บางแสน ชลบุรี

Body-Resize_E0B899E0B8B2E0B8A2E0B881E0B895E0B8B8E0B989E0B8A28.jpg

“บริหารราชการให้เป็น ต้องดึงคนเก่งมาช่วยทำงานให้ได้” แนวคิดการสร้างเมืองของ ณรงค์ชัย คุณปลื้ม

แม้นามสกุล ‘คุณปลื้ม’ เป็นที่รู้จักในฐานะตระกูล ‘บ้านใหญ่’ ของจังหวัดชลบุรี เป็นครอบครัวลูกหลานของ กำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) ที่มีบทบาททั้งในทางการเมืองในส่วนกลาง และในส่วนท้องถิ่น ทว่าในปัจจุบัน ก็ยังเห็นความท้าทายและแรงกดดันอยู่ตลอด เมื่อต้องปฏิบัติงานภายใต้นามสกุลคุณปลื้ม ที่มีความคาดหวังจากประชาชนอย่างสูง

แรงกดดันส่งไปถึง ณรงค์ชัย คุณปลื้ม ลูกชายคนสุดท้องของกำนันเป๊าะด้วยเช่นกัน ที่เข้ามารับบทบาทนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข สถานที่อันเป็นเหมือนบ้านเกิดและรากเหง้าของตระกูล ที่กำนันเป๊าะวางรากฐานเอาไว้ก่อนหน้า เพื่อหวังให้ลูกหลานในตระกูลได้เข้ามาสานต่อและพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ 

ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยสำหรับณรงค์ชัยที่มารับไม้ต่อ เมื่อต้องทำเทศบาลเมืองแสนสุขให้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางปัจจัยมากมาย ทั้งลักษณะพื้นที่ของเมืองแสนสุข หรือ ‘หาดบางแสน’ ที่ หลายคนยังมองว่า เป็นเมืองทางผ่านไปสถานที่ท่องเที่ยวอื่นที่ดีกว่า กระทั่งในส่วนของการบริหารจัดการของราชการที่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ยากที่จะดำเนินการต่างๆ ให้สะดวกดั่งใจต้องการ จึงได้ออกแบบแนวทางการบริหารเมืองแสนสุขใหม่ขึ้นมา โดยเปลี่ยนมุมมองให้เหมือนการบริหารธุรกิจ และพยายามดึงทรัพยากรทั้งบุคคลและงบประมาณ เข้ามามีส่วนร่วมกับเมืองมากยิ่งขึ้น

“ผมเป็นคนที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เป็นคนที่ไม่อุตริว่าตัวเองเก่ง ทุกวันนี้ผมใช้มหาวิทยาลัยบูรพามาช่วย เรื่องนี้คุณรู้ดีกว่าเรา คุณเป็นอาจารย์ คุณมาทำให้ผมหน่อย ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องนี้ คุณทำวิจัยให้หน่อย มาร่วมมือกัน เพราะฉะนั้น ที่แสนสุขไปได้ไกล ไม่ได้เพราะผมคนเดียว เป็นแค่เพราะผมเปิดกว้าง และใช้คนที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา”

The Momentum มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘นายกฯ ตุ้ย’ ณรงค์ชัย คุณปลื้ม ถึงวิธีการบริหารราชการในปี 2566 ว่าเขาทำอย่างไรจึงมีพัฒนาการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อะไรที่เขาเลือกทำ และอะไรที่เขาเลือกจะไม่ทำ รวมไปถึงการมีนามสกุลคุณปลื้ม ในปัจจุบันเป็นข้อได้เปรียบหรือความท้าทายอย่างไรบ้างสำหรับตัวเขา 

ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคสมัยของกำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) วันนั้นเทศบาลเมืองแสนสุขเป็นอย่างไรในความคิดของคุณ

