นิยายเทวปกรณัมฮินดูหลายเรื่องที่นำเสนอเกี่ยวกับความรักและโชคลาภมักกล่าวถึง “พระลักษมี” พระนางคือตัวแทนของ ความรัก ความโรแมนติก และ โชคลาภ โดยเฉพาะที่โดดเด่นและกำลังเป็นกระแสในปัจจุบันคือ ทรงมีอานุภาพดลใจให้หนุ่มสาวมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
สำหรับเรื่องราวในนิทานโบราณคดีภาษาสันสกฤตของอินเดีย หรือภารตนิยาย มีเรื่องราวของ พระลักษมี สอดแทรกอยู่มากมาย เช่น เรื่อง สุโลจนา เรื่องราวของเจ้าหญิงสุโลจนาแห่งปลักษทวีป นางต้องเข้าพิธีสมรสกับวิทยาธรผู้หนึ่ง แต่ก่อนพิธี 7 วัน พระมาธวะ เจ้าชายแห่งนครตาลธวัช เนื้อคู่ตัวจริงพยายามอย่างหนักเพื่อดั้นด้นมาพบนางให้ได้ และเป็นพระลักษมีที่มาแจ้งเรื่องนี้ให้สุโลจนาทราบด้วยการเข้าฝันนาง
แม้กระทั่งนิทานพุทธศาสนาอย่างเรื่อง กามนิต วาสิฏฐี คู่พระ-นางได้พบกันครั้งแรกยังมีพระลักษมีเข้ามา “มีเอี่ยว” เพราะเกิดขึ้นตอนฝ่ายหญิงเข้าพิธีระบำเดาะคลีถวายพระลักษมี ทั้งคู่พลันตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเห็นเสียอย่างนั้น
นอกจากความรักเชิงชู้สาวแล้ว พระลักษมียังมีอานุภาพด้านความรักแบบครอบครัว อย่างเรื่อง จันทรสวามี พราหมณ์จันทรสวามีเป็นผู้มีความรักให้บุตรทั้งสองอย่างมั่นคง แต่เกิดพลัดพรากจากกัน จันทรสวามีตามหาลูก ๆ อย่างอุตสาหะและไม่ย่อท้อหรือสิ้นหวัง แม้จะติดตามไปผิดทาง กระทั่งมานอนอยู่บนต้นไทรใหญ่ พระลักษมีจึงมาโปรดด้วยการปรากฏพระองค์ ยื่นดอกไม้ให้จันทรสวามีดอกหนึ่ง แล้วกล่าวว่า
“ดูก่อนจันทรสวามี ท่านจงรับดอกไม้นี่ไปเถิด นี่คือดอกปาริชาติในแดนสวรรค์ ร้อยปีจะบานสักครั้งหนึ่ง เรามอบให้ท่าน ทิพยบุปผาอันรวยรื่นชื่นใจนี้ ไม่มีมรรตัยชนคนใดจะเคยได้สัมผัสมาก่อน สำหรับท่านควรจะนับว่าเป็นบุคคลพิเศษที่สมควรจะได้รับ เพราะท่านมีความรักอันบริสุทธิ์ ยั่งยืนและจริงจัง และท่านได้ตกเป็นเหยื่อของชะตากรรมได้รับความทุกข์ยากมานานนักหนาแล้ว บุปผาสวรรค์นี้จะพลิกโชคชะตาของท่าน อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สิ่งที่สูญหายก็จะได้คืนมา ทุกข์โศกโรคภัยจะหายสิ้น น้ำตาจะกลับเป็นรอยยิ้มอันแสนสุข เพราะเรา ‘ภัทราลักษมี’ เทวีแห่งโชคดีมาเยือนท่านแล้วในวันนี้”
จากนั้นพระนางก็อันตรธานไป รุ่งเช้า จันทรสวามีได้พบลูก ๆ จนได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ แต่การพลัดพรากจากกันนานทำให้ลูกจดจำบุพการีมิได้ ก็ได้ดอกปาริชาติของพระลักษมีฟื้นฟูความทรงจำให้เด็กทั้งสอง เรื่องราวจึงจบบริบูรณ์
บางครั้งพระลักษมียังประทาน “โชคลาภ” ด้วยการให้บุตรผู้เปี่ยมบุญญาธิการ เช่น เรื่อง จันทรางคฑ กล่าวถึงพระเจ้าอินทรเสนผู้ครองแคว้นนิษัทต่อจากพระนล ผู้เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ แต่ทรงปกครองแคว้นจนรอดพ้นอันตรายทั้งหลายไปได้ เพราะพระลักษมีประทานพระโอรสและสร้อยจันทรกานต์มาให้
