งานก่อพระทราย ประเพณีวันไหล บางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นงานประเพณีที่ชาว “ตำบลแสนสุข” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ
เดิมเรียก งานทำบุญวันไหล คือ การเรียกประชุมหมู่บ้านต่างๆ ของตำบลแสนสุข ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องใน “วันสงกรานต์” หรือวันปีใหม่ของไทย ใช้เวลา 2 วันต่อจากเทศกาลสงกรานต์
โดยการนิมนต์พระทุกวัดที่อยู่ในเขตตำบลแสนสุขมาประกอบพิธีสงฆ์ มีการทำบุญเลี้ยงพระ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรม ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำ การละเล่นและกีฬาพื้นบ้าน เป็นต้น
ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย เกิดจากแนวความคิดที่จะ ขนทรายเข้าวัด เพื่อให้เป็นวัสดุใช้ในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมเสนาสนะ (เส-นา-สะ-นะ) คือที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา ถือเป็นโอกาสที่ได้ทำบุญกุศลทำความดีรับปีใหม่
รูปแบบของการ ก่อพระทราย นิยมบ่งบอกหรือสื่อความหมายถึงเรื่องราวของพุทธศาสนา มักมีลักษณะรูปทรงเป็น พระสถูป เจดีย์ พระปรางค์ พระพุทธรูป หรือสิ่งของอื่นใดที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แล้วประดับตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดอกไม้ เปลือกหอย และธงทิวต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม จนกระทั่งมีการประกวดในเวลาต่อมา
เนื่องจากตำบลแสนสุขเป็นแหล่งที่ตั้งของ ชายหาดบางแสน สถานที่ตากอากาศทางทะเลที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่ละปีมีผู้นิยมเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก
การก่อพระเจดีย์ทรายในงานทำบุญวันไหลของตำบลแสนสุขจึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ งานประเพณีก่อพระทราย วันไหลบางแสน จังหวัดชลบุรี หนึ่งในงานประเพณีประจำปีระดับชาติที่สำคัญของ “บางแสน” และจังหวัดชลบุรี
ปัจจุบัน งานประเพณีก่อพระทราย วันไหลบางแสน จังหวัดชลบุรี ดำเนินการจัดงานโดย “เทศบาลเมืองแสนสุข” โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชนภายในและภายนอกเขตเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เทศบาลเมืองแสนสุข” มีนโยบายปลูกฝังให้เยาวชนของชาติได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อให้เห็นคุณค่าความสำคัญของประเพณีท้องถิ่นและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่ดีไว้
ทั้งนี้ “งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน จังหวัดชลบุรี” อาจเป็น Soft Power ของไทย สาขาใดสาขาหนึ่งในเวลาข้างหน้าก็เป็นได้
สำหรับปีนี้ “เทศบาลเมืองแสนสุข” กำหนดจัด การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน ขึ้นอีกครั้ง ณ บริเวณชายหาดบางแสน ในวันที่ 16-17 เมษายน 2567 แบ่งการประกวดพระทรายออกเป็นประเภทดังนี้
- ประเภท ก : แบบชาวบ้านหรือแบบดั้งเดิม (ชุมชน)
- ประเภท ข : หน่วยงาน
- ประเภท ค : กลุ่มโรงเรียนระดับประถม
- ประเภท ง : กลุ่มโรงเรียนระดับมัธยม
- ประเภท จ : ชมรมและผู้ประกอบการชายหาด
- ประเภท ฉ : ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) เป็นการก่อพระทรายแบบอิสระ แต่ต้องแสดงออกถึงคุณค่าเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของ “หาดบางแสน” อาจจดเป็นลิขสิทธิ์ของเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อเผยแพร่เป็นประติมากรรมของเทศบาลฯ
การก่อพระทราย หรือประติมากรรมทรายและประดับตกแต่ง เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันอังคารที่ 16 เม.ย. ถึงเวลา 10.00 น. ของวันพุธที่ 17 เม.ย.2567
กำหนดให้มี พิธีมอบรางวัลการประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน ประจำปี พ.ศ.2567 ในวันพุธที่ 17 เมษายน 2566 เวลา 11.30 น. ณ เวทีหลัก ชายหาดบางแสน