จริงๆ ผมก็เกิดและโตที่นี่ ถึงแม้ว่าเราจะไปเรียนกรุงเทพฯ แต่ว่าบ้านเราอยู่ที่นี่ ดังนั้น ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เห็นตั้งแต่ยุคคุณพ่อเลย ซึ่งในอดีตเมืองก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรเรื่องงบประมาณเท่าไร อยู่กันแบบชุมชนมากกว่า ขนาดสถานที่ตรงบางแสนในปัจจุบัน สมัยก่อนยังเป็นสลัมอยู่เลย

ส่วนถ้าพูดถึงหาดบางแสน ต้องบอกว่าเป็นหาดของกลุ่มที่มีรายได้น้อย ที่สามารถเดินทางมาเที่ยวทะเลได้ง่ายที่สุด เพราะไม่ห่างจากกรุงเทพฯ เท่าไร ดังนั้น ในอีกมุมหนึ่งหาดบางแสนจึงเป็นจุดท่องเที่ยวดึงดูดคนได้ เป็นมาตั้งแต่สมัยยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วคุณพ่อก็ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา ทำถนน ทำสาธารณูปโภคให้มันดีขึ้น 

จุดที่เป็นสลัมคุณพ่อย้ายออกแล้วก็พัฒนามาเป็นสำนักงานเทศบาลเมืองแสนสุข แล้วก็ให้คนในสลัมไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่งรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านโชคดี จนช่วงพีกคือตอนที่คุณพ่อขยายถนนเลียบหาดบางแสน คือทำกันใหญ่โตเลย มีการเชื่อมถนนไปพื้นที่อื่นได้ๆ มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง รวมไปถึงการพัฒนาหาดวอนนภา 

ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อทำทั้งหมดนี้ ผมขอเรียกว่าเป็นการวางรากฐานเอาไว้แล้วกัน ที่ใครจะมาบริหารดูแลต่อก็สบายแล้ว 

ทว่าหลังจากนั้น กำนันเป๊าะต้องประสบปัญหาทางการเมือง จนไม่สามารถดูแลเทศบาลเมืองแสนสุขได้ต่อ คุณคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร 

สำหรับผมก็ได้แต่ยอมรับสภาพ เราโตมากับการเมืองก็พอจะเข้าใจว่า ผู้บริหารท้องถิ่นจริงๆ อำนาจมันน้อย แต่สิ่งที่คุณพ่อทำคือเขาใช้อำนาจบารมีส่วนตัวของตนในการมาพัฒนาเมือง 

แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เอื้อต่อการเกิดปัญหาทางการเมืองตามมาได้ง่าย จนท้ายที่สุด ผมขอใช้คำว่า ‘วิบากกรรมของท่าน’ แล้วกัน ที่ทำให้ท่านไม่สามารถดูแลเทศบาลเมืองแสนสุขต่อได้

อะไรที่เป็นบทเรียนที่ได้รับมาจากกำนันเป๊าะ แล้วคุณนำมาปรับใช้กับการบริหารเมืองด้วยตัวเองบ้าง 

ต้องรู้จักเมืองของเราให้ดี และต้องรู้ว่าเมืองที่เราอยู่ควรจะพัฒนาไปทิศทางใด เพื่อให้มันยั่งยืน ที่สำคัญคืออย่ายึดติดบ้านเมืองกับตัวบุคคล อย่างเทศบาลเมืองแสนสุข สิ่งที่คุณพ่อทำเอาไว้ ผมกล้าพูดเลยว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกเทศบาลต่อจากท่าน ไม่ต้องเป็นผมก็ได้ อย่างไรก็บริหารต่อได้ดี เพราะท่านวางรากฐาน วางเสาเข็มไว้ดีมากแล้ว 

อีกอย่างคือทำงานบริหารบ้านเมือง ต้องทำให้เหมือนนักธุรกิจบริหารองค์กร อย่าทำเหมือนนักการเมือง คืออย่าใช้ความนิยม ใช้ชื่อเสียงมาเอาใจชาวบ้าน แต่ต้องให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ 

