที่เราเตรียมไป ก็เพื่อทำให้เด็กสนใจไปตลอดรอดฝั่ง จึงต้องมีความหลากหลายค่ะ ( หัวเราะ ) บางคนอาจถามว่า การเล่านิทาน แค่เปิดหนังสือเล่าไม่ได้เหรอ ก็ได้นะคะ แบบเปิดหนังสือเล่าก็มีค่ะ แล้วแต่สถานการณ์ กลุ่มเด็กและจำนวนเด็ก” ป้าติงระบุ
คุณูปการแห่ง ‘นิทาน’
ถามว่า ในมุมของคุณ ‘นิทาน’ ได้มอบคุณูปการหรือประโยชน์อะไรให้กับเด็กๆ บ้าง
ป้าติงตอบว่า “ต้องขอยกคำของคุณหมอประเสริฐ ค่ะ ( หมายเหตุ : นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ) ว่าการที่เด็กได้ฟังนิทานจากคุณพ่อคุณแม่ ในช่วงวัย 0-6 ขวบ ท่านบอกว่า ช่วงนี้เด็กจะซึมซับรับรู้คุณธรรม จริยธรรม ได้ดีที่สุดเลย แต่หลังจากนั้น อย่างน้อย ก่อน 10 ขวบ เด็กควรจะได้ฟังนิทาน เพราะนิทานก็ล้วนเป็นเนื้อหาที่ดีๆ ให้ข้อคิดต่างๆ ยกตัวอย่างให้เด็กๆ ได้เห็นความสนุกสนานในนิทานที่เราไม่จำเป็นต้องบอกตรงๆ
“เช่น ‘ลูกต้องทำดีนะ’ แล้วทำดีคืออะไร เด็กอาจไม่เข้าใจ เด็กนึกภาพไม่ออก
แต่ถ้ามีหนังสือนิทาน มีตัวละครในนิทานให้เด็กได้เห็นเป็นตัวอย่าง ก็จะทำให้เขาได้ซึมซับรับรู้อย่างเป็นธรรมชาติและสมกับวัย” ป้าติงระบุ
ภาคีเครือข่ายฯ นักเล่านิทาน
ถามย้อนถึงการเล่านิทานในโรงเรียนที่ลูกสาวเรียนอยู่ และจากนั้น มีภาคีเครือข่ายใดเชิญไปเล่านิทานอีกบ้าง
ป้าติงเล่าว่าเรื่องของการเล่านิทาน เริ่มแรกดังที่เล่าไว้ข้างต้นว่าเป็นการเล่าในโรงเรียนที่ลูกเข้าเรียน คือโรงเรียนอนุบาลเชียงราย โดยคุณครูจะเชิญไปเล่านิทานในเทศกาลต่างๆ เช่น วันพ่อ วันแม่ ก็เล่าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งลูกเรียนจบแล้ว คุณครูก็ยังเชิญไปเล่านิทานอยู่บ้าง
จากนั้น ก็มีการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ช่วยอบรมคุณครูในเรื่องของการเล่านิทาน
“ต่อมา ในช่วงหลัง น้องๆ ที่เขาทำ ‘บ้านเรียน’ ( Home School ) เขาก็ติดต่อมา เพื่อสร้างทีมนิทาน มีน้องที่รู้จักชวนมาร่วมกันทำทีมนิทาน แล้วก็ไปเล่าในงานต่างๆ”
อาทิ เมื่อเร็วๆ นี้ ป้าติงก็ไปเล่า “นิทานป้าติง” ในงาน Chiangrai Crafts Market, CHIANGRAI CREATIVE CITY OF DESIGN เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Chiang Rai Sustainable Design Week 2023 )
การเล่านิทานในงานเทศกาลดังกล่าว ป้าติงทำงานร่วมกับทีมบ้านเรียนที่มาทำทีมนิทานร่วมกัน โดยช่วยกันเล่านิทานและฝึกฝนด้วยกัน