เกณฑ์การให้คะแนนการตัดสินการประกวดก่อประติมากรรมทรายใน งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน จังหวัดชลบุรี แบ่งออกเป็น ดังนี้
- รูปทรง สัดส่วน 25 คะแนน
- ความหมายและแนวคิดสร้างสรรค์ 25 คะแนน
- ความสวยงามและความละเอียดประณีต 25 คะแนน
- องค์ประกอบต่างๆ (นอกจากพระทราย) 25 คะแนน
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระทรายทุกกองต่างประดับธงชาติไทยและอัญเชิญธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขนาดธง 40 x 60 เซนติเมตร โดยติดธงกับเสาขนาดความสูงจากพื้น 150 เซนติเมตร ให้มีความเหมาะสมและสมพระเกียรติ
การ ก่อพระทราย ปีนี้ แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ งานฝีมือ ความร่วมแรงร่วมใจของชาวตำบลแสนสุขและพื้นที่ใกล้เคียงในการร่วมกันสืบสาน งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน จังหวัดชลบุรี ให้ผู้เดินทางมายังงานได้ชื่นชมและถ่ายภาพ ถ่ายคลิป ไลฟ์สดกันอย่างสนุกสนาน
พระทรายกลุ่มศาสนสถาน
การประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน 2567 มีผู้เข้าประกวดหลายกลุ่มก่อพระทรายเป็น “ศาสนสถาน” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชารับเทศกาลสงกรานต์ อาทิ เทศบาลตำบลนาป่า ก่อพระทรายเลียนแบบรูปทรง วัดไตรมิตรวิทยาราม และสามารถชนะใจคณะกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศ “ประเภท ข : หน่วยงาน”
วัดไตรมิตรฯ เป็นวัดโบราณในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ แนวคิดการสร้างวัดนี้เกิดจากการจำลองเขาพระสุเมรุตามคติในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาเซน เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ ของสัตวโลก ซึ่งเป็นสถานที่ของการไปสู่สรวงสวรรค์
จึงจำลองรูปแบบประติมากรรมพระทรายให้มีลักษณะของภูเขา ก้อนเมฆ ต้นไม้ และ “เจดีย์” แทนทิศทั้งสี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลผู้รักษาทิศทั้งสี่
โรงเรียนอนุบาลวัดกลางดอน จำลององค์ พระธาตุพนม มาเป็นพระทรายบนชายหาดบางแสน และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ “ประเภท ค : กลุ่มโรงเรียนระดับประถม”
พระธาตุพนมเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในจังหวัดนครพนมมาแต่โบราณกาล เพราะสร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาล ประมาณ พ.ศ.8 ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝังโขง
ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงพระมหากัสสปะและพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นำพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีป และท้าวพญาผู้ครองนครทั้งห้าเป็นประธานในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
โรงเรียนอนุบาลวัดกลางดอน ยังจัดวางพระพุทธรูปไว้เบื้องหน้าด้านขวาของพระทราย เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนที่มาเยี่ยมชมได้สรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ พร้อมอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่มาไว้ ณ เบื้องซ้าย
โรงเรียนวอนนภาศัพท์ ก่อพระทรายจำลอง พระธาตุช่อแฮ จากวัดพระธาตุช่อแฮ วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่จังหวัดแพร่ โดยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี 2549 และทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮทำพระสมเด็จจิตรลดา
เทศบาลเมืองบ้านสวน ถวายพุทธบูชาด้วยพระทรายจำลอง อุโบสถหลังใหม่ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์หลวงพ่อพุทธโสธรกับพระพุทธรูปอีก 18 องค์ แห่ง วัดโสธรวรารามวรวิหาร วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวแปดริ้วและคนไทย