ดังนั้น จนมาถึงยุคของคุณ มีวิธีการบริหารจัดการเทศบาลเมืองแสนสุขอย่างไรบ้าง

สมัยก่อนผู้ที่ปกครองบ้านเมือง คนเป็นนายกเทศบาลก็จะดูแค่งานทั่วไปเป็นหลัก เรื่องการเก็บขยะให้สะอาด ทำถนนให้ดี ทำไฟสว่าง สนใจอยู่แค่นั้น แต่เรื่องวิสัยทัศน์ในการพัฒนาต่อ ผมว่าผู้บริหารยุคเก่าอาจจะยังไม่ได้มีความพร้อมด้านนี้

ดังนั้น ในวันนี้ที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ อีกทั้งมีความรู้ด้านธุรกิจ สำหรับการพัฒนาเมือง ผมว่าเราต้องวิเคราะห์ให้ออกก่อน ว่าอะไรคือข้อบกพร่องของเรา จะทำอย่างไรให้มันได้รับการแก้ไข และพัฒนาต่อไปได้

ซึ่งในการบริหารงานธุรกิจ จะเรียกสิ่งนี้ว่าความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยผมจะเริ่มจากการวิเคราะห์ SWOT ของเมืองก่อนเลย ว่าอะไรเป็นจุดอ่อนจุดแข็งของเมือง เรามีปัญหาตรงไหนบ้าง 

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหามาตลอด คือชายหาดบางแสนที่ผ่านมา ปกคลุมไปด้วยร่มกันแดดของพ่อค้าแม่ค้า คนในพื้นที่ไม่มีสิทธิเดินเข้าไปเหยียบหาดแบบฟรีๆ เลย ต้องเสียเงินให้ร้านค้า แม้กระทั่งตัวทรายก็ได้รับผลกระทบเพราะมันไม่โดนแดด ไม่ได้รับการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ

วันนั้นผมเลยตั้งกฎใหม่ ให้ทุกวันอังคารเป็นวันที่ห้ามกางร่ม ห้ามค้าขายที่หาด เพื่อให้มีช่วงเวลาที่ Detox บ้าง ให้คนได้เข้าไปเดินเล่นบ้าง 

หากพูดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของเทศบาลเมืองแสนสุข คือเรื่องอะไร

สำหรับเมืองแสนสุข เรามีพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่คนรู้จักมากที่สุดก็คือบางแสน อีกส่วนคือหนองมน แล้วก็อีกฟากฝั่งหนึ่ง เราก็มีฝั่งซ้ายของถนนสุขุมวิทซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร 

จุดแข็งอย่างแรก คือเราอยู่ในพื้นที่ใกล้กับเมืองที่เจริญมากๆ เพราะด้วยความที่บางแสนอยู่ในอำเภอเมือง ใกล้กับตัวเมืองชลบุรี ใกล้กับตัวเมืองศรีราชา เป็นเมืองที่มีถนนมอเตอร์เวย์ผ่าน

คือทำเลของเรานี่เรียกได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์เลย เข้าถึงง่าย แล้วเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยบูรพา มีความคึกคักของผู้คน ของนักศึกษา เป็นจุดได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่ขององค์ความรู้ มีนักวิชาการ มีอาจารย์มากมาย ก็เป็นทรัพยากรบุคคลที่จะมาช่วยพัฒนาเมืองได้ ซึ่งเราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน หรือ Mutual Benefit ได้

ส่วนข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือด้านภูมิศาสตร์ทางทะเลที่เราเป็นอ่าวรับลมจากแม่น้ำทั้งหลาย เป็นทางผ่านเดินเรือระหว่างอ่าวไทยข้ามไปที่แหลมฉบัง ซึ่งหากมีขยะเกิดขึ้นระหว่างทางเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะผลักออกสู่ทะเล และกลับมาเข้าตรงอ่าวของบางแสน จนกลายเป็นปัญหาขยะที่เกิดขึ้นตลอดของพื้นที่ตรงนี้ 