นอกจากนี้ ในงานครั้งนั้น มีเด็กๆจาก ‘มูลนิธิดวงใจพ่อ’ ( องค์กรสาธารณะกุศล ) มาฝึกเล่านิทานกับป้าติงและทีมนิทานด้วย เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษา เนื่องจากมีเด็กบางคนที่เป็นเด็กข้ามชาติซึ่งเขาติดตามพ่อแม่มาทำงานใน จ.เชียงราย ก็ได้มาร่วมเรียนรู้ภาษาไทยกับเด็กไทยในชั้นเรียนด้วย ซึ่งทางผู้จัดการมูลนิธิดวงใจพ่อได้เชิญป้าติงและทีมนิทานมาจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาผ่านเรื่องราวต่างๆ ในนิทาน
หากถามว่าในแต่ละปี แต่ละเดือน มีกิจกรรมเล่านิทานบ่อยแค่ไหน
ป้าติงตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่แน่นอนค่ะ แล้วแต่เขาจะเชิญไป เช่น เทศกาลงาน Craft ต่างๆ บางครั้งผู้จัดงานก็จะเชิญไปค่ะ ซึ่งเราก็ไม่สามารถระบุได้ชัด แต่ทุกครั้งเราก็จะเล่านิทานออกมาให้มีความหลากหลาย เช่น อาจมีเรื่องของการใช้หุ่นเชิดตุ๊กตา เพื่อดึงดูดเด็ก เพราะงานเทศกาลไม่ได้อยู่ในสถานที่ปิด เพราะฉะนั้น จึงมีเด็กหลากหลายมาก เราก็ต้องทำให้เค้าสนใจนิทานของเราได้ตลอดรอดฝั่งค่ะ” ป้าติงระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
การเล่านิทานของป้าติงโดยส่วนใหญ่แล้ว อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย นอกเหนือไปจากนั้น หากเมื่อใดมีเหตุให้ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ก็จะมีรุ่นน้องสอนอยู่ที่โรงเรียนสอนดี (ประชารัฐอนุสรณ์) จ.พระนครศรีอยุธยา ก็จะเชิญป้าติงไปเล่านิทาน เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งป้าติงได้รับเชิญไปเล่าที่โรงเรียนดังกล่าว 2 ครั้งแล้ว แต่เวลาก็ผ่านมานานพอสมควร
ความสร้างสรรค์พ้นยุคสมัย
อดถามไม่ได้ว่าในยุคที่เด็กจำนวนไม่น้อย อาจถูกเลี้ยงดูโดยปล่อยให้อยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน เด็กอาจมีสมาธิสั้น คุณมีวิธีรับมือกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไรเมื่อมีกิจกรรมเล่านิทาน
ป้าติงตอบว่า “เวลาที่เด็กๆ เค้ามาดูนิทาน ส่วนใหญ่เค้าจะมากับพ่อแม่ เราก็พยายามให้เด็กเค้ามีส่วนร่วมกับนิทานที่เราเล่าให้มากที่สุดค่ะ
“เด็กบางคน แม้ว่าจะฟังนิทานกับเรา แต่เมื่อกลับบ้าน เค้าก็อาจจะอยู่กับสมาร์ทโฟนก็ได้ แต่เวลาที่เราไปเล่านิทาน เราก็ไม่ได้ไปบอกผู้ปกครองเด็ก เพราะย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปกครอง การที่เขาได้พาลูกมาฟังนิทาน เพียงเท่านี้เราก็รู้สึกว่าดีแล้ว เพราะเขาได้เห็นแล้วว่ามันมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้ลูกเขาออกจากหน้าจอสมาร์ทโฟนได้ ไม่มากก็น้อย คิดว่าคงเป็นประโยชน์ เชื่อว่าพ่อแม่ที่มาส่วนใหญ่เขาคง Concern ในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้น เขาคงไม่พาลูกมาฟังนิทาน ก็คาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเขาค่ะ”ป้าติงระบุ