อุโบสถหลังใหม่นี้สร้างครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ ไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธรและพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์
ภาคเอกชน โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ ก่อพระทรายเป็นรูปจำลอง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังเดิม และเคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
กลุ่มผู้ประกอบการไก่ย่าง ชายหาดบางแสน เห็นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จึงได้จัดสร้างแบบจำลอง องค์มหาเจดีย์เกตุแก้วจุฬามณีอาสนสุขมหาวิหาร ชาวบ้านเรียกกันแบบลำลองว่า “มหาเจดีย์วัดแสนสุข” องค์จริงตั้งอยู่ในวัดแสนสุขสุทธิวราราม หวังว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้รู้จัก เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายหาดบางแสน
ภายในมหาเจดีย์วัดแสนสุของค์จริงประดิษฐานพระบรมธาตุ พระธาตุ อัญมณีธาตุ เครื่องเทียบบรรณาการทองคำ วัตถุมงคล เพื่อให้ผู้กราบไหว้เกิดสิริมงคล รูปแบบเจดีย์คล้ายเจดีย์วัดอัษฎางคนิมิต บนเกาะสีชัง
พระทรายมหาเจดีย์วัดแสนสุข คว้ารางวัลชนะเลิศ “ประเภท จ : ชมรมและผู้ประกอบการชายหาด”
พระทรายกลุ่มสัตว์เทพมงคล
หนึ่งในสัตว์เทพมงคลที่คนไทยรู้จักดีคือ “มังกร” เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของปีนักษัตรมะโรงซึ่งตรงกับปี 2567 พอดีอีกด้วย งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสนปีนี้ เทศบาลตำบลบางทราย ก่อพระทรายเล่าประวัติความเป็นมาของ มังกรบางทราย ประติมากรรมมงคลภายในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลตำบลบางทราย
บางทราย เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองของจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอ่าวไทยทางทิศเหนือของจังหวัด ห่างจากตัวเมืองชลประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้ามาจากกรุงเทพฯ แล้วไม่เลี้ยวซ้ายออกไปทางถนนบายพาส ขับรถตรงไปเหมือนขึ้นเนินเขา ก็จะผ่านตำบลบางทราย
ประชาชนส่วนใหญ่ของตำบลบางทรายมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนที่ล่องเรือมาจากแผ่นดินใหญ่ กำนันบั๊ก อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบางทราย มีดำริให้สร้างประติมากรรม “มังกรบางทราย” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาวบางทรายที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน
พร้อมกราบนิมนต์พระเทพสุทธาจารย์ (ท่านเจ้าคุณอนันต์ กลฺยาณวฑฺฒโน) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12-13 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย พระอารามหลวง ทำพิธีเบิกเนตรเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 22 มกราคม 2555
ขณะที่ โรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม ในเขตอำเภอเมือง ก่อพระทรายชื่อ หิมเวศคีรีศรีบูรพาเทิดไว้องค์ราชา เป็นการนำคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิป่าหิมพานต์ ดินแดนที่อุดมไปด้วยสิริมงคลและทิพยสถาน เต็มเปี่ยมด้วยความดีงาม มาเป็นแนวคิดในการก่อพระทราย
โดยมีองค์ประกอบที่เล่าถึงเขาพระสุเมรุทิพยสถาน, ปลาอานนท์ตัวแทนสัตว์ป่าหิมพานต์ที่มีความสง่า อายุยืนยาว และความแข็งแรง, ภูเขาน้อยใหญ่ แทนเหล่าพสกนิกรไทยที่รวมกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรแด่รัชกาลที่ 10 ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 ก.ค.2567
พระทรายเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม
เริ่มกันที่ผลงานซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ “ประเภท ฉ : ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art)” ได้แก่ สำนักงานเทศบาลตำบลเสม็ด ก่อพระทรายเป็นประติมากรรมปูก้ามดาบ โอบล้อมด้วยเกลียวคลื่น