แต่เรื่องที่เป็นอุปสรรคมากที่สุด ที่ผมมองเห็นในฐานะผู้บริหาร คือการกระจายอำนาจมายังส่วนภูมิภาค ถ้าเปรียบเสมือนสงครามขนาดใหญ่ แล้วผมเป็นเมืองด่านหน้า ทุกวันนี้เหมือนส่วนกลางเขาส่งมีดพร้ามาไม่กี่เล่ม แล้วให้ผมไปสู่กับปืนใหญ่ คือเป็นแบบนั้นเลย ถ้าเทียบกับสิ่งที่เราต้องบริหาร เราได้รับปันส่วนจากส่วนกลางน้อยมาก ยกตัวอย่างตัวผมเป็นนายกเทศมนตรี เอาเข้าจริงเวลาทำงานคือแทบไม่มีอำนาจ ขนาดจะจับลิงมาทำหมันยังทำไม่ได้เลย เพราะเป็นอำนาจของกรมป่าไม้ หรือบางทีจะทำถนน จะซ่อมไฟ ก็ต้องติดต่อกรมทางหลวง ต้องทำเรื่องใช้เวลามากขึ้นไปอีก แทนที่จะได้ซ่อมบำรุงเลย

นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องบประมาณที่อย่างไรก็ไม่เพียงพอ ตัวผมเอง ก็ออกเงินช่วยเหลือลูกบ้านไปเยอะมาก แล้วด้วยภาพจำของระบบราชการ ที่นายกเทศมนตรีต้องเป็นที่พึ่งพาให้ประชาชนได้ จะให้ผมปฎิเสธพวกเขาก็กระไรอยู่ หรือบางทีจะทำตลิ่งป้องกันน้ำกัดเซาะ หากต้องรอทำเรื่อง รองบประมาณก็ไม่ทันแล้ว ผมก็ต้องออกค่าใช้จ่ายไปก่อน 

ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางที่มาไม่ถึงส่วนภูมิภาค จะแก้ไขอย่างไรดี 

ผมก็ไม่ได้อยากเป็นคนมีอำนาจล้นฟ้าอะไรแบบนั้น แต่ก็อาจต้องขออำนาจที่จำเป็น ซึ่งอาจเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผู้ปกครองเมืองควรจะมี อย่างเช่นอำนาจการดูแลถนน การซ่อมท่อประปา บางทีก็ควรอยู่ในการตัดสินใจของคนในพื้นที่มากกว่า 

ผมเคยเจอ ตอนที่เสาไฟตรงถนนข้าวหลามเสียมาเป็นปีๆ แต่ผมไม่สามารถของบประมาณมาซ่อมบำรุงได้ ก็ต้องเอาสปอตไลต์มาติดเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว

ดังนั้น การแก้ปัญหาคือให้อำนาจที่จำเป็นกับคนที่มีหน้าที่ต้องดูแลจัดการเมือง 

หนึ่งจุดแข็งที่น่าสนใจของเทศบาลเมืองแสนสุข คือการเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมระดับโลกต่างๆ มากมาย ไอเดียตรงนี้เริ่มต้นมาจากไหน 

เรื่องนี้มันเกิดจากการที่ผมมองเมืองแบบผู้บริหาร ทำงานแบบธุรกิจ คือเราพอเรารู้ว่าเมืองเรามีจุดแข็งแบบนี้ มีดีแบบนี้ ต่อมาคือจะทำอย่างไรให้มีคนอยากมาร่วมงาน ทำอย่างไรให้มีลูกค้ามาสนใจเรา ดังนั้น ผมจึงต้องเอาจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งมาพัฒนาต่อ ทำสาธารณูปโภคที่ดีอยู่แล้ว ให้มันดีขึ้นไปอีก 

จำได้เลยพอตอนที่ทำถนนใหม่ๆ ตัดให้กว้างขึ้น คิดว่าจะมีคนมาที่เมืองบางแสนมากขึ้น ปรากฏว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สำรวจเพื่อนด้วยกันเอง เขาก็ยังไปเที่ยวที่อื่นกันอยู่ ตอนนั้นก็นั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไรทำไมเขาไม่มากัน