ถามว่าถ้าในกรณีเด็กๆ อาจมีสมาธิไม่นิ่ง ยุกยิกๆ คุณมีวิธีดึงสมาธิเด็กให้กลับมาจดจ่ออยู่กับนิทานไหม หรือปล่อยไปเลย
ป้าติงยอมรับอย่างเข้าใจในความเป็นเด็กว่า “ส่วนใหญ่ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไปค่ะ เป็นธรรมชาติของเขา เพราะจะมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่เขาจดจ่ออยู่กับเรื่องที่เราเล่า แต่ถ้าเป็นการเล่าในโรงเรียน เด็กๆ จะค่อนข้างมีสมาธิ ไม่มีใครหลุด เด็กส่วนใหญ่เขาอยากมีส่วนร่วม”
นิทานสุดคลาสสิค ‘Horton Hatches the Egg’ สลักแน่นในดวงใจ
ถามว่าคุณประทับใจการเล่านิทานครั้งไหนมากที่สุด
ป้าติงตอบว่าคือครั้งที่ได้ประกวดเล่านิทานกับลูกสาว ใน ‘โครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน’ ซึ่งจัดโดย อุทยานการเรียนรู้ TK park
ในครั้งนั้น ป้าติงและลูกสาว ประกวดประเภททีมครอบครัว ความประทับใจที่ยังแจ่งชัดในความทรงจำของป้าติงคือ เมื่อถึงการแข่งขันในรอบสุดท้ายซึ่งจัดขึ้น ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง
ในรอบประกวด ขณะที่ทั้งคู่เล่านิทานไปก็ตื่นเต้นด้วย เพราะคนเยอะมาก ดังนั้น จึงบอกตัวเองว่า ไม่ชนะไม่เป็นไร เราทำหน้าที่เล่านิทานให้ดีที่สุด ให้คนที่มาดู
“เราก็คิดว่า message ที่เราเล่านั้นกระจายไปได้พอสมควร แล้วเราก็ให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมต่างๆ ปรากฏว่าเราก็ได้รางวัลชนะเลิศประเภททีมครอบครัว ส่วนลูกสาวก็ได้รางวัลประเภทอายุไม่เกิน 8 ปี ด้วยค่ะ ในตอนนั้น ลูกสาวได้รางวัลที่ 2”
สำหรับนิทานที่ป้าติงและลูกสาว นำมาถ่ายทอดได้อย่างน่าประทับใจกระทั่งคว้ารางวัลชนะเลิศนั้น คือ
Horton Hatches the Egg หรือ ชื่อไทยที่ป้าติงเรียกว่า Horton ผู้พิทักษ์ฟักไข่ เป็นผลงานของนักเขียนนิทานชื่อก้องโลก นาม Dr. Seuss หรือ Theodor Seuss Geisel
“นิทานเรื่องนี้ เป็นเรื่องของแม่นกที่ฝากช้างใจดีตัวนึงให้ช่วยฟักไข่ แล้วแม่นกก็บินหนีไป ไปเที่ยวไหนต่อไหน ขณะที่ช้างก็เป็นช้างที่ใจดี มีเมตตา เขาก็ทำได้สำเร็จ แม้จะเจออุปสรรคปัญหาต่างๆ
ช้างถูกจับนำไปแสดงตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ในที่สุด แม่นกก็ตามหาจนเจอ ว่า ‘อ๋อ ลูกตัวเองมาอยู่นี่เอง’ ทั้งที่ตัวเองก็ทิ้งลูกไว้แล้วไปเที่ยวไหนต่อไหน
