Site icon บางแสน

“นักวิจัย” ม.นเรศวร พิษณุโลก ค้นพบของดี จากรำข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่า

logoline

เกาะติดข่าวสาร>> คมชัดลึก ออนไลน์

ค้นพบกรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรด อาหารจากรำข้าวหรือถั่วเหลือง โดยใช้ผลิตผลพลอยได้ที่เรียกว่า “กัม” ที่มีปริมาณมากจากอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลัก

เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.65) ที่ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตรคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ กฤตสุนันท์กุล และนายชินกฤต ศรีนวล คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้แถลงข่าว ค้นพบกรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรด อาหารจากรำข้าวหรือถั่วเหลือง โดยใช้ผลิตผลพลอยได้ที่เรียกว่า “กัม” ที่มีปริมาณมากจากอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลัก

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันรำข้าว หรือ น้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งเดิมทีจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ในราคาต่ำ จนได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยอนุสิทธิบัตรเรื่อง กรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรดอาหารจากรําข้าวหรือถั่วเหลือง
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เลซิติน (lecithin) คือ สารประกอบของไขมัน และฟอสฟอรัส หรือเรียกว่า ฟอสโฟลิปิด เลซิตินมีลักษณะทั้งที่เป็นของเหลว ข้น เหนียว และเป็นของแข็ง สามารถพบได้ตามธรรมชาติ ทั้งในพืชและสัตว์ ซึ่งจะพบมากในไข่แดง (9%) ถั่วเหลือง (4%) รำข้าว (2%) เมล็ดเรพสีด (2%) เมล็ดฝ้าย (1.5%) 
เมล็ดทานตะวัน (1%)

อย่างไรก็ตาม ร่างกายมนุษย์สามารถผลิตเลซิตินขึ้นได้เองจากตับ โดยมีสารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ผลิตเลซิติน เช่น กรดไขมันจําเป็น วิตามินบี และสารอาหารสําคัญอื่น ๆ หากร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายสร้างเลซิตินได้ไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ เลซิตินยังเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ทุกชนิดและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในสมองมีเลซิตินเป็นส่วนประกอบมากถึง 30% ซึ่งเลซิตินจําเป็นต่อการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ภายในเซลล์ ให้ดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้เลซิติน ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ อีกทั้งเป็นสารประกอบโคลีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้น สร้างสารสื่อประสาท ดูแลระบบการทำงานของสมองและประสาท ขณะที่ในด้านของอุตสาหกรรม ยังเป็น อิมัลซิไฟเออร์ ที่ทำให้น้ำและน้ำมัน สามารถรวมตัวกันได้ โดยไม่แยกชั้น และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง เป็นต้น

กรรมวิธีการผลิตเลซิตินเกรดอาหารจากรําข้าวหรือถั่วเหลือง มีขั้นตอนการผลิต ดังนี้ นํากัมที่ได้
จากอุตสาหกรรมน้ำมันรําข้าวหรือน้ำมันถั่วเหลือง มาแยกสิ่งปลอมปนออก ด้วยตัวทําละลายเฮกเซน โดยใช้วิธีการปั่นเหวี่ยง จากนั้นนํากัมที่ได้มากําจัดน้ำมันออกด้วยตัวทําละลาย อะซิโตน

โดยใช้วิธีการตกตะกอน จะได้กัมที่มีปริมาณน้ำมันน้อย นํากัมที่ผ่านกระบวนการกําจัดน้ำมันมาทําให้บริสุทธิ์ด้วย ตัวทําละลายเอทานอล โดยให้ความร้อนเพื่อให้กัมละลาย เขย่าให้เข้ากัน และนําไปปั่นเหวี่ยง จากนั้น แยกเอาเฉพาะส่วน ที่ละลายในเอทานอลไประเหยเอทานอลออก จะได้เลซิตินบริสุทธิ์  

ซึ่งในปัจจุบัน เลซิตินเกรดอาหารมี จําหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคา 600 – 4,000 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ และแหล่งที่มา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีมูลค่าเพิ่มสูงมากถึง 30 – 200 เท่าของราคากัม (20 บาทต่อกิโลกรัม) ปัจจุบัน ยังไม่มีเลซิตินจากข้าวที่จําหน่ายเชิงพาณิชย์ 

ดังนั้น จึงเป็น อิมัลซิไฟเออร์ชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถพัฒนากรรมวิธีการผลิตให้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ จนได้รับการจดอนุสิทธิบัตรโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” พร้อมส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและทรัพย์สินทาง ปัญญาแก่ผู้ประกอบการและประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติ

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทรศัพท์ 0 5596 2379

กรรณิการ์ สิงหะ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.พิษณุโลก

Exit mobile version