จนสุดท้ายผมตกตะกอนได้ว่า เราขาดสินค้า เราขาดโปรดักต์ที่จะดึงคนให้มาที่เมือง จะทำอย่างไรให้บางแสนมันรู้สึกหล่อ รู้สึกสวยในสายตาผู้คน

เรื่องหนึ่งที่ผมคิดได้คือการเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานวิ่ง ไม่ต้องใครที่ไหนไกล สำรวจกับตัวผมเองนี่แหละ ที่ปกติจะชอบวิ่งเลียบหาดบางแสนไปเรื่อยๆ ก็เลยจับสังเกตได้ว่า หาดบางแสนมันก็กว้าง เส้นทางก็ยาว แถมติดทะเลอีกต่างหาก ถ้าเอามาทำเป็นจุดขายงานวิ่งชวนให้คนมาลองวิ่งบรรยากาศแบบนี้ก็น่าจะเข้าท่านะ 

ประจวบกับว่าเราไปเจอคุณรัฐ (รัฐ จิโรจน์วณิชชากร) เขาเป็นออร์แกไนเซอร์จัดอีเวนต์มาก่อน เขาไม่เคยจัดงานวิ่งมาเลย แต่เขามีความฝันอยากจะจัดงานวิ่งที่มีคุณภาพในประเทศไทยอีกงานหนึ่งขึ้นมา ก็เลยเกิดเป็นโปรเจกต์งานวิ่งบางแสนมาราธอน โดยที่ปีแรกเป็นการวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอนก่อน 

แต่กว่าจะจัดให้ครบ 3,000 คนได้นี่หืดขึ้นคอ ผมจึงต้องไปออกทำมาร์เกตติงไปออกรายการของคุณวู้ดดี้ (วุฒิธร มิลินทจินดา) เลย

แต่มันก็คุ้มค่า เพราะสุดท้าย หลังงานวิ่งปีนั้น เราได้รับโหวตว่าเป็นงานวิ่งที่ดีที่สุดในประเทศไทย ตอนนั้นก็ตกใจอยู่นะว่าเป็นไปได้อย่างไร เขาโหวตจากไหน แล้วหลังจากนั้นมันก็พัฒนามาเรื่อยๆ เลย จนถึงหลัก 9,000 คน ในปีต่อมา 

ซึ่งในจำนวนนั้น กว่า 6,000 คนเลยนะ ที่เขาไม่เคยบางมาบางแสน บางคนยังบอกเลยว่า ถ้าไม่ได้วิ่งก็ไม่รู้นะเนี่ยว่าบางแสนเจริญขนาดนี้ 

อันนี้เป็นก็ตัวอย่างของการดึงภาคเอกชน เขามาทำงานด้วย สุดท้ายผมจะบอกว่าสิ่งที่ทำให้บางแสนเติบโตเร็ว เพราะเรารู้ตัวเองว่าไม่ได้เป็นคนเก่งทุกอย่าง นายกตุ้ยไม่ใช่ซูเปอร์แมน ไม่ได้ทำได้ทุกสิ่ง ดังนั้น เราต้องเอามืออาชีพเอา Professional เข้ามาช่วยงาน 

การที่ราชการจะร่วมงานกับเอกชน ต้องติดต่อและเจรจาอย่างไรบ้าง

หลักการเดียวเลยคือแค่อย่าไปถ่วงเขาก็พอแล้ว คือสมัยผมทำงานภาคเอกชน ผมยกมือไหว้เลยว่าหน่วยงานรัฐอย่าเยอะเลย อย่ามาถ่วงกันเลย เวลาเราขอเอกสาร ขอใบอนุญาตต่างๆ เนี่ย คือถ้าทำตัวเป็นภาครัฐ เป็นราชการที่เป็นมิตรกับเอกชน เขาก็จะอยากร่วมงาน อยากช่วยพัฒนาเมืองกับเราอยู่แล้ว 