อย่างไรก็ตาม อานุภาพด้านโชคลาภของพระลักษมีมิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน ดังปรากฏในตอนหนึ่งเรื่อง วิทยุตประภา ความว่า “พระลักษมีเทวีแห่งโชคลาภหาได้สถิตอยู่กับผู้ใดตลอดไปไม่ เมื่อมีโชคดี (ภัทราลักษมี) ได้ ก็ย่อมมีโชคร้าย (ปาปีลักษมี) เป็นของคู่กันธรรมดา”
พระลักษมีไม่เพียงประทานโชคลาภแก่ผู้มีความรักอันบริสุทธิ์เท่านั้น ในเรื่อง หริศรรมัน พราหมณ์หริศรรมันนี้มิได้มีคุณวิเศษอันใด ทั้งพาตนเองตกกระไดพลอยโจนจากความไม่รอบคอบ จนกลายเป็นผู้มีตาทิพย์ เอาตัวรอดจากหลายสถานการณ์ย่ำแย่ต่าง ๆ ได้อยู่ร่ำไป พราหมณ์หริศรรมันบอกความลับในการเอาตัวรอดอย่างน่าเหลือเชื่อแก่ภรรยาว่า
“ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ข้าเชื่อของข้าอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า ‘พระภัทราลักษมี’ เทวีแห่งโชคลาภเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนข้า บุคคลใดแม้มีวิทยาการล้ำเลิศแค่ไหน มีสกุลรุนชาติสูงส่งเพียงมด แต่ถ้าพระศรีไม่โปรดปรานแล้ว ชีวิตของเขาก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จดังปรารถนา ข้าเชื่อและข้าจงรักภักดีในพระเทวี ข้าถวายบรรณาการเป็นพลีแด่องค์พระศรี โดยเผาเครื่องหอมในถาดนำไปสังเวยที่ต้นตุลสีเพียงครั้งเดียว พระเทวีก็ทรงโปรดปรานประทานโชคให้แก่ข้า”
“พระลักษมี” ถือเป็นมหาเทวีที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญตาเจริญใจ มีน้ำพระทัยงดงาม อ่อนหวานนุ่มนวล พระสุรเสียงไพเราะ ทรงอุปถัมภ์ความสมบูรณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งเสน่หา มิตรภาพ ความรัก ความสุขกายสบายใจ และความสมบูรณ์ในโภคทรัพย์ทั้งปวง พระนางจึงเป็นทั้งแบบอย่างความงามพร้อมในคติของชาวฮินดู และเป็นผู้นำโชคลาภมาประทานแก่ผู้บูชาอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระคเณศ” ไม่ใช่ “เทพศิลปะ” รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็นเทพศิลปะ
- “พระลักษมี” เทวีแห่งความงามและโชคลาภ ผู้มีสัญลักษณ์ “ศรีวัตสะ” มาจากทารก?
- “พระตรีมูรติ” ภาวะรวมร่าง 3 มหาเทพ กับเทวรูปหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่คนไปขอพรความรัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กิตติ วัฒนะมหาตม์. (2564). ตรีเทวปกรณ์ พระคเณศ พระลักษมี พระสรัสวดี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น.
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. (2534). ภารตนิยาย. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2566