ได้แรงบันดาลใจจาก ปูก้ามดาบ ตราสัญลักษณ์เทศบาลเสม็ด สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับน้ำทะเลที่พบเห็นได้ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดชลบุรี
ส่วนยอดของประติมากรรมได้ประยุกต์ส่วนของใบเสม็ดขาว ใบเสม็ดแดง และสะพานป่าโกงกางเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ตำบลเสม็ด เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
พระทรายที่ได้รับความสนใจจากรูปทรงอันแปลกตาที่สุด เห็นจะได้แก่พระทรายของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บางแสน ออกแบบและก่อสร้างพระทรายเป็น สถานีอพยพ จุดขึ้นยานแม่ มีรูปทรงคล้ายยานอวกาศ พร้อมเครื่องหมายคิวอาร์โค้ดเรื่อง Climate Change, Global Warming, Carbon Footprint และ Carbon Credit เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลในแต่ละหัวข้อ
เพื่อส่งเสริมและสร้างความรับรู้การรณรงค์ให้ตระหนักถึงสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน จนมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้ ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีผู้คนเข้าไปยืนหลบแสงแดดมากที่สุด
อีกหนึ่งหน่วยงานที่ส่งเสียงเรื่องความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติคือ เทศบาลเมืองอ่างศิลา ก่อพระทรายเล่าเรื่อง ธนาคารปูม้า ที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มชาวประมงเรือเล็กกับเทศบาลเมืองอ่างศิลา
ริเริ่มโดยชาวประมงเรือเล็กที่เมื่อจับปูม้ามีไข่นอกกระดอง ก็พร้อมใจกันนำไปส่งมอบให้กับ “ธนาคารปูม้า” เพื่อทำการฟักไข่ขยายพันธุ์และนำปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเล
ด้วยเหตุนี้ทำให้ท้องทะเลอ่าวอ่างศิลามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรปูม้า สร้างห่วงโซ่อาหารอย่างยั่งยืน ชาวประมงเรือเล็กอ่างศิลาสามารถจับปูม้าจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งเศรษฐกิจดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่อ่างศิลาเป็นจำนวนมาก ทำรายได้ให้กับชาวประมงมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
พระทรายกองนี้แสดงให้เห็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน กลุ่มชาวประมงเรือเล็ก ที่ได้ร่วมมือร่วมใจผลักดันจนทำให้ “ธนาคารปูม้า” เป็นต้นแบบการดูแลทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้เป็นวัฏจักรการประมงที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี
ขณะที่ โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา ก่อพระทรายเป็นทรงปราสาทหิน โดยใช้ทรายธรรมชาติล้วนๆ ปั้นด้วยมือ ไม่มีวัสดุอื่นประกอบในการช่วยขึ้นรูปทรง เช่น ไม้อัด โฟม กาว
ตัวแทนโรงเรียนสาธิตฯ ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วัตถุดิบเดียวที่ใช้นอกเหนือจากทรายธรรมชาติคือ “ซีเมนต์ขาว” ในอัตราส่วน 20:1 คลุกให้เข้ากับทรายแล้วจึงเติมน้ำ ก็พอจะปั้นทรายให้เป็นรูปทรงดังที่เห็นในงานนี้
20:1 เป็นอัตราส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการหยอดปูนขาวเพื่อจับหอยหลอดด้วยซ้ำ เป็นอัตราส่วนที่ทีมก่อพระทรายโรงเรียนสาธิตฯ ทดลองแล้วว่าไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ทรายไม่จับตัวแห้งแข็ง แค่ใช้ไม้แซะเบาๆ ทรายที่ปั้นไว้ก็แตกตัวทันที
ตัวแทนโรงเรียนสาธิตฯ กล่าวว่า เมื่อเสร็จสิ้นงานประเพณีก่อพระทรายแล้ว เทศบาลตำบลแสนสุขสามารถเกลี่ยพระทรายของเขาคืนทรายให้กับชายหาดบางแสนได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องแยกวัสดุแปลกปลอม
พระทรายกลุ่มศิลปะร่วมสมัย
กลุ่มซึ่งใช้ชื่อว่า Premier League สร้างสรรค์พระทราย The Run In (2-3 เกมสุดท้ายของฤดูกาล) เป็นงานประติมากรรมที่จำลองถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกขนาดจริง ความสูง 3 ฟุต 5 นิ้ว (104 เซนติเมตร) กว้าง 2 ฟุต (61 เซนติเมตร) มาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด
ถ้วยรางวัลแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษของจริง หล่อโดย Asprey London บริษัทช่างอัญมณีประจำราชวงศ์อังกฤษ ตัวถ้วยทำจากเงินแท้ มงกุฎหล่อจากเงินชุบทองคำ 24 กะรัต
ฐานถ้วยรางวัลทำจากหินมาลาไคต์ หินล้ำค่าที่พบได้ในแอฟริกา สีเขียวของหินเป็นตัวแทนที่แสดงถึงสีเขียวของสนามฟุตบอล
การออกแบบถ้วยรางวัลมีแนวความคิดมาจากตราสามสิงโตของฟุตบอลอังกฤษ สิงโต 2 ตัวประดับอยู่ด้านบนของที่จับทั้งสองข้างของถ้วยรางวัล เมื่อกัปตันทีมชนะการแข่งขันชูถ้วยรางวัล แน่นอนรวมถึงมงกุฎทองคำขึ้นเหนือศีรษะของเขาในตอนท้ายของฤดูกาล เขาก็จะกลายเป็นสิงโตตัวที่สาม
ต่อกันที่ มหาวิทยาลัยบูรพา สร้างสรรค์การก่อพระทรายโดยยึดแนวคิด “สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็นสถาบันหลักของสังคมไทยที่เกื้อกูลแผ่นดินมาช้านาน พระมหากษัตริย์ไทยแต่ละยุคสมัยทรงใช้พระราชอำนาจแตกต่างกัน แต่ทุกพระองค์ล้วนยอมรับกรอบของความเป็นพระราชาตามคำสอนในพระพุทธศาสนา คือทรงมี “ราชธรรม” เป็นหลัก
ดอกบัวที่นำมาเป็นรูปทรงหลัก จึงเปรียบเสมือนหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาและคุณงามความดีงามของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระทรายรูปทรงดอกบัวนี้ เป็นการผสมผสานความงามของดอกบัวตามอุดมคติไทยแบบตัดทอน รวมเข้ากับทรงเจดีย์ การจัดวางองค์ประกอบได้แรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนตัวของดวงดาวที่เป็นรัศมีวงกลม มีใจกลางจักรวาลเป็นจุดศูนย์กลาง เปรียบได้ดั่งการเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ขณะที่ ศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา สร้างสรรค์พระทรายชื่อ ทะยาน ได้รับแรงบันดาลใจจากการขับเคลื่อนประเทศชาติด้วย 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ดึงจุดเด่น เอกลักษณ์ และการจัดวางองค์ประกอบมาจาก “วัฒนธรรมท้องถิ่น” โดยออกแบบบุษบกจากหลังคาแบบจอมแห่ ซึ่งได้มาจากการทำประมงของคนบางแสน
ใช้วัสดุรูปปลาสื่อถึงทะเลอันสมบูรณ์ กับคลื่นน้ำที่ดูนิ่ง แต่น้ำนิ่งๆ นั้นเป็นน้ำที่ลึกและไหลเชียวกว่าน้ำทั่วไป สื่อถึงการทะยานการเคลื่อนไหวของประเทศชาติที่ไม่มีวันจบสิ้น
อีกหนึ่งพระทรายรูปลักษณ์แปลกตาของ “งานประเพณีก่อพระทรายวันไหล บางแสน จังหวัดชลบุรี 2567” เป็นผลงานของ ศิษย์เก่าศิลปกรรมศาสตร์บูรพา สร้างสรรค์ประติมากรรมพระทรายชื่อ พุ่งทะยาน โดยได้แรงบันดาลใจจากหนึ่งในพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
“บ้านเมืองเรามีสิ่งดีงามมากมายที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้ให้เรา เด็กทุกคนผู้เป็นอนาคตของชาติ จึงมีหน้าที่สืบสานและรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นไว้ พร้อมทั้งสร้างเสริมพัฒนาให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป”
ผลงานพระทราย “พุ่งทะยาน” สร้างสรรค์จากทฤษฎีจังหวะการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า แรงขับเคลื่อน โดยการอุปมาอุปไมยจากรูปลักษณ์ของสัตว์ทะเล ซึ่งจากภาพประกอบในเอกสารปรากฏภาพปลากระเบนราหู
บนตัวพระทราย “พุ่งทะยาน” ประดับด้วยลวดลายกราฟิกและประติมากรรมขนาดเล็กที่ถูกลดทอนจากการถอดสัญญะองค์ประกอบต่างๆ ของ “บางแสน” ที่มีทั้งศิลปะ วัฒนธรรม วิวัฒนาการ หัตถศิลป์ หัตถกรรม วิถีชีวิต เช่น ประเพณีวันไหลบางแสน ประมงพื้นบ้าน งานจักสาน ครกหินอ่างศิลา ข้าวหลามหนองมน ลิงเขาสามมุก
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ งานก่อพระทราย ประเพณีวันไหล บางแสน จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2567 ซึ่งผ่านพ้นไปแล้ว ยังมีพระทรายที่สวยงาม แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมืออีกหลายองค์
แล้วพบกันใหม่กับ “งานก่อพระทราย ประเพณีวันไหลบางแสน” ปีหน้า