สิ่งที่ทำได้คือพยายามกำหนดมาตรฐาน ออกแบบระบบให้มันเอื้อกับการดำเนินงาน และกำหนดบทบาทของตัวเองให้ดี อะไรที่สามารถช่วยเหลือ ช่วยสนับสนุนได้ ก็ควรทำภายใต้งบประมาณและระเบียบราชการที่เอื้อ 

อีกอย่างคือต้องมีผลประโยชน์ตกถึงภาคเอกชนด้วย อันนี้ส่วนใหญ่ภาครัฐจะตกม้าตาย อย่าไปขูดรีดกับเขาเลย เขาทำงาน เขาก็ต้องการเงิน ต้องการรายได้ ดังนั้น พยายามบาลานซ์ตรงนี้ให้ดี แล้วเราจะกลายเป็นราชการที่น่ารัก ที่เอกชนอยากร่วมงานด้วย 

ในวันนี้ ถ้าให้ประเมินผลงานการบริหารเทศบาลเมืองแสนสุขของตัวเอง จากคะแนนเต็ม 10 จะให้เท่าไร

ถ้าให้ประเมินจริงจังเลย ผมว่าตัวเองได้สัก 7 ก็พอ ซึ่งผมก็แฮปปี้และโอเคกับมันมากๆ แล้ว 

คือผมก็รู้ Pain Point ของตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยยืดหยุ่น บางเรื่องจะทำก็ทำเลย ถ้ามันดีกับผลประโยชน์ส่วนร่วม จะขวานผ่าซากประมาณหนึ่ง ซึ่งก็จะมีคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ

ยกตัวอย่างตอนให้แม่ค้าหยุดกางร่มที่หาดทุกวันอังคาร ก็ได้แรงกระแทกกลับมาเยอะ เพราะเราไปปิดกั้นการทำอาชีพของเขา แต่ผมก็ยืนยันว่าอย่างไรก็ต้องทำ เพราะมันต้องมีเวลาให้ธรรมชาติฟื้นฟูบ้าง ไหนจะเรื่องการเข้าถึงหาดของคนในเมืองอีก อะไรแบบนี้ผมจะทำทันที และทำเลย ซึ่งก็จะมีปัญหาตามมาอยู่บ้าง แต่ผมก็เข้าใจว่า เราทำตัวให้ถูกใจทุกคนไม่ได้หรอก เพียงแต่ถ้าสิ่งนั้น เราทำแล้วมั่นใจว่าถูกต้อง มันเป็นการดำเนินงานที่ถูกทางก็ควรต้องทำ 

แล้วก็มีอีกหลายเรื่องที่อยากทำ แต่ก็ไปติดเรื่องระบบราชการ เรื่องระเบียบต่างๆ ที่ทำให้เมืองมันยังไม่ได้เป็นดั่งใจเท่าที่ควร อย่างเช่นผมจะขอพื้นที่ตรงหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่เก่าของราชการ มาทำเป็นโรงจอดรถให้คนได้มาจอดตอนมาเที่ยวที่หาดบางแสน ก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ของราชการอีกส่วน จะมาทำโครงสร้างถาวรเขาก็ไม่ยอม ทั้งที่เขาก็ไม่ได้ใช้ทำอะไร สู้เราเอามาทำประโยชน์สาธารณะไม่ดีกว่าเหรอ ผมคิดแบบนั้นนะ 

ในอีกมุมหนึ่ง การเป็นนายกเทศมนตรีสามารถทำงานดูแลบ้านเมืองแบบเทศบาลอื่นๆ ภายใต้อำนาจและลักษณะงาน ไม่ต้องกระตือรือร้นที่จะพัฒนาขนาดนี้ก็ได้ คำถามคือ อะไรที่อยู่ภายใต้ความกระตือรือร้นของคุณ ในการพัฒนาเมืองบางแสนทุกวันนี้ 

