วันนี้ (26 ก.พ.2567) จากกรณีที่ชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวจำนวนมากในช่วงวันหยุดยาว แต่จากการสังเกตสีของน้ำทะเลเป็นสีเขียว จนหลายคนไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเล
โดยวันนี้ยังพบน้ำทะเลพบว่ายังคงเป็นสีเขียวเข้ม จากการตรวจสอบบริเวณหาดบางแสนพบนักท่องเที่ยวบางตาและส่วนใหญ่ไม่กล้าลงเล่นน้ำเพราะกลัวอันตรายต่อผิวหนัง
ด้าน น.ส.นันทณภัส ผู้ประกอบการขายเสื้อผ้าริมชายหาดทะเลบางแสน บอกว่า ปกติน้ำทะเลจะใส แต่ 3 วันมานี้ เกิดลมพัดแรง มรสุมพัดผ่านและอากาศร้อน คาดว่า ปะการังในทะเลตายแล้วเน่า ทำให้คลื่นพัดเอาน้ำสีเขียวขึ้นมา แต่ไม่มีกลิ่นเหมือนแพลงตอนบลูม เป็นแค่มรสุมในช่วงนี้ก็อยากจะขอให้นักท่องเที่ยวอย่าตกใจ
ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โพสต์ข้อความระบุว่า ปรกติแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเขียวแถวบางแสนจะเกิดช่วงหน้าฝน แต่ในยุคโลกร้อนทะเลเดือด อะไรก็เกิดขึ้นได้
สัญญาณเตือนทะเลผิดปรกติ สถานีโทรมาตรของ สสน. คณะประมงศรีราชา ดังขึ้นมาในโทรศัพท์ผมก่อนหน้านี้ ยังมีสัญาณเตือนจากสถานีโทรมาตรของ ม.บูรพา ที่บางแสน จากนั้นน้ำบางแสนก็เริ่มเขียว อันเป็นปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม
แพลงก์ตอนที่บลูมคือ Noctiluca อันเป็นแพลงก์ตอนกลุ่มหลักที่ทำให้เกิดน้ำเขียว ไม่มีพิษ เรายังกินสัตว์น้ำได้ ยังเล่นน้ำได้แต่น้ำคงขุ่นและมีกลิ่น
ข้อมูลจากสถานีอัตโนมัติ 2 แห่งของไทย ช่วยคอมเฟิร์มว่าระบบนี้มีประโยชน์ แต่ถ้าถามว่าทำไมยังเตือนล่วงหน้าไม่ได้นาน คำตอบคือทั้งทะเลไทยมีอยู่ 2 สถานีเคยบอกหลายหนแล้วว่านี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า หากเรามีสถานีมากกว่านี้ เราจะแปรผลข้อมูลได้เร็ว และแจ้งเตือนล่วงหน้าได้
ซึ่งนั่น…จำเป็นมากต่อการรับมือโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและพี่น้องประชาชนไม่ใช่รอให้น้ำเขียวก่อนแล้วค่อยไปเก็บน้ำวัดคุณภาพ
เน้นย้ำว่าผมไม่ได้ว่าคนตรวจเก็บวัดเลยแม้แต่น้อย ขอบคุณมากๆ ด้วยครับ แต่อยากให้ภาคนโยบายและการให้งบประมาณของเราจริงจังในเรื่องนี้มากขึ้น
แล้วทำไมน้ำเขียว ?
คำตอบคือแดดแรง แม้ธาตุอาหารที่มาจากน้ำตามแม่น้ำลำคลองอาจมีน้อยเนื่องจากเป็นหน้าแล้ง แต่ปัจจุบันที่สะสมตามพื้นท้องทะเลก็มีเยอะแล้ว โดยเฉพาะในเขตน้ำตื้น ยังรวมถึงน้ำทิ้งจากกิจกรรมชายฝั่ง
นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลยังสูงกว่าปรกติ ลองเทียบน้ำทะเลแถวชลบุรีที่ความลึก 3-5 เมตร ปีที่แล้ว (2566) เฉลี่ยไม่เกิน 29 องศา แต่ปีนี้เพิ่งกดดูจากสถานีศรีราชา อยู่ที่ 30.1 องศา อุณหภูมิที่ต่างกัน 1 องศา เกิดจากเอลนีโญบวกโลกร้อน อาจเป็นตัวเร่งปัจยัยต่างๆ ของแพลงก์ตอนบลูม
เรายังต้องทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์น้ำเขียวในหน้าแล้งอีกเยอะ เพราะอดีตแทบไม่เคยเกิด แต่เมื่อทะเลเริ่มเดือด อะไรก็เกิดได้ จึงเน้นย้ำความสำคัญของการหาข้อมูล งานวิจัย และการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ใหม่ อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัยเพื่อสร้างสถานีโทรมาตรในการรับมือมิใช่เพียงเกิดแล้วเรียกประชุม ข้อมูลเท่าเดิม คนหน้าเดิมๆ ประชุมไปแค่ไหนมันก็ไม่มีทางรู้อะไรใหม่ๆ ก็หวังว่าเมืองไทยจะมีสถานีโทรมาตรไว้ตรวจวัด/รับมือกับน้ำเขียวให้มากกว่าที่มีอยู่ 2 แห่งในปัจจุบัน
ในระหว่างที่ทะเลและมหาสมุทรโลกกำลังร้อนจัดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ด้าน สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้โพสต์พร้อมระบุข้อความว่า สถานีโทรมาตรบางแสน ตรวจพบความเข้มข้นคลอโรฟิลล์เอเพิ่มขึ้น 3 เท่าของค่าปกติ ในช่วงคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และเมื่อเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 พบน้ำทะเลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวบริเวณสะพานราชนาวี (ถนนคนเดินบางแสน) ตรวจสอบเบื้องต้นพบแพลงก์ตอนพืชลอยบริเวณผิวน้ำเป็นหย่อม ๆ พบความหนาแน่นเซลล์ Noctiluca scintillans เฉลี่ย 6,143 เซลล์ต่อลิตร ค่าความเค็มน้ำทะเล 32 ppt
ทั้งนี้ คุณภาพน้ำทะเลดังกล่าว ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของคุณภาพน้ำทะเล (เพื่อการนันทนาการ) ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ประกาศไว้ ดังนั้น นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำทะเล และรับประทานอาหารทะเลในบริเวณดังกล่าวได้ตามปกติ
อ่านข่าวเพิ่ม :
“แพลงก์ตอนบลูม” บุกเกาะล้าน เปลี่ยนสีน้ำทะเล ยันไร้อันตราย
พบเต่ามะเฟืองวางไข่ 137 ฟอง หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต
ไขปริศนา! เรือไดหมึก ต้องใช้ไฟสีเขียว ปม “แสงประหลาดพะเนินทุ่ง”