“เป็น message ที่สอนได้ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เด็กอาจมองในแง่แฟนตาซี แต่หากมองอีกแง่นึงก็คือมันสะท้อนเรื่องของปัญหาครอบครัวได้ พ่อแม่อาจหลงลืมไปว่าเราต้องเลี้ยงดูลูกของเราเอง ซึ่งในจุดจบของ Hortonฯ จุดสุดท้ายคือ เมื่อแม่นกตามลูกเจอ ลูกก็ฟักไข่ แต่นกที่ฟักออกมากลายเป็น ‘นกช้าง’ ก็สะท้อนว่าคุณฝากใครเลี้ยงลูกไว้ยังไง ลูกก็จะเป็นอย่างนั้น ประมาณนั้นค่ะ’ ป้าติงบอกเล่าอย่างเห็นภาพและสะท้อนแง่คิดที่น่าสนใจ
พลังแห่งการเล่าเรื่อง แรงดลใจของ ( อดีต ) เด็กขี้อายคนหนึ่ง
บทสนทนาใกล้ดำเนินมาถึงปลายทาง อดไม่ได้ที่จะถามย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง ว่าเมื่อคุณสมัครเข้ากลุ่มมายาแล้ว ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ป้าติงตอบว่า กลุ่มมายาเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งเธอสมัครเข้าไปในขณะที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย
“พี่ๆ กลุ่มมายา เค้าจะมีวิธีที่ทำให้เรากล้าที่จะแสดงออก แล้วก็ได้ไปแสดงละครตามชุมชนทั่วประเทศ ครั้งแรกที่ประทับใจจริงๆ เลยคือ เมื่อพี่เค้ารับเราเข้าไปเป็นส่วนนึงของกลุ่มเค้า แล้วเค้าก็จะมีการฝึกอบรม โดยให้ทำละครหุ่น แล้วมาแสดงกัน แบ่งเป็นกลุ่มๆ
“ปรากฏว่าเราทำละครหุ่นแล้วก็ไปพากย์กับกลุ่มของเรา แล้วพี่เค้าก็ถามว่า ไอ้ตัวนี้ ใครเป็นคนเชิด เราก็บอกว่า เราเป็นคนเชิด พี่เค้าบอกว่าการเชิดของเรามันมีพลัง และมันก็ Sync ( Synchronize ) กับการพากย์ ทำให้เรารู้สึกว่าดีใจจังเลย เพราะตอนนั้นเราเป็นเด็กขี้อาย แต่เมื่อเราได้เชิดหุ่นตัวนั้นแล้ว เรารู้สึกมั่นใจขึ้น จากสิ่งที่พี่ๆ เค้าสะท้อนออกมา” ป้าติงเล่าว่าการเชิดหุ่นครั้งนั้น เป็นหุ่นมังกรและตัวละครที่เป็นเด็กผู้หญิง โดยสลับกันพากย์ สลับกันเล่นกับเพื่อนผู้ชายอีกคน
กลับมาพูดถึงความประทับใจในห้วงเวลาไม่นานปีที่ผ่านมา ป้าติงเล่าว่าคือการได้ไปเล่านิทานที่บ้านเกื้อกูล ซึ่งเป็นบ้านเด็กพิการซ้ำซ้อน
“ประทับใจด้วยความที่ว่า เราอยากรู้ว่าถ้าเราเล่านิทานให้เด็กพิการซ้ำซ้อนฟัง เราจะทำให้เค้ามีความสุขได้มั้ย ก็ได้รู้ว่า ไม่ว่าเด็กเค้าจะนั่งรถเข็นหรือไม่ เค้าก็มีความสุขกับนิทานของเราได้ไม่ต่างกัน เราก็รู้สึกประทับใจมากค่ะ ไปเล่านิทานที่นี่มาเมื่อ 2 ปีที่แล้วค่ะ ดีใจที่เด็กๆ เค้ามีความสุข เราก็มีความสุขไปกับเค้าค่ะ”
เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายของนักเล่านิทานผู้นี้ ที่พร้อมรอวันนำพาพลพรรคหุ่นนิทานและฉากประกอบอันสดใสของเธอ โลดแล่นไปพร้อมกับหัวใจเด็กๆ ทุกคน สู่โลกแห่งจินตนาการที่แฝงแง่คิดอันงดงามสมวัย
ด้วยพลังแห่ง ‘นิทาน’ ที่จับหัวใจเด็กๆ ได้เสมอ ไม่ว่าโลกจะหมุนเปลี่ยนไปเพียงใด
………..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : วรินท์ธรน์ ประพัฒน์ทอง