อย่างแรกเลยก็คือการสำนึกรักบ้านเกิดและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ อันนี้ไม่ได้พูดให้ตัวเองดูหล่อเลยนะ คือพูดตรงๆ ว่าไม่เคยอยากเป็นนายกเทศบาลเลย ทุกวันนี้ก็ไม่อยากเป็น แต่เวลาเราให้ใครฟังเขาก็จะไม่เชื่อ เขาจะตอบกลับว่าถ้าไม่อยากเป็นจะยอมทำเพื่อเมืองขนาดนี้ ยอมโดนด่าขนาดนี้เหรอ

แต่ผมก็ยืนยันที่จะตอบว่า ไม่ชอบจริงๆ ที่ทำเพราะรักบ้านเกิด รู้สึกว่าคุณพ่อทำมาเยอะ อีกอย่างคือ ถ้าประชาชนเลือกมาแล้ว เราก็ต้องตอบแทนกับความคาดหวังเขาให้ได้ ซึ่งถ้าจะทำให้แย่ลง หรือแค่พอเอาหน้ารอด ทำแค่ดูดส้วม ซ่อมถนน ก็คงไม่ใช่

อีกอย่างคือผมมองงานนี้แบบนักธุรกิจ คือเราก็อยากให้มันเจริญเติบโตก้าวหน้า ช่วยวางรากฐานให้มันอยู่ต่อไปได้ แม้ใครจะมาบริหารต่อหลังจากนี้ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร ที่ผมได้รู้จัก ทั้งจากอาจารย์ นักธุรกิจ ก็ทำให้เราอยากทำงานกับเขา อยากพัฒนาเมืองต่อ 

แต่ทุกวันนี้ก็มีเริ่มอยากวางมือ เริ่มหมดไฟเหมือนกัน เพราะยุคหลังๆ เราได้รับแรงปะทะเยอะ ทั้งจากโซเชียลมีเดีย ทั้งคนในพื้นที่ มันเหมือนโดนมีดแทงทุกวัน ทุกวันนี้ตื่นมาเจอแต่เรื่องคนร้องเรียน เจอปัญหา เจอดราม่าสารพัด จนมันกัดกินผมพอสมควร แต่ก็ยังสู้อยู่นะ จนถึงตอนนี้ เพราะประชาชนเขาเลือกเรามาแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่ในวาระของเรา

หลังจากนี้ อยากเห็นเทศบาลเมืองแสนสุขพัฒนาต่อไปอย่างไร

ก็อยากให้รากฐานที่ผมวางไว้เจริญงอกงามต่อ พูดง่ายๆ คืออยากทำเหมือนสิ่งที่กำนันเป๊าะทำไว้นั่นแหละ คือไม่ว่าอีกกี่ปีข้างหน้า ที่ยุคสมัยของผมหมดไปแล้ว ใครที่เข้ามารับตำแหน่งต่อก็บริหารเมืองให้ดีขึ้นต่อไปได้ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นสาระสำคัญที่ผมอยากให้มันพัฒนาต่อหลังจากนี้ เพราะมันจะเป็นจุดที่ทำให้เมืองของเราเป็นมิตร น่าอยู่ ดึงดูดคนเข้ามาในพื้นที่ได้มากขึ้น 

แต่เอาเข้าจริงผมก็ทำเอาไว้เกือบหมดแล้วละ ขอเพียงแค่ถ้ามันซีด มันจืดจาง ก็แต่งแต้ม ทาปากให้มันหน่อยก็แล้วกัน อย่าปล่อยให้มันโทรม อะไรถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงก็ต้องปรับปรุง หรือพัฒนาให้มันทันยุคทันสมัย อย่าคิดว่าดีอยู่แล้วจะดีตลอดไป 

Tags: EEC, บางแสน, Cityscape, The Chair, FromHereToEternity, ณรงค์ชัยคุณปลื้ม, เทศบาลเมืองแสนสุข

เรื่องล